“สิมอีสาน” ในยุคอีสานพัฒนาและความเสมอภาค พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน (ตอนจบ)

สิมอีสาน กับการให้ความหมายใหม่ กับเสรีภาพการแสดงออกผ่านการตีความใหม่ภายใต้ปรัชญาธรรม ณ วัดป่าเนรัญชราวนาราม อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ สร้างใน พ.ศ. ๒๕๔๐-๔๒ โดยการนำสร้างของหลวงพ่อหมอ (พระครูวีรญาณโสภณ เจ้าอาวาส) ตามที่ท่านได้นิมิต โดยต้องการให้เรือแห่งนี้มีการใช้งานหลายอย่างโดยเป็นทั้งโบสถ์ วิหาร เจดีย์ และศาลาการเปรียญในอาคารหลังเดียวกัน ซึ่งท่านออกแบบให้เป็นเสมือนเรือพิฆาตสังสารวัฏ

สำรวจ “สิมอีสาน” ในยุคอีสานพัฒนาและความเสมอภาค พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน (ตอนจบ)

ใน พ.ศ. 2534 ถือเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเมืองการปกครองที่เน้นการกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น นักการเมืองท้องถิ่นสร้างอิทธิพลมากขึ้นโดยเชื่อมโยงกับการเมืองในระดับชาติ มีการแสดงออกทางความคิดทางการเมืองที่เข้มข้นเสรีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ชนชั้นล่างชาวนาชาวไร่ที่เป็นชนชั้นแรงงาน มีความรู้เท่าทันทางการเมืองผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความรุ่งเรืองของสื่อวิทยุท้องถิ่น ทำให้คนอีสานก้าวข้ามความเป็นสังคมชนบทสู่สังคมเมือง โดยมีแรงขับเคลื่อนผ่านผู้แทนพรรคการเมือง สร้างสิทธิความชอบธรรมเสมอภาคจากชนชั้นกลางในเมือง แรงปรารถนาแห่งความอยากมี อยากเป็น ทำให้วิถีสังคมอีสานเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีสังคมเกษตรแบบพอเพียงในโลกอุดมคติได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

Advertisement
สิม วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สร้างราว พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยตกแต่งต่อเติมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยอิงต้นแบบจากวัดเชียงทอง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว มาสร้างจุดขายสำคัญด้วย ฮูปแต้มนูนต่ำ เป็นต้นกัลปพฤกษ์ เรืองแสง

โลกทรรศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้งานช่างในยุคนี้ถือเป็นห้วงเวลาที่การสร้างสรรค์ศิลปะศาสนาคารอีสานมีความหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยกลุ่มช่างอาชีพได้พยายามพัฒนารูปแบบงานในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยการศึกษาจากภาพถ่ายหนังสือตำรา หรือบ้างก็เดินทางไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สิมอีสานร่วมสมัย ทำเป็นรูปทรงยานพาหนะสำคัญทางบก วัวเทียมเกวียน ณ วัดพระธาตุเรืองรอง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

ตามแหล่งศิลปะสถาปัตยกรรมวัดต่างๆ ที่มีความประทับใจ ตามเงื่อนไขตัวแปรสำคัญ คือรสนิยมของทั้งตัวนายช่าง สมภาร คณะกรรมการวัด และเจ้าศรัทธา และในกลุ่มช่างพื้นบ้านก็มีช่างพระโดยเฉพาะสมภารเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเป็นต้นคิดในการออกแบบสร้างสรรค์ตามจินตนาการใหม่ ทั้งในรูปแบบที่ต้องการแสดงถึงการตีความสัจธรรมคำสอนผ่านการสร้างสรรค์ หรือจะเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในแง่การใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น แนวคิดการออกแบบสร้างวัดล้านขวด เมืองศรีสะเกษ หรือคติการสร้างสิมในรูปลักษณะของเรือสำเภา หรือเรือสุพรรณหงส์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ หรือบ้างก็จะสร้างสิม วิหาร หอแจก รวมอยู่ในหลังเดียวกัน เป็นที่นิยมมากในวัดที่สร้างในยุคหลังๆ โดยเฉพาะวัดป่าที่เริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

สิมสกุลช่างญวนเมืองนครพนม โดดเด่นด้วยการทำรูปลวดลายนูนต่ำถือเป็นเอกลักษณ์สิมของเมืองนครพนมรูปแบบหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงช่างไปกับบริบทพื้นที่สังคมวัฒนธรรมใหม่ ที่ว่าด้วยความเสมอภาคและโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในเชิงช่าง ที่สัมพันธ์ไปกับคุณลักษณะเฉพาะแบบวิถีวัฒนธรรมแบบสังคมชาวบ้าน ที่เปลี่ยนผ่านความเรียบง่ายในโลกอุดมคติแห่งความพอเพียง ด้วยวิถีชาวบ้าน ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่เป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเปิดกว้างและให้อิสระเสรีในการแสดงออก ไม่มีกรอบกฎเกณฑ์ผูกขาด

อันเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ช่างไม่ว่าจะเป็นสายสกุลช่างพื้นบ้านพื้นเมืองหรือช่างต่างถิ่นอย่างสายสกุลช่างญวนและกลุ่มช่างในระบบราชการ ที่สามารถจะออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมประเภทศาสนาคาร อย่างมีความหลากหลาย ทั้งแบบอนุรักษนิยม และแบบร่วมสมัยไร้ตัวตน ในรสนิยมใหม่แห่งวิถีสังคมชาวนา และสังคมเมืองพื้นถิ่น ซึ่งต่างก็ต้องการการยอมรับในความมีและความเป็นมาตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบันสมัยภายใต้รูปลักษณ์แห่งสังขารใหม่ในเงื่อนไขตามบริบทใหม่ที่แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง

เพื่อความต่อเนื่องของเนื้อหา สามารถติดตามอ่านสิมอีสานในยุคสมัยต่างๆ ก่อนหน้านี้ได้ตามลิ้ง

“สิมอีสาน” ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

“สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วงพ.ศ. 2475-2500

“สิมอีสาน” ในยุคสงครามเย็น พ.ศ. 2500-2534


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 13 ธันวาคม พ.ศ.2560