ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงทำอะไร? ในศึกใหญ่ “สงคราม 9 ทัพ”
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ช่วงก่อนขึ้นครองราชย์ เป็นที่รับรู้ไม่มากนัก เรารู้ว่ามีพระนามเดิมคือ “ฉิม” และรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 1) เป็น “กรมหลวงอิศรสุนทร” แต่เรื่องอื่น ๆ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ รวมถึงบทบาทในศึกใหญ่ต้นกรุงฯ อย่าง “สงคราม 9 ทัพ” ที่เราแทบไม่รู้ว่าทรงไปรับทัพไหน หรือทรงมีภารกิจอะไรในสงครามครั้งนี้
ทั้งนี้ เพราะหลักฐานที่พอจะบอกเล่าพระราชประวัติรัชกาลที่ 2 ก่อนครองราชย์มีน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่พอจะจับต้องได้มากที่สุดเห็นจะเป็น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แต่หลักฐานข้างต้นอ้างอิงข้อมูลจาก โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2) อีกที

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311 หลังสถาปนากรุงธนบุรีไม่กี่เดือน ก่อนทรงย้ายตามพระบรมราชชนก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มาอยู่บริเวณวัดระฆังโฆษิตาราม ฝั่งธนบุรี
เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 8 พรรษา ทรงติดตามพระบรมราชชนก เมื่อครั้งทรงเป็น “พระยาจักรี” ไปทำสงครามรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าตากฯ อยู่เสมอ ตั้งแต่ศึกเชียงใหม่ (พ.ศ. 2313) ศึกบางแก้ว (พ.ศ. 2317) ศึกอะแซหวุ่นกี้ (พ.ศ. 2318) ศึกเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2321-2322) และสงครามในแผ่นดินเขมร (พ.ศ. 2324)
กระทั่งพระบรมราชชนก ขณะนั้นคือ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ทรงเลิกทัพจากเขมรกลับมา “ปราบจลาจล” ในกรุงธนบุรี แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 1 แห่งจักรีวงศ์ “คุณฉิม” ได้ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร” ใน พ.ศ. 2325
ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 บทบาทของกรมหลวงอิศรสุนทรที่เด่นชัดที่สุดคือทรงเป็น “ยกกระบัตร” ทัพหน้าที่สยามส่งไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. 2335 (10 ปีหลังสถาปนาจักรีวงศ์) ก่อนจะถอนทัพกลับเพราะเสบียงไม่พอทำศึกต่อ
ต่อมา พ.ศ. 2349 (14 ปีหลังศึกทวาย) จึงทรงถูกยกขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หลังจากกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดิม คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) พระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1 สวรรคต
กล่าวคือ รัชกาลที่ 2 ทรงปรากฏบทบาทเพียง 2 ครั้งตลอด 27 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์
ในขณะที่สงครามครั้งใหญ่ ๆ กับพม่าอย่างสงคราม 9 ทัพ (พ.ศ. 2328-2329) หรือสงครามท่าดินแดง (พ.ศ. 2329-2330) ก่อนเหตุการณ์คราวรุกทวาย กลับไม่พบบทบาทของพระองค์ แม้ทรงติดตามรัชกาลที่ 1 ไปรบตลอดพระชนมชีพ
โดยเฉพาะคราวสงคราม 9 ทัพ ที่ฝ่ายพม่านำกำลังมาถึง 9 ทัพ 5 เส้นทาง รัชกาลที่ 1 ทรงแต่งทัพออกไปรับศึกสายหลัก ๆ 3 สายด้วยกัน ส่วนพระองค์จะทรงคุมทัพเป็นกำลังหนุนอยู่ที่พระนครอีกกองหนึ่ง แต่ไม่มีบันทึกถึงบทบาทของกรมหลวงอิศรสุนทรแต่อย่างใด

หลังองค์พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ประเด็นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้โดยเสด็จด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ตีความได้ว่า พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับกำลังหนุน คอยท่าทีว่าหากทัพที่ส่งออกไปรับศึกทัพใดเพลี่ยงพล้ำ จึงจะเป็นกำลังไปเสริม
ซึ่งดูจะสมเหตุสมผลทีเดียว เพราะในห้วงสงคราม 9 ทัพ ทรงมีพระชนมายุ 17-18 พรรษาเท่านั้น
โดยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2329 รัชกาลที่ 1 ได้เสด็จนำไพร่พลไปเสริมกำลังในการรบที่ทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี อันเป็นแนวรบที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ตั้งประจันกับทัพหลวงของฝ่ายพม่าซึ่งมีพระเจ้าปดุงเป็นจอมทัพ และชัยชนะเหนือพม่า ณ ทุ่งลาดหญ้านี้เองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พระเจ้าปดุงถอนทัพกลับ
จึงเป็นไปได้ว่า กรมหลวงอิศรสุนทรก็เสด็จไปด้วยในการเสริมกำลังที่ทุ่งลาดหญ้า
ด้าน สุเจน กรรพฤทธิ์ (สารคดี ฉบับมิถุนายน : 2565) สันนิษฐานว่า กรมหลวงอิศรสุนทรน่าจะไปในกองทัพ หรืออยู่ร่วมเหตุการณ์กับเจ้าประเทศราชอย่าง “เจ้าอนุวงศ์” ทายาทของพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ที่ประทับเป็นองค์ประกัน และ “องค์เชียงสือ” เชื้อสายอ๋องตระกูลเหงวียนแห่งเวียดนามที่เสด็จมาลี้ภัยในกรุงเทพฯ ณ ช่วงเวลานั้นเช่นกัน
เพราะกรมหลวงอิศรสุนทร หรือ “คุณฉิม” คุ้นเคยกับขุนนางน้อยใหญ่ที่แวะเวียนมาเรือนบิดาตั้งแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน หนึ่งในนั้นคือเจ้าอนุวงศ์ ทำให้ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าอนุฯ รวมถึงองเชียงสือ ภายหลังเรายังพบว่า “พระสหาย” เหล่านี้ เป็นแรงสนับสนุนทางการเมืองให้พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็น “วังหน้า” เพื่อสืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- พระนาม ร.1 กับ ร.2 มาจากนาม “พระพุทธรูปฉลองพระองค์” ที่สร้างสมัย ร.3 ?
- 24 กุมภาพันธ์: วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุเจน กรรพฤทธิ์. (2565). แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าฯ (ที่เราไม่รู้จัก). นนทบุรี : สารคดี.
หอสมุดวชิรญาณ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2459). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2567