“สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” โดย นนทพร อยู่มั่งมี

นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียน หนังสือ สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย
“นนทพร อยู่มั่งมี” ผู้เขียนหนังสือ “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” (ออกแบบภาพ: ปรินดา จังแหยม)

สำนักพิมพ์มติชนชวนนักอ่านทุกท่านสืบสาวธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ผ่านการพูดคุยกับ “นนทพร อยู่มั่งมี” ผู้เขียนหนังสือ “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย”

⌛ อยากให้อาจารย์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการศึกษาเกี่ยวกับธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย

อันดับแรกขอกล่าวถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นของรัฐและอาณาจักรในดินแดนไทย ตั้งแต่การดำรงชีวิตร่อนเร่ก่อนประวัติศาสตร์ ไปสู่สังคมที่มีพัฒนาการสร้างที่อยู่อาศัย ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง พร้อมทั้งการพัฒนาระบบชลประทานตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ นำไปสู่การเลือกหัวหน้าชนเผ่า หัวหน้าหมู่บ้านเพื่อควบคุมการผลิต การจัดการและกระจายทรัพยากร

แต่เมื่อดินแดนไทยของเราได้รับวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบการปกครองแบบกษัตริย์จากชมพูทวีปมาปรับใช้ เพื่อสร้างสถาบันการปกครองให้มั่นคง จึงเกิดการสืบทอดอำนาจของผู้นำจากรุ่นสู่รุ่นในฐานะกษัตริย์ รวมถึงการตั้งตำแหน่งองค์รัชทายาทหรือผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่มีความชัดเจน

เริ่มต้นจาการสืบสันตติวงศ์ผ่านทางสายโลหิต เช่น พ่อสู่ลูก พี่ชายสู่น้องชาย แต่กลับพบปัญหาความขัดแย้งอยู่เสมอ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการสืบราชสันตติวงศ์ให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย โดยหนังสือเล่มนี้กล่าวตั้งแต่ตำแหน่งมหาอุปราช ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จนถึงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร

⌛ ตำแหน่งองค์รัชทายาทมีความสำคัญต่อระบอบการปกครองราชาธิปไตยอย่างไร และในประวัติศาสตร์ไทยตำแหน่งองค์รัชทายาทเปลี่ยนไปในรูปแบบใดบ้าง

✍️ จากที่กล่าวมาข้างต้น การสืบราชสันตติวงศ์มีนัยหนึ่งเพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงสิทธิธรรมในการปกครองดินแดน เพราะฉะนั้นการอ้างสิทธิธรรมให้วงศ์ตระกูลของตนเองยาวนานที่สุดจำเป็นต้องมีการสืบราชสันตติวงศ์ โดยยุคแรกการสืบราชสันตติวงศ์ส่วนใหญ่เป็นการสืบจากพ่อสู่ลูก ตามคติที่ว่า “อะไรจะมาเข้มข้นเท่าสายโลหิตไม่มีแล้ว”

แต่การสืบทางสายโลหิต อาจจะไม่แสดงถึงความมั่นคงอย่างถาวร เนื่องจากพระมหากษัตริย์บางพระองค์มีพระชายามากกว่า 1 พระองค์ และมีลูกมากกว่า 1 สาย ส่งผลให้การเลือกสิทธิธรรม และการลำดับมีความความซับซ้อน

✍️ เมื่อครั้นสมัยต้นอยุธยาประมาณศตวรรษที่ 19 – 20 มีการจัดลำดับและเรียกตำแหน่งองค์รัชทายาทว่า “หน่อพุทธางกูร” ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีการได้รับเครื่องยศ และบทบาทการปกครองในหัวเมืองสำคัญเช่น พิษณุโลก กำแพงเพชร สิงห์บุรี ลพบุรี เป็นต้น แต่ตำแหน่งดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่เครือญาติประหัตประหาร แย่งชิงบัลลังก์กัน โดยเฉพาะในราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์อู่ทอง

จากเหตุการณ์ข้างต้นทำให้เห็นว่าตำแหน่ง “หน่อพุทธางกูร” บางครั้งอาจไม่ได้แสดงถึงความมั่นคง และเมื่อช่วงปลายสมัยอยุธยาจึงมีการสถาปนาตำแหน่ง “วังหน้า” ขึ้นมาแทนตำแหน่งดังกล่าว

✍️ สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมีการสถาปนาตำแหน่ง “วังหน้า”
ผ่านการสร้างพระราชวังให้แก่พระโอรสของพระองค์มาประทับในราชธานี และเมื่อถึงสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถได้เรียกตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการว่า “พระราชวังบวรสถานมงคล” และสมัยสมเด็จพระเพทราชามีการอนุญาตให้วังหน้าสามารถมีกรม กองเป็นของตน และไพร่พลในการดูแล ซึ่งเรียกตำแหน่งดังกล่าวว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” มีผลสืบเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

✍️ การเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งขององค์รัชทายาทเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวงที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์วังหน้า” ส่งผลให้พระองค์ทรงกลับไปใช้ธรรมเนียมดั้งเดิมของการสืบสันตติวงศ์ผ่านสายโลหิตที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างตำแหน่ง Crown Prince ซึ่งเรียกตำแหน่งดังกล่าวว่า “สยามมกุฎราชกุมาร”

⌛ ความหมายคำว่า “วังหน้า” ซึ่งถือเป็นตำแหน่งองค์รัชทายาทตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาจวบจนต้นรัตนโกสินทร์ มีการเปลี่ยนแปลงคำเรียกมากน้อยเพียงใด

✍️ การสถาปนาตำแหน่ง “วังหน้า” เกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สร้างขึ้นเพื่อให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาประทับที่วังใหม่แห่งนี้เป็นครั้งคราว

ต่อมาวังแห่งนี้มีการเรียกนามว่า “วังจันทรเกษม” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งรวบรวมคนจากหัวเมืองเหนือมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาช่วงของการทำศึกกับหงสาวดี คนเหล่านี้อาจเป็นผู้เรียกวังแห่งนี้ว่า “วังจันทน์” ตามนามเดิมของวังที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ณ เมืองพิษณุโลก และมีการเรียกชื่ออย่างสามัญว่า “วังหน้า” ซึ่งเป็นการเรียกตามทิศทางของที่ตั้ง เนื่องจากอยู่ทิศด้านหน้าของพระราชวังหลวง

และในสมัยเดียวกันมีการสถาปนา “วังหลัง” ตั้งอยู่บริเวณสวนหลวงด้านหลังพระราชวังหลวง โดยวังเหล่านี้ต่างมีหน้าที่ป้องกันพระนครยามศึกสงคราม วังหลวงรักษาพระนครด้านเหนือ วังหน้ารักษาพระนครด้านตะวันออก และวังหลังรักษาพระนครด้านตะวันตก การจัดตำแหน่งวังเช่นนี้ยังสอดคล้องกับลักษณะการจัดทัพ ชื่อดังกล่าวนอกจากเป็นการเรียกตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังแล้ว ยังเป็นการเรียกตำแหน่งเจ้านายที่เป็นองค์รัชทายาท ภายหลังมีการใช้วังจันทรเกษมเป็นที่ประทับขององค์รัชทายาทสืบมาจนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยา

ในเวลาต่อมาสมัยสมเด็จพระเพทราชาได้มีการเรียกว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” แสดงว่าเจ้านายสามารถตั้งกองกรม ควบคุมดูแลไพร่พลของตนเอง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บัญชา เพื่อวางแผนการจัดทัพศึกต่างๆ โดยจากการศึกษาพบว่า “วังหน้า” มีศักดินามากถึงหนึ่งแสนไร่ มีสิทธิน้อยกว่าพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวดำเนินต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

⌛ บทบาทของตำแหน่งองค์รัชทายาท มีรูปแบบปฏิบัติและมีความสำคัญต่อด้านศิลปกรรมด้านใดบ้าง

ในอดีตตำแหน่ง “วังหน้า” มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการข้าศึก การวางแผนศึกสงคราม ซึ่งเหตุการณ์การปราบกบฏเวียงจันทน์ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของวังหน้า แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ตำแหน่งวังหน้าปฏิบัติคือ การทำนุบำรุงวัฒนธรรม เราจะเห็นถึงการบูรณะศิลปะวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยเฉพาะสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น หุ่นละครวังหน้า หุ่นงิ้ว การละครวังหน้าที่ถือเป็นศิลปกรรมที่โดดเด่น

ส่วนตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” การปฏิบัติส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ว่าทรงมุ่งเน้นด้านใดอยู่ โดยตำแหน่งนี้ถือเป็นผู้ช่วยและตัวแทนในการปฏิบัติราชการแทน เช่น สมัยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารมีลงไปดูแลหัวเมืองภาคใต้ การตรวจราชการ รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับธรรมเนียมการปกครอง

และอีกนัยหนึ่งเป็นการสร้างความยอมรับของขุนนางท้องถิ่น รวมถึงการเสริมพระราชอำนาจ ถือเป็นเรื่องสำคัญของผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ ภายหลังพระมหากษัตริย์สวรรคต

⌛ ในปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีสถาปัตยกรรมหรือศิลปกรรมวังหน้าใดบ้างที่น่าสนใจ อยากให้อาจารย์แนะนำให้แก่ผู้สนใจ

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครมีพระที่นั่ง 2 องค์ที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน โดยพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ นับเป็นหัวใจสำคัญของศิลปกรรมไทยโบราณ สร้างขึ้นเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แสดงถึงฐานานุศักดิ์บางอย่าง ปรากฏผ่านหลังคาของวังที่มีการสร้าง 2 – 3 ชั้นซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา และมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยบ้างในรัชกาลที่ 3 – 4

นอกจากนี้เครื่องประดับที่แสดงถึงตำแหน่งวังหน้าคือ “คันทวย” ทำหน้าที่ค้ำยันชายคา ระเบียง หรือหลังคา มักสร้างเป็นลักษณะนาคพันเกลียว

อีกหนึ่งความน่าสนใจภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่สืบเนื่องจากสมัยอยุธยาคือ นิยมเขียนภาพเทพชุมนุมเหนือกรอบประตูหน้าต่าง และผนังส่วนล่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ อีกทั้งเป็นที่ประทับของพระพุทธสิหิงค์ ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทอัญเชิญและประดิษฐานในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ธำรงรัฐกษัตรา ชลารักษ์บพิตร สถิตสายขัตติยราช
หนังสือชุด “กษัตราธิราช” (สำนักพิมพ์มติชน)

⌛ ส่งมอบชุดความรู้ “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” สู่สายตาและมือของผู้อ่านทุกท่าน

หนังสือเล่มนี้เกิดจากการวบรวมและเรียบเรียง รวมถึงการค้นคว้าเกี่ยวกับ “ธรรมเนียมและจารีตของการสืบราชสมบัติ” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยนัยหนึ่งคือ ความต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบัน เพราะฉะนั้นการมีธรรมเนียมการสืบราชสมบัติที่แน่นอนเสมือนการมีความมั่นคง

โดยเนื้อหาภายในเล่มจะเป็นการลำดับถึงไทม์ไลน์ (Timeline) ของการสืบราชสมบัติว่ามีความสืบเนื่องกันอย่างไรบ้าง ตั้งแต่การมีตำแหน่ง “หน่อพุทธางกูร” จนถึงตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” ซึ่งแต่ละช่วงเวลาย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และเผชิญกับอุปสรรค โดยเรื่องราวเหล่านี้จะอธิบายและทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงธรรมเนียมการสืบราชสมบัติ พระราชพิธี และเครื่องประกอบอิสริยยศอย่างครบถ้วนทั้ง 280 หน้านี้ ขอฝากหนังสือเล่มนี้ไว้ในมือของผู้อ่านทุกท่านครับ ขอบคุณครับ

📍สามารถรับชม “Honor History: เล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์สยาม” EP4. สืบสาวธรรมเนียมการสืบราชสันตติวงศ์ เพิ่มเติมผ่าน….

✓ Youtube : Silpawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม

✓ Facebook : Silpawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม

สั่งซื้อหนังสือชุดกษัตราธิราช (3 เล่ม)

✏️เว็บไซต์ : https://bit.ly/3RVVGm2 

✏️Shopee : https://bit.ly/4ctd8qi

✏️Line Shop : https://bit.ly/3VUUT6a

✏️Tiktok : https://bit.ly/4cEUrQm

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2567