เจ้านายพระองค์ไหนชอบดื่มสุรา ถึงขั้นรัชกาลที่ 4 ทรงออกพระโอษฐ์ว่า “มักทรงเมาอยู่โดยมาก”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจอมเกล้า รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การบริโภคสุรา เป็นเรื่องที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงชาวบ้านร้านตลาด แต่ยังรวมถึงเจ้านายและเหล่าชนชั้นสูง ซึ่งในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจไม่มีเจ้านายพระองค์ใดขึ้นชื่อเท่ากับ กรมหมื่นถาวรวรยศและกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ที่ทรงดื่มหนักจนครองสติสัมปชัญญะไม่ค่อยอยู่ ทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงออกพระโอษฐ์ว่า “มักทรงเมาอยู่โดยมาก”

กรมหมื่นถาวรวรยศและกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เจ้านายผู้ชื่นชอบการดื่มสุรา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นถาวรวรยศ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงนิยมบริโภคสุราอย่างยิ่ง

Advertisement

ความข้อนี้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบดี จึงทรงออกประกาศหัวข้อ “ประกาศห้ามมิให้เฝ้ากรมหมื่นถาวรวรยศ แลกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชาที่วัง นอกจากผู้เปนกรมขึ้น” มีเนื้อความดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียนบทความ)

“ประกาศให้ส่งต่อๆ ไป ในข้าราชการในพระบรมมหาราชวังทุกหมู่ทุกกรม ว่ากรมหมื่นถาวรวรยศ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เมื่อเสด็จอยู่วังมักทรงเมาอยู่โดยมาก

เพราะฉนั้นเว้นเสียแต่คนในกรมฝีพาย แลเกณฑ์ขาดกวาดสนาม ซึ่งเปนกรมขึ้นกรมหมื่นถาวรวรยศได้ทรงบังคับบัญชาอยู่ แลกรมแสงปืน แลช่างในกรมแสง ซึ่งกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ได้ทรงบังคับบัญชาอยู่นั้นแล้ว ห้ามอย่าให้คนอื่นนอกนี้ไปเฝ้าที่วังด้วยธุระใดๆ ก็ดี

ถึงจะมีผู้มาบอกว่ารับสั่งให้หาก็อย่าให้ไป ให้คอยเฝ้าเอาเมื่อเสด็จเข้ามาในพระราชวังนี้เถิด อย่าให้ไปเฝ้าที่วังเลย เพราะไปพบเสด็จกำลังเมาอยู่เกลือกจะทรงกริ้วด้วยเหตุอันมิได้ควร แลจะทรงเตะถีบชกถองทำการเกินๆ

ถ้าแต่เหตุนั้นเกิดวิวาทกับข้าในกรม แลผู้ใดๆ ทั้งวังนั้นขึ้นด้วย ก็จะหาพยานยาก ผู้ตัดสินก็จะตัดสินยาก เพราะได้ประกาศไว้แต่ก่อนแล้ว ว่าอย่าให้ผู้ใดเข้าไปวิวาทกับเจ้าของบ้าน ถ้าใครเข้าไปวิวาทจะเอาเปนแพ้เจ้าของบ้านดังนี้ ก็วังเจ้าต่างกรมสองวังนี้พระองค์เจ้าเจ้าวังมีปรกติมักทรงเมาอยู่ไว้ใจยาก มักจะก่อความขึ้นง่ายๆ

เพราะฉนั้นให้ข้าราชการตำแหน่งอื่น นอกจากกรมที่บังคับไว้นั้น เว้นเสียอย่าเข้าไปเลย ถึงมีเหตุที่ควรจะเฝ้าก็ให้คอยเฝ้าในพระราชวังนี้เถิด แลกรมที่ออกชื่อมาก่อน ว่าเปนกรมขึ้นอยู่ในบังคับพระองค์เจ้าสองกรมนั้น เมื่อมีเหตุในราชการควรไปเฝ้า ฤๅมีรับสั่งให้หาไปด้วยราชการก็ต้องไปเฝ้า ถึงกระนั้นก็ให้ระวัง เมื่อเวลาเจ้าทรงเมาอยู่อย่าเข้าไปเฝ้าเลยอย่าถุ้มเถียงให้ขัดเคืองขึ้นได้

อนึ่งถ้ามีการด่วนฤๅการที่ควรข้าราชการจะไปที่วังทั้งสองนั้น คือมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้ไปเชิญเสด็จก็ดี ทูลถามการงานใดๆ ก็ดี เชิญพระอาการก็ดี เมื่อไปถึงพบเสด็จ ฤๅมิพบเสด็จ ฤๅไปพบเมาอยู่อย่างไร เมื่อไม่ได้ราชการตามพระประสงค์ให้กลับมากราบทูลพระกรุณาในทันทีอย่ารอไว้ช้า เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว ก็ให้จดหมายส่งเข้ามาข้างในตามเหตุนั้น ในการที่มีพระบรมราชโองการรับสั่งใช้ไปถึงมีวิวาทบาดคล้องขึ้น จะเอาตามประกาศไว้ก่อนไม่ได้ ชื่อว่าข้าในกรมข่มเหงผู้ถือรับสั่ง

อนึ่งใครๆ ก็ดี เมื่อเจ้าบ้านเจ้าวังไปเชิญไปหาตัวคนบ้านอื่น มาในวังในบ้านของตัวแล้ว ผู้ที่ต้องเชิญให้หามาเองก็ดี แต่มาพูดจาขัดคอกับเจ้าของวังเจ้าของบ้าน ชกตีกับเจ้าของวังเจ้าของบ้านขึ้น จะตัดสินเอาเปนบุกรุกไม่ได้ เพราะเจ้าของวังเจ้าของบ้านไปหามาเองยอมให้เข้าไปเอง ต่อผู้ที่มานั้นคุมสมัคพรรคพวกก็ดีแต่ตัวก็ดี บุกรุกเข้าไปเอง ไม่มีความยอมแต่เจ้าของวังเจ้าของบ้านก่อน จึงควรว่าบุกรุกได้”

ประกาศฉบับนี้ของรัชกาลที่ 4 ทำให้เห็นว่า หากเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ทรงเมาหนัก ก็อาจจะทรง “เตะถีบชกถองทำการเกินๆ” ก็เป็นได้

พระองค์จึงทรงออกประกาศ เพื่อป้องกันเหตุไม่บังควรที่อาจเกิดกับกรมหมื่นถาวรวรยศและกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ในภาวะที่ทั้งสองพระองค์ควบคุมพระสติได้ยาก ทั้งยังเป็นการป้องกันเหตุวิวาทที่อาจเกิดขึ้นกับคู่กรณีด้วยอีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. “เลี้ยงโต๊ะปีใหม่: เรื่องเหล้าของเจ้านาย”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554.

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 4. “ประกาศห้ามมิให้เฝ้ากรมหมื่นถาวรวรยศ แลกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชาที่วัง นอกจากผู้เปนกรมขึ้น”. ในเว็บไซต์วัชรญาณ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567