“ชาวจีนโบราณ” เมื่อพันปีก่อน มีอายุเฉลี่ยเท่าไหร่?

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง สามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร ชาวจีนโบราณ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

ในประวัติศาสตร์จีน ยุคที่บ้านเมืองแบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า เกิดศึกสงครามระหว่างเมืองหรือระหว่างแคว้น ส่งผลให้ข้าวยากหมากแพง ผู้คนไม่มีกิน ต่างอดอยากยากไร้ ไม่นับโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติที่เบียดเบียน เหล่านี้ทำให้ “ชาวจีนโบราณ” มีอายุเฉลี่ยไม่ยาวนานนัก แต่ที่ว่าไม่ยาวนานนั้นคือเท่าไหร่?

ศาสตราจารย์เจิ้งเจิ้ง แห่งมหาวิทยาลัยนานกิงและคณะ ทำการสอบค้นจากพงศาวดาร 24 ราชวงศ์ เช่น สื่อจี้ ฮั่นซู ซึ่งเป็นพงศาวดารของราชการ มีความน่าเชื่อถือสูง แล้วยังค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ อีก เช่น จดหมายเหตุของท้องถิ่น ปูมประวัติวงศ์ตระกูล รวมทั้งเอกสารอื่นๆ อย่าง นามานุกรมบุคคลในประวัติศาสตร์จีน กาลานุกรมบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีน

Advertisement

จากนั้น ศาสตราจารย์เจิ้งเจิ้งและคณะ ก็นำชุดข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาอายุเฉลี่ยของ “ชาวจีนโบราณ” สืบย้อนไปได้ถึงหลักพันปีก่อนหน้า เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนที่สิ้นไปเมื่อต้นศวตรรษที่ 20

ผลการสำรวจและศึกษาข้อมูลพบว่า ชาวจีนโบราณ ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ราว 200 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช ถึงราว ค.ศ. 8) มีอายุยืนที่สุด คือ เกิน 70 ปี

ยกเว้นราชวงศ์ถัง (คริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงต้นศตวรรษที่ 10) ราชวงศ์หมิง (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17) และราชวงศ์ชิง (คริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) ที่มีเกินอยู่บ้างบางส่วน

ชาวจีนโบราณ ที่มีอายุขัยเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในยุคราชวงศ์วุย (ราว ค.ศ. 220–266 หรือ 46 ปี) ราชวงศ์จิ้น (คริสต์ศตวรรษที่ 3-5) ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น (ร่วมยุคกับราชวงศ์จิ้น คืออยู่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4-5) และยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (ราว ค.ศ. 907-960 หรือ 53 ปี)

ในแต่ละยุคที่ว่ามานี้ ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น มีอายุเฉลี่ยต่ำสุดคือ 50 กว่าปี

นอกจากนี้ ยังมีผู้รวบรวมอายุของฮ่องเต้ ที่ทราบปีเกิดและปีตายแน่นอน รวมทั้งหมด 209 องค์ พบว่ามีอายุเฉลี่ยเพียง 39.2 ปี

สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวจีนในอดีตมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสั้น เป็นเพราะ “โรคระบาด” เห็นได้จากเนื้อหาในพงศาวดารช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์จุ้ย และราชวงศ์จิ้น ที่มีข้อความทำนองว่า

“เมืองหลวงเกิดโรคระบาดใหญ่” “แถบจิ่วเจียง หลู่เจียง เกิดโรคระบาดใหญ่” “เกิดโรคระบาดใหญ่ในมณฑลเก็งจิ๋ว” “เมืองอ้วนเซีย ฮูโต๋ เกิดโรคระบาดใหญ่” “โรคระบาดใหญ่คนตายมาก ที่เหอซั่วก็เหมือนกัน” บันทึกอยู่มาก

ส่วนบทความเรื่อง “ซัวอี้ชี่-เล่าเรื่องโรคระบาด” ของโจผีกล่าวว่า รัชศกเจี้ยนอาน ปีที่ 22 (ค.ศ. 217) เกิดโรคระบาดใหญ่ ทำให้ “ตายยกครอบครัว หรือตายหมดทั้งตระกูล” จนเกิดปรากฏการณ์ “ทุกบ้านมีศพสุดโศกา ทุกเคหามีเสียงโศกร่ำไห้” ปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ในกลุ่ม “เจ็ดเธียรเจี้ยนอาน” อย่าง เฉินหลิน สี่ว์ก้าน อิงช่าง และหลิวเจิน ก็ล้วนตายเพราะโรคระบาดในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาข้างต้น มาจากข้อมูลของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นหากคิดรวมชาวจีนทั่วไปซึ่งมีอัตราการตายในวัยทารกและวัยเด็กสูงมากแล้ว ก็เท่ากับว่าอายุเฉลี่ยข้างต้นมีแนวโน้มลดลงไปอีกมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

หลี่ฉวนและคณะ. ถาวร สิกขโกศล, แปล. 101 คำถามสามก๊ก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2567