ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ปาร์ลีย์เมนต์” หรือ “รัฐมนตรีสภา” เครื่องเฉลิมพระเกียรติยศของรัชกาลที่ 6 แทนการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงขึ้นครองราชย์ในระยะแรก
ปาร์ลีย์เมนต์
เหตุผลในการนี้ของกรมหลวงพิษณุโลกฯ มีบันทึกไว้ในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่า “ (1) ต้องหาอะไรเป็นข้อเฉลิมพระเกียรติยศ สู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อม (2) ของนั้นต้องหาให้ได้และประกาศให้ทันวันบรมราชาภิเษก (3) เวลามีน้อยนึกเตรียมอะไรที่ใหม่ทีเดียวไม่ทัน จึงหันไปนึกหาของเก่าที่อาจจะแปลงรูปขึ้นได้โดยง่ายและเร็ว (4) สมัยนี้ฝรั่งกำลังนิยมปาร์ลีย์เมนต์…”
ขณะที่รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่า “…การที่จะคิดหาอะไรทำให้เป็นการเอิกเกริกโครมครามสู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อมนั้น ฉันเห็นว่ายากนัก เพราะการเลิกทาสเป็นของที่ฝรั่งตื่นกันมาก, นับว่าเป็นมูลรากแห่งอิสรภาพทีเดียว…
การที่จะจัดการฟื้นรัฐมนตรีสภาขึ้นนั้น ฉันยังไม่แน่ใจว่าฝรั่งเขายอมเชื่อว่าเป็นพยานว่า เราจะเริ่มดำเนินราโชบายไปทางมีปาร์ลีย์เมนต์ต่อไป…
…ผู้ที่จะเป็นสภานายกและสมาชิกแห่งรัฐมนตรีสภานั้น…หายากอยู่ ในเวลานั้นฉันนึกออกอยู่คนเดียวแต่กรมราชบุรี ที่เห็นว่าพอจะเป็นสภานายกได้…”
อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงเห็นประโยชน์ของปาร์ลีย์เมนต์ คือ การออกกฎหมายที่ผ่านมานั้น เจ้ากระทรวงต่างๆ เป็นผู้ร่าง กฎหมายที่ออกมาจึงคำนึงถึงความสะดวกของกระทรวงนั้นๆ ที่จะต้องดำเนินตามกฎหมาย มากกว่าจะคำนึงถึงความสะดวกของสาธารณชน หากปาร์ลีย์เมนต์ตรวจร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ก่อนประกาศใช้ก็อาจจะทำประโยชน์ได้
รัชกาลที่ 6 ทรงนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุม ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าแม้ไม่ได้รับความสนใจเท่าใด แต่ก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน พระองค์จึงทรงรับเป็นผู้เจรจากับกรมหลวงราชบุรีฯ ด้วยองค์เอง ยังความปลาบปลื้มพระทัยแก่กรมหลวงราชบุรีฯ ว่า รัชกาลที่ 6 ทรงไว้วางพระราชหฤทัยต่อพระองค์ท่าน
หากเมื่อทรงใคร่ครวญระยะเวลาหนึ่ง กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงปฏิเสธไม่รับตำแหน่งดังกล่าว เรื่องที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเสนอจึงเป็นอันยุติลง
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ราม. วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567