ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ของที่ระลึกงานศพ” กลายเป็นธรรมเนียมหนึ่งในงานศพของไทย ตั้งแต่บุคคลทั่วไปจนถึงเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งโดยทั่วไปการแจกของที่ระลึกงานศพจะทำกันในวันที่มี “พิธีฌาปนกิจ” หรือในกรณีที่ทำไม่ทันจริงๆ เจ้าภาพอาจแจกบัตรรับของที่ระลึกให้แขกมารับในภายหลัง หรือจัดส่งให้ก็มี
แต่มี “งานศพ” หนึ่งที่หลังการฌาปนกิจแล้ว 14 ปี ของที่ระลึกงานศพ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ว่า ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายหลายพระองค์ทรงหารือและทรงตกลงว่า “จะให้เปนกรอบเงิน, ที่มุม 1 มีที่บรรจุเงินเหรียญบาทพระบรมรูปพระเจ้าหลวง”
การดังกล่าวนี้ทรงมอบให้เจ้านายผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำของที่ระลึก และให้โรงกระสาปน์ (สะกดตามแบบเดิม) กระทรวงพระคลัง รับผิดชอบจัดทำเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องว่าจ้างเอกชน แต่เนื่องจากมีเวลาในการดำเนินการน้อย ทั้งยังขาดเครื่องมือที่จะจัดทำของที่ระลึกงานพระบรมศพได้ทันตามหมายกำหนดการ
หลังการหารือของเจ้านาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ข้อสรุปว่า ให้แจกแต่เงินเหรียญบาทโดยมีใบสำคัญแนบไปด้วยกันว่า “พร้อมด้วยเหรียญบาทนั้นมีใบสำคัญว่า, เมื่อกระทรวงการคลังได้จัดการกรอบนั้นขึ้นแล้ว, และเมื่อได้โฆษณาให้ทราบแล้ว, ผู้ใดนำเหรียญบาทกับใบสำคัญนั้นไปยังเจ้าพนักงานก็จะได้รับกรอบที่ระลึกไป…”
หากการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า “…ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ (พ.ศ. 2467) เปนเวลา 14 ปี, ของที่กระทรวงพระคลังว่าจะทำนั้นก็ไม่ได้ทำขึ้น, จนคนทั้งหลายลืมกันเสียแล้วว่า มีของที่ระลึกสำหรับงานพระบรมศพ…”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2545.
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2567