ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพม่า ประดิษฐาน ณ วัดมหามัยมุนี ตั้งอยู่ชานเมืองด้านทิศใต้ของเมืองมัณฑเล ชาวพม่าและนักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างคุ้นตากันดีกับภาพพระมหามัยมุนีที่ถูกปิดทองทั้งองค์ด้วยพลังศรัทธา ยกเว้นพระพักตร์ ที่จะมีพิธีสรงพระพักตร์ทุกเช้า เล่าสืบกันมาว่า พระมหามัยมุนี เป็น “พระพุทธรูปมีชีวิต” เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?
สุระ พิริยะสงวนพงศ์ เล่าถึง “พระมหามัยมุนี” ไว้ในหนังสือ “พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า” ว่า นาม “มหามุนี” แปลว่า ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่
ตามตำนานเล่าว่า พระมหามัยมุนีสร้างขึ้นใน พ.ศ. 689 ในรัชสมัยพระเจ้าจันทสุริยะ ณ กรุงธัญญวดี เมืองหลวงของอาณาจักรยะไข่ แต่จากการตรวจสอบของนักโบราณคดีพบว่า พระมหามัยมุนีอาจสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 หรือราว 1,500 ปีก่อน
ลักษณะของพระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิราช หรือที่เรียกกันว่า “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” ประดับประดาด้วยสิ่งของมีค่านานาชนิด ประทับนั่งปางมารวิชัย เฉพาะพระพักตร์หล่อด้วยสำริดมีความเงาวาวเป็นพิเศษ แตกต่างไปจากพระวรกายส่วนอื่นๆ ซึ่งสภาพปัจจุบันผ่านการซ่อมแซมด้วยการก่ออิฐและพอกปูนทับ เพราะได้รับความเสียหายครั้งสำคัญคราวอัญเชิญมาจากยะไข่
พระมหามัยมุนีมีพระวรกายหนา เพราะพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ต่างหลั่งไหลจากทั่วทุกสารทิศมาปิดทองคำเปลวที่พระวรกาย
พระพุทธรูปองค์นี้อยู่คู่บ้านคู่เมืองยะไข่มาจนกระทั่งรัชสมัย พระเจ้าปดุง ที่ทรงส่งกองทัพไปยึดยะไข่ใน พ.ศ. 2327 แล้วโปรดให้อัญเชิญพระมหามัยมุนีจากยะไข่ไปประดิษฐาน ณ เมืองอมรปุระ ใน พ.ศ. 2328
คราวนั้น มีการแยกองค์พระออกเป็น 3 ส่วน แล้วนำขึ้นพาหนะลากจูงที่รองรับด้วยท่อนซุง ชักลากข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่าของเทือกเขาอาระกันโยมา โดยใช้ทหารกว่า 5,000 นาย และแรงงานชาวยะไข่ที่ถูกเกณฑ์มา
เมื่อต้องเดินทางต่อทางน้ำ ก็ได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีลงเรือการะเวก ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งของกษัตริย์พม่า ล่องมาจนถึงราชธานีอมรปุระ รวมระยะเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายกว่า 4 เดือน
พระมหามัยมุนีมีความสำคัญในฐานะเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานของพม่า หรือสถานที่ 5 แห่งของพม่า ที่ได้รับการยกย่องไว้สูงสุด ประกอบด้วย พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑเล, เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง, เจดีย์ชเวมอดอ หรือ “พระธาตุมุเตา” (เมืองหงสาวดี), เจดีย์ชเวซีคง (เมืองพุกาม) และ เจดีย์ชเวสันดอ (เมืองแปร) ที่บางครั้งก็นับเอา เจดีย์ไจก์ถิโย หรือ “พระธาตุอินทร์แขวน” เข้าไว้แทน
เหตุผลที่ทำให้พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปสำคัญและได้รับการเคารพบูชาสูงสุด สุระเล่าในหนังสือว่า น่าจะมาจากแนวคิดที่เชื่อว่า พระมหามัยมุนีคือ “พระพุทธรูปมีชีวิต” ภาษาพม่าเรียกว่า “โยะฉิ่นด่อ” แปลว่า พระพุทธรูปที่มีชีวิต
ความเชื่อที่ว่า พระมหามัยมุนีคือพระพุทธรูปที่มีชีวิต ต้องย้อนไปถึงตำนานการสร้างที่ระบุว่า พระพุทธเจ้าโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นตัวแทนของพระองค์ แล้วได้ประทาน “ลมหายใจ” ให้พระพุทธรูปองค์นี้ ทำให้กลายเป็นเสมือนรูปแทนพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ สามารถเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้าได้อย่างใกล้ชิดแนบแน่น อีกทั้งยังมีลมหายใจของพระพุทธเจ้าสถิตอยู่
เหตุนี้ พระมหามัยมุนีจึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องเคารพบูชาสูงสุดของพม่า และคติ “พระพุทธรูปมีชีวิต” ก็นำสู่พิธีสรงพระพักตร์ถวายพระมหามัยมุนีทุกเช้า เสมือนพระพุทธรูปองค์นี้ตื่นบรรทมนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- จาก “เทพทันใจ” ถึง “เทพกระซิบ” เทพองค์ล่าสุด ผู้เปลี่ยนเงินบาทไทยเป็นจ๊าดพม่า
- “ระฆังพระเจ้าจิงกูจา” ระฆังคู่บ้านคู่เมืองพม่า อังกฤษพยายามขนกลับประเทศแต่ไม่สำเร็จ!?
- เบื้องหลังอันน่าสลด พระศพพระเจ้าธีบอไม่ได้หวนคืนพม่า ทั้งที่สิ้นพระชนม์กว่าร้อยปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุระ พิริยะสงวนพงศ์. พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567