“พระมหามัยมุนี” พระศักดิ์สิทธิ์ของพม่า เคยถูกตัดขา ลอกแผ่นทองขาย?

พระมหามัยมุนี มัณฑเลย์ พม่า
พระมหามัยมุนี (ภาพ : Wagaung at English Wikipedia, CC BY-SA 3.0 , via Wikimedia Commons)

“พระมหามัยมุนี” พระศักดิ์สิทธิ์ของพม่า ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่ชาวพม่าให้การเคารพนับถืออย่างมาก ถึงขั้นที่ถูกเปรียบเปรยไว้ว่า “หากพระพุทธรูปสำคัญของไทยองค์ที่ได้รับการยกย่องไว้สูงสุดคือพระแก้วมรกตแล้ว ในกรณีของพม่าคงได้แก่พระมหามัยมุนีนั่นเอง” [1] ปัจจุบันท่านประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระมหามุนี มัณฑะเลย์ ประเทศพม่า

แต่รู้หรือไม่ว่าในอดีต “พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปองค์สำคัญที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานองค์นี้ เคยเป็นเป้าหมายในการปล้น ลอกแผ่นทอง และเคยถูกตัดขา

Advertisement

เรื่องนี้ สุระ พิริยะสงวนพงศ์ ได้เล่าไว้ในหนังสือ “พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า” ว่า…

“หลักฐานเอกสารมักระบุว่าหลังจากสมัยของพระเจ้าอโนรธาเป็นต้นมา วัดแห่งนี้ถูกปล้นชิงหลายครั้ง เนื่องจากมีทรัพย์สินมีค่าที่ถูกนำมาถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนมาก ดังตัวอย่างในรัชสมัยพระเจ้าไปพยู (พ.ศ. 1507-1537) กลุ่มไทใหญ่หรือฉาน ได้ยกทัพมาปล้นชิงเอาทรัพย์สมบัติที่ฝังใต้แท่นบูชาที่พระเจ้าจันทสุริยะเคยถวายไว้ไปด้วย

ไม่เพียงแต่ทรัพย์สินมีค่าเท่านั้น ในบางครั้งสิ่งที่ถูกปล้นชิงก็เป็นองค์พระมหามัยมุนีเอง ดังเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าเลทยาเมงนาน เมื่อ พ.ศ. 1646 ครั้งนั้นกองทัพปยูได้ขูดเอาทองคำก้อนโตจากพระปฤษฎางค์ (แผ่นหลัง) ของพระมหามัยมุนี ส่วนกองทัพมอญก็ตัดพระชงค์ (ขา) ขวาของพระมหามัยมุนีกลับไปยังดินแดนของตนเอง แต่บ้างก็ว่าเป็นการกระทำของกองทัพพุกาม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่ามีการปล้นชิงกันครั้งใหญ่ ถึงขนาดยกเอาพระมหามัยมุนีไปด้วย ทำให้พระมหามัยมุนีสูญหายไปเป็นเวลานานหลายปี พระเจ้าเลทยาเมงนานแห่งยะไข่จึงทรงส่งคนออกค้นพบ กระทั่งพบว่าจมอยู่ในดินจนถึงพระศอ จึงโปรดฯ ให้บูรณะครั้งใหญ่ แล้วอัญเชิญกลับมาทางเรือ

แต่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าการค้นหาดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นในรัชสมัยหลังจากนั้น คือในสมัยพระเจ้าทสะราชาแห่งราชวงศ์ปะริน (ครองราชย์ พ.ศ. 1696-1708) โดยมีบันทึกกล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน คือได้มีการพบพระมหามัยมุนีจมอยู่ในดินถึงพระศอ พระพาหา (แขน) ขวาแตกเสียหาย และมีรูขนาดใหญ่ที่พระปฤษฎางค์…”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏนี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์เชิงตำนานที่บันทึกในสมัยหลังเท่านั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงแน่ชัดเกี่ยวกับ “พระมหามัยมุนี” พระศักดิ์สิทธิ์ของพม่า และต้องพิสูจน์กันต่อไป 

หมายเหตุ :

[1] ในหนังสือ “พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า” โดย สุระ พิริยะสงวนพงศ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2567