“สิมอีสาน” ในยุคสงครามเย็น พ.ศ. 2500-2534

สิมไม้เก่า วัดโพธิ์บัลลังก์ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ถือเป็นสิมไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในอีสาน โดยทำหน้าที่เป็นหอแจกด้วย สร้างราว พ.ศ. ๒๕๐๐

ยุคสงครามเย็น ช่วงนี้แม้การเมืองในกระแสหลักจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ในแง่การดำเนินนโยบายทางวัฒนธรรม ยังคงสืบต่ออุดมการณ์ชาตินิยม ที่รัฐบาลยุคสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำไว้ แต่ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นคือการพัฒนาบ้านเมืองในยุคที่เรียกได้ว่าเป็นยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทางดี ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองทั้งจากภายในและภายนอก ในการช่วงชิงมวลชนของสองค่ายลัทธิการเมืองของค่ายเสรีนิยมที่มีอเมริกาเป็นผู้นำกับค่ายสังคมนิยมที่มีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ ด้านสังคมมีความหลากหลายในระบบความเชื่อด้านการศาสนาต่างๆ มีการขยายวัดสาขาวัดป่าเป็นจำนวนมาก งานช่างศาสนาคารสมัยนั้นมักแสดงออกและผลิตซ้ำถึงความเป็นไทย มากกว่าการสร้างสรรค์ในลักษณะลาว

สิมอีสานในวัฒนธรรมเขมรที่มีการซ่อมสร้างราว พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยจะมีขนาดพื้นที่การใช้งานมากกว่าสิมในวัฒนธรรมลาว

โดยกลุ่มช่างอาชีพท้องถิ่นกลุ่มเก่าไม่ว่าจะเป็นสำนักช่างคำหมา แสงงาม สำนักช่างหล้า จันทรวิจิตร ช่างนา เวียงสมศรี หรือกลุ่มช่างอุทัยทอง จันทร์ทร ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นช่วงเริ่มต้นของกลุ่มลูกศิลป์หรือลูกๆ ของเจ้าสำนักต่างๆ โดยยังเป็นการสืบต่อรูปแบบจากยุคที่แล้ว โดยที่โดดเด่นมากในแถบอีสานใต้น่าจะเป็นกลุ่มสายช่างนา ที่ส่งต่อให้ลูกชายคือ ช่างเรียน เวียงสมศรี ที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับตัวเองด้วยการคิดค้นปรับประยุกต์ลวดลายเขมรมาใช้ในการสร้างสรรค์ศาสนาคารต่างๆ โดยสร้างแนวคิดที่อ้างอิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นเขมร เป็นต้น

สิมร่วมสมัยที่ใช้วัสดุตกแต่งจากวัสดุเหลือใช้ อย่างขวดแก้ว ณ วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว ในอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ หรือรู้จักกันในชื่อ วัดล้านขวด สร้างใน พ.ศ. ๒๕๒๗

ช่วง พ.ศ. 2510-25 ช่วงเวลานี้ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ถือเป็นห้วงที่กระแสการอนุรักษ์และพัฒนาสู่รูปแบบร่วมสมัย การสร้างสรรค์ในอีสานยุคนี้ก็มีการออกแบบในลักษณะพื้นถิ่นในนิยามใหม่ โดยที่ผู้มีบทบาทสำคัญไม่ใช่กลุ่มนายช่างอาชีพอย่างแต่ก่อน หากแต่เป็นกลุ่มปัญญาชนที่เป็นผลผลิตของการศึกษาในระบบวิชาชีพที่เรียกว่าสถาปนิกที่เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น จากเดิมที่เคยผูกขาดอยู่กับกลุ่มช่างอาชีพของท้องถิ่น โดยช่างกลุ่มใหม่นี้มีเอกลักษณ์รวมกันคือการอ้างอิงแนวคิดที่ตีความสถาปัตยกรรมศาสนาในมิติเชิงปรัชญา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในวิถีสังคมจารีตในวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน

ดังตัวอย่างผลงานการออกแบบสำคัญที่เคยนำเสนอไปแล้วอย่างโบสถ์วัดศาลาลอยที่โคราช ผลงานของ วิโรฒ ศรีสุโร ซึ่งสร้างราว พ.ศ. 2510 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2516 โดยท่านถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะอาจารย์ผู้บุกเบิกอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมอีสานในอดีต มาตีความรับใช้สังคมใหม่ ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ต่อการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยต่อมาในอีสาน ดังนั้น ศาสนาคารที่สร้างสรรค์ในยุค พ.ศ. 2516-25 จัดเป็นช่วงอรุณรุ่งของศิลปะศาสนาคารอีสานร่วมสมัยยุคแรกโดยมีกลุ่มสถาปนิกในระบบเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์

สิมร่วมสมัยที่ผสมผสานเชิงช่างแบบวัฒนธรรมจารีตในหลายรูปลักษณ์ ณ วัดเขาพระอังคาร ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

เพื่อความต่อเนื่องสามารถอ่านเพิ่มเติม “สิมอีสาน” ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และ “สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ได้ตามลิงค์นี้

“สิมอีสาน” ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 

“สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วงพ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ 12 ธันวาคม พ.ศ.2560