ขุนนางใหญ่ซัด! ใครหนุนบุตรเจ้าอนุวงศ์ครองจำปาศักดิ์? “ต่อไปจะได้ความร้อนใจ”

หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ ทรุดโทรม เมื่อคราว สงครามเจ้าอนุวงศ์ รัชกาลที่ 3 นครจำปาศักดิ์ แนวร่วม สำคัญ เจ้าอนุวงศ์
หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ทรุดโทรมลงเมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

ในศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ หรือที่ไทยเรียกว่า “กบฏเจ้าอนุวงศ์” ระหว่าง พ.ศ. 2369-2371 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ปัจจัยสำคัญที่ “ส่งเสริม” การก่อการครั้งนี้ คือเจ้าอนุฯ ทรงสามารถควบคุมดินแดนลาวได้ถึง 2 ใน 3 ได้แก่ นครเวียงจันทน์ ศูนย์กลางอำนาจของพระองค์เอง กับพันธมิตรสำคัญผู้ร่วมหัวจมท้าย คือ นครจำปาศักดิ์ ของ เจ้าราชบุตร (โย้) ผู้เป็นบุตรชาย

แต่เดิมรูปแบบการปกครองลาว (หมายรวมภาคอีสาน) ของสยาม ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ลาวถูกแบ่งออกเป็น 3 แคว้น ได้แก่ หลวงพระบาง (เหนือ) เวียงจันทน์ (กลาง) และจำปาศักดิ์ (ใต้) แคว้นเหล่านี้ล้วนขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ไม่ขึ้นแก่กัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมและป้องกันการแข็งเมือง

กระทั่งเจ้าราชบุตรได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ครองหัวเมืองลาวฝ่ายใต้ และเข้าร่วมกับพระราชบิดาคือเจ้าอนุวงศ์ แล้วนำไพร่พลเข้ากวาดต้อนครัวลาวตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานกลับไปเป็นกำลังให้เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ นอกจากราชสำนักกรุงเทพฯ จะ “ร้อนใจ” ต่อการกระทำอันอุกอาจนี้แล้ว เชื่อได้ว่ารัชกาลที่ 3 เองต้องทรงขัดเคืองพระราชหฤทัยไม่น้อยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ระบุว่า เจ้าราชบุตร (โย้) ได้ครองจำปาศักดิ์ ก็ด้วยการโปรดเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยมีรัชกาลที่ 3 หรือขณะนั้นคือ “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เป็นผู้ส่งเสริม

ยิ่งไปกว่านั้น การแต่งตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เห็นชอบของขุนนางผู้ใหญ่บางส่วน โดยเฉพาะ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เรียกว่ามีศักดิ์เป็น “หลานอา” ในรัชกาลที่ 1 เป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ทั้งยังกำกับกรมวังและกรมมหาดไทยอยู่ในขณะนั้น

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

วันที่รัชกาลที่ 2 ทรงมีรับสั่งให้ตั้งเจ้าราชบุตรเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ พอเสด็จขึ้นแล้ว (ว่าราชการเสร็จสิ้น) กรมหลวงพิทักษมนตรี ถึงกับตรัสกลางท้องพระโรงด้วยความไม่สบอารมณ์ว่า ใครกันเพ็ดทูลให้โปรดเกล้าฯ เช่นนั้น ไปเพิ่มพูนอำนาจให้เจ้าอนุฯ โดยไม่จำเป็น ทั้งยังทรงทำนายทายทักว่า “ต่อไปจะได้ความร้อนใจ” จากการตัดสินใจดังกล่าว โดยที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ประทับอยู่ด้วย

ท้ายสุดสิ่งที่ “กรมหลวงพิทักษมนตรี” ทรงคาดการณ์ ก็เกิดขึ้นจริงดังตาเห็น เพราะนครจำปาศักดิ์กลายเป็นพันธมิตรและกำลังหลักในเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์จริง ๆ

นครจำปาศักดิ์ฐานอำนาจหนุนเจ้าอนุวงศ์

มูลเหตุทั้งหมดของการแต่งตั้งเจ้าราชบุตรเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์นั้น เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ “กบฏสาเกียดโง้ง” (พ.ศ. 2362) หรือกบฏชาวข่าในพื้นที่ลาวใต้ ปลายรัชกาลที่ 2 ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนไปถึงกรุงเทพฯ เพราะ เจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ขณะนั้น ไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ เสียเมืองแก่อ้ายสาเกียดโง้ง ผู้นำกบฏ ดินแดนลาวใต้จึงอยู่ในภาวะสุญญากาศทางอำนาจอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

ในคราวนั้น เจ้าพระยานครราชสีมาสามารถตีกองทัพกบฏแตกพ่ายไปได้ แต่ยังไม่ได้ตัวอ้ายสาเกียดโง้งรัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอนุวงศ์ยกกำลังไล่ล่าอ้ายสาเกียดโง้ง สุดท้ายเป็นเจ้าราชบุตรที่จับกุมตัวอ้ายสาเกียดโง้งและส่งมารับโทษยังกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ

รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า เจ้าหมาน้อยรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ไม่สมควรได้กลับไปครองเมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ทูลขอให้เจ้าราชบุตรเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ พร้อมให้คำมั่นว่าจะเป็นกำลังมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก และดังที่กล่าวไปข้างต้น ความเห็นในราชสำนักกรุงเทพฯ ต่อคำกราบทูลของเจ้าอนุวงศ์แตกออกเป็น 2 ข้าง เพราะขุนนางและพระบรมวงศ์ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่เจ้าอนุวงศ์จะมีอำนาจมากขึ้นจากการครองแคว้นลาวถึง 2 ใน 3

สุดท้ายรัชกาลที่ 2 ทรงเชื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) พระราชโอรสองค์โต ผู้ทรงสนับสนุนคำทูลขอดังกล่าว และเห็นควรให้สมประสงค์เจ้าอนุวงศ์ เพราะทรงเห็นว่า หากลาวเข้มแข็ง จะเป็นกำลังป้องกันฝ่ายญวน (เวียดนาม) มิให้ขยายอำนาจเข้ามามากเกินไปได้

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าถึงความเห็นของกรมหลวงพิทักษมนตรี ในวันโปรดเกล้าฯ เจ้าราชบุตร (โย้) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ความว่า

“เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีมีรับสั่งในท้องพระโรงว่า อยากจะรู้นัก ใครเป็นผู้จัดแจงเพ็ดทูลให้เจ้าราชบุตรเวียงจันท์ไปเปนเจ้าเมืองจำปาศักดิ แต่เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ข้างฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้วยังจะเพิ่มเติมให้ลูกไปมีอำนาจโอบลงมาข้างฝ่ายตวันออกอีกด้าน ๑ ต่อไปจะได้ความร้อนใจด้วยเรื่องนี้”

เล่ากันว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงได้ยินสิ่งที่กรมหลวงพิทักษมนตรีตรัส แต่ทรงนิ่งอยู่ มิได้รับสั่งโต้เถียง ด้วยเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงให้ความเคารพนับถือ

ต่อมาเมื่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์และเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย้) เป็นกบฏในต้นรัชกาลของพระองค์ แถมยังฝักใฝ่ฝ่ายญวนให้ร่วมประทุษร้ายสยามอีก จึง “เปนข้อที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัศข้อ ๑ ที่ว่าการมาเปนจริงดังเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีได้ทำนายไว้…”

ส่วนคำตอบของ “คำถาม” ที่กรมหลวงพิทักษมนตรีทรงเคลือบแคลงสงสัย (ผู้จัดแจงเพ็ดทูล) คงไม่สำคัญเท่าผลลัพธ์ (ความร้อนใจ) ที่ตามมาในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ทำไมเจ้าอนุวงศ์ จึงต้องปราชัย. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549.

หอสมุดวชิรญาณ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2459). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย ณ สพานยศเส. (ออนไลน์)

ราชวงศ์วิจิตร, หม่อมราชวงศ์ (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). (22539). พงศาวดารเมืองมณฑลอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้านางโสฬศนารี ณ จำปาศักดิ์ สาระโสภณ (นางอักษรการวิจิตร)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2567