“ชลารักษ์บพิตร” สำรวจการจัดการน้ำของผู้ปกครองดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดย “อาสา คำภา”

อาสา คำภา ชลารักษ์บพิตร อยุธยา-กรุงเทพฯ
อาสา คำภา

“ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” (สำนักพิมพ์มติชน) คือผลงานล่าสุดของ ดร.อาสา คำภา โดยเป็นหนึ่งในสามเล่ม ในหนังสือชุด “กษัตราธิราช” ที่ชวนนักอ่านทำความรู้จัก “สังคมเมืองน้ำ” สำรวจแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งมีความใกล้ชิดสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของประชาชน ส่งผลให้การจัดการน้ำเป็นพันธกิจหนึ่งของผู้ปกครองในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

การบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ยุคจารีตจนถึงยุครัตนโกสินทร์เป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์นี้

Advertisement
จุดเริ่มต้นของการร้อยเรียงเรื่องราว สู่พ็อคเก็ตบุ๊กเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ “องค์กษัตราธิราชไทย”

หนังสือ “ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” ดัดแปลงมาจากงานวิจัย “พระมหากษัตริย์กับสังคมเมืองน้ำ: จากพิธีกรรม ถึง พระราชอำนาจนำ” ทำร่วมกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง โดยสถาบันไทยคดีศึกษา ซึ่งวิจัยเล่มนี้ทำช่วงประมาณ พ.ศ. 2556-2557 และเสร็จตอน พ.ศ. 2559 ได้รับโอกาสตีพิมพ์ในงานครบรอบ 50 ปีของสถาบันไทยคดีศึกษา ในรูปแบบการพิมพ์ที่จำกัดจำนวน และนำกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งกับทางสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งขอขอบคุณทางสำนักพิมพ์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็น “สังคมเมืองน้ำกับบทบาทของพระมหากษัตริย์”

นิยามความหมาย “สังคมเมืองน้ำ” ว่าอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อสังคมสยาม

หนังสือเล่มนี้ศึกษาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นหลัก เพราะในทางประวัติศาสตร์พื้นที่บริเวณนี้เป็น “แกนหลัก (Core Area)” ทางประวัติศาสตร์ที่มีศูนย์กลางอำนาจ โครงสร้างการปกครองตั้งแต่อยุธยาต่อเนื่องถึงรัตนโกสินทร์

เหตุผลที่เรียกว่า “สังคมเมืองน้ำ” เพราะบริเวณพื้นที่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเขตสะเทินน้ำสะเทินบก โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมถึงมกราคม ประมาณ 4 เดือนที่ฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมเต็มพื้นที่แถบนี้ ดังคำกลอน “เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง เดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง” เพราะฉะนั้นความใกล้ชิดและวิถีชีวิตของประชาชนกับน้ำมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ การตั้งถิ่นฐาน การสร้างบ้านเรือนไทยที่ยกสูง โครงสร้างการปกครอง และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมเมืองน้ำ

การจัดการน้ำของพระมหากษัตริย์ในแต่ละยุคสมัยมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง

เนื่องจากพื้นที่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเขตพื้นที่แกนหลักของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ยุคอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบทบาทหรือแนวคิดของพระมหากษัตริย์แต่ละยุคมีความแตกต่างกัน โดยภายในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ยุค ได้แก่

ยุคจารีต ถือเป็นยุคที่พระมหากษัตริย์เลือกใช้พิธีกรรมผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์บูรณาการเข้ากับสังคม การประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความอุดมสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน 11 (ตุลาคม) เป็นต้นไป ได้แก่ พิธีกรรมแข่งเรือ เพื่อเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์

แต่ถ้าเกิดน้ำมากเกินไป ก็ต้องทำพิธีสรงน้ำหรือไล่น้ำ ตามบันทึกเช่น สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ท่านมีกฤษฎาภินิหารมาก ท่านใช้พระขรรค์ฟันลงไปในน้ำ แล้วน้ำมันก็ลดลง อันนี้เหมือนเป็นกฤษฎาภินิหารของกษัตริย์ในการปราบน้ำ คือน้ำจะขึ้นน้ำจะลงขึ้นอยู่กับบุญญาธิการขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย

อีกทั้งวิธีขอฝน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ฝนตก มีปริมาณน้ำอุดมสมบูรณ์ สำหรับใช้ในการทำเกษตรกรรม โดยพิธีกรรมที่พระมหากษัตริย์ทรงทำเหล่านี้เป็นลักษณะของจิตวิทยาในทางสังคม ทำให้คนในสังคมคลายความวิตกกังวล

ต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ยังพบพิธีกรรมไล่น้ำ แต่แนวคิดเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์แบบ “เทวราชา” เปลี่ยนแปลงเป็น “มนุษยนิยม”มากยิ่งขึ้น

เช่น สมัยรัชกาลที่ 1 ในพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี กล่าวถึงช่วงเวลาที่มีน้ำเค็มหนุนขึ้นมาในทะเล รัชกาลที่ 1 กับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็เสด็จไปทำการปิดน้ำที่ปากลัด ตรงพระประแดง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มหนุนขึ้นมา สะท้อนถึงการจัดการน้ำที่ไม่จำเป็นต้องใช้พิธีกรรม

นอกจากนี้ สมัยรัชกาลที่ 3 เห็นถึงลักษณะของการผสมผสานของคติความเชื่อพุทธศาสนามากขึ้น ในหนังสือของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ พบว่า มีการให้พระสงฆ์ลงในเรือลำเล็กๆ แล้วใช้พิธีทางพุทธศาสนาไล่น้ำ การตั้งเสาศิลาเพื่อใช้ในการวัดน้ำผ่านการสังเกตคราบน้ำหรือคราบวิกฤต หากน้ำมีปริมาณถึงคราบวิกฤต พระมหากษัตริย์จะต้องเกณฑ์ไพร่พลมาปิดน้ำในคลอง เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกจากนาและไหลลงแม่น้ำเร็วเกินไป

อีกทั้งการมีเอกสาร “รายงานน้ำฝนต้นข้าว” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เพื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำฝนในแต่ละช่วงเวลากับปีก่อนๆ เพื่อคาดการณ์ระดับน้ำในอนาคต ลักษณะดังกล่าวดูเป็นที่ประจักษ์นิยมมากยิ่งขึ้น

ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง “ข้าว” ถือเป็นสินค้าส่งออกของสยามที่สร้างรายได้ ส่งผลให้พระมหากษัตริย์ต้องขยายพื้นที่ปลูกข้าว นำมาสู่วิธีการจัดการน้ำที่เปลี่ยนไป

โดยเฉพาะช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 บทบาทเชิงพิธีกรรมค่อยๆ น้อยลง ในการจัดการความอุดมสมบูรณ์ และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีแบบตะวันตก ระบบชลประทานสมัยใหม่ คือเริ่มต้นการขุดคลองเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เช่น คลองเจดีย์บูชา คลองภาษีเจริญ

แต่โครงการเหล่านี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตอนยุคของการเปิดพื้นที่ “คลองรังสิต” ที่มีการเปิดพื้นที่เขตทุ่งรังสิต ผ่านการดำเนินการโดยบริษัทเอกชน บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ผ่านการปรึษาของ “เจคอบ ฟาน แดร์ ไฮเด” ว่ารัฐบาลสยามควรมีระบบการทดน้ำ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และอีกหนึ่งท่านที่มีบทบาทสำคัญคือ “เซอร์โทมัส วอร์ด” ผู้มีบทบาทในการจัดการน้ำด้วยการขับเคลื่อนโดยองค์ความรู้รูปแบบใหม่

ยุคแห่งการพัฒนา ซึ่งในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสงครามเย็น เรียกว่าเป็นโปรเจกต์ของทางราชสำนักที่ทางรัฐบาลสนับสนุน โดยเฉพาะสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงพัฒนาจัดการน้ำ ผ่านการไปในพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ แล้วเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในชนบท ผ่านการสร้างพื้นที่แหล่งน้ำ และเกิดขึ้นเป็นโครงการพระราชดำริต่างๆ

นอกจากนี้ ในยุคของรัชกาลที่ 9 สะท้อนถึงพระมหากษัตริย์ทรงมี “อำนาจนำ” หมายถึงเมื่อท่านคิดอะไรออกมา คนในสังคมเห็นพ้อง แล้วรับสิ่งนั้นมาปฏิบัติตามอย่างกระตือรือร้น เช่น พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสว่าควรมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก เพื่อใช้ในการกักเก็บแหล่งน้ำ และในช่วงเวลาต่อมาก็พบการสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สิ่งเหล่านี้คือลักษณะของการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นจากพระราชอำนาจนำ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของยุคสมัยนี้

ชลารักษ์บพิตร
หนังสือชุด “กษัตราธิราช” (สำนักพิมพ์มติชน)
สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยหลักของการทำเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าว ภายในหนังสือกล่าวถึง “พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ” พันธุ์ข้าวชนิดนี้เป็นอย่างไร

บันทึกของชาวต่างชาติมักกล่าวถึงพันธุ์ข้าวที่เรียกว่า “พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ” เพราะมีลักษณะเป็นลำตัวยาว เป็นพันธุ์ข้าวชนิดที่โตหนีน้ำทัน ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านจำเป็นต้องพายเรือเกี่ยวข้าวกันในช่วงฤดูที่น้ำท่วม

ต้นข้าวประเภทนี้มักปรากฏในโซนเขตทะเลสาบเขมร แต่เราสามารถพบลักษณะของพันธุ์ข้าวแบบนี้ในเขตทุ่งราบ ซึ่งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับมาจากกลุ่มทะเลสาบ หรือลุ่มทะเลสาบเขมรรับมาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้อยุธยากลายเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ และสร้างความเข้มแข็งให้กับอาณาจักร

ทำไมชาวต่างชาติเรียกอยุธยาจวบจนกรุงเทพฯ ด้วยฉายา “เวนิสตะวันออก”

เหตุผลที่ชาวต่างชาติเรียกอยุธยาว่า “เวนิสตะวันออก” เพราะเป็นพื้นที่เกาะเมืองที่มีระบบแม่น้ำ ระบบคูคลอง และระบบนิเวศที่สามารถทั้งเดรนน้ำ ระบายน้ำ โดยสิ่งเหล่านี้กลายเป็นส่งต่อมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งสังคมเมืองน้ำในอยุธยา มีปรากฎอยู่ในกฎหมายมณเฑียรบาล ตามเรื่องเล่าที่ว่า “ถ้าหากเรือพระประเทียบล่ม ชาวเรือทั้งหลายจะต้องว่ายหนีออกจากตัวเรือ” กฎหมายที่ซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เรือ หรือกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ชัดเจน จะเห็นได้เฉพาะในพื้นที่รัฐในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่มีน้ำท่วม มีระบบคูคลองแม่น้ำ คุณจะไม่พบกฎหมายแบบนี้ที่อื่น เช่น สุโขทัย ล้านนา

ส่งมอบชุดความรู้ “ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” สู่สายตาและมือของผู้อ่าน

ผมคิดว่า “ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพพัฒนาการประวัติศาสตร์ ในรูปแบบประวัติศาสตร์ขนบ ขนบคือการเล่าให้เห็นภาพของผู้กระทำหลักเป็นพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่เห็นและเมื่อคุณอ่านจะพบสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องพิธีกรรม แนวคิดของผู้ปกครองกับความอุดมสมบูรณ์ทั้งเชิงมานุษยวิทยา ศาสนา ความเชื่อ และความคิดทางรัฐศาสตร์ เช่น แนวคิด Hegemony (แนวคิดอำนาจนำ)

ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นประเด็นที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งผมกับอาจารย์อีกท่านตั้งใจเขียนให้อ่านไม่ยากจนเกินไป และน่าจะตอบโจทย์ผู้อ่านทุกท่าน

เรื่อง: วิชราพิชญ์ เวชสุรียะกุล
ออกแบบภาพ: ณัชชา เชี่ยวกล

สามารถรับชม “Honor History: เล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์สยาม”
EP1. สายน้ำและการพัฒนา โดย ดร.อาสา คำภา ได้ที่
Youtube : https://youtu.be/hoG0E-O5RzE?si=_1rHoQxFi1z0ZiFv
Facebook : https://www.facebook.com/SilpaWattanatham/videos/1200224927666485

สั่งซื้อหนังสือชุดกษัตราธิราช (3 เล่ม)
เว็บไซต์ : https://bit.ly/3RVVGm2
Shopee : https://bit.ly/4ctd8qi
Line Shop : https://bit.ly/3VUUT6a
Tiktok : https://bit.ly/4cEUrQm

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรฎาคม 2567