รู้หรือไม่? “พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป” แห่งแรกของไทย อยู่ที่วัดเบญจมบพิตร

วัดเบญจมบพิตร พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป แห่งแรก
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานที่พระระเบียง วัดเบญจมบพิตร

หลายคนอาจเคยไปชมความงามของ “วัดเบญจมบพิตร” ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ “กรมนริศ” ทรงเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถกันมาแล้ว และอาจเคยไปบริเวณพระระเบียงของวัด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปนับหลายสิบองค์ มองเผินๆ อาจไม่ต่างจากวัดใหญ่หลายแห่ง ที่มีพระพุทธรูปตรงพระระเบียงเหมือนกัน แต่ที่วัดแห่งนี้คือ “พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป” แห่งแรกของไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ เล่าถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

Advertisement

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระระเบียง วัดเบญจมบพิตร ทั้งหมด 52 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามโดดเด่นจากแต่ละท้องถิ่น และจากแต่ละยุคสมัย ซึ่งถูกอัญเชิญมาจากหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของสยาม อาทิ เมืองเชียงใหม่ พะเยา ลำพูน นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ทั้งบางองค์ยังนำมาจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ลังกา พม่า

พระพุทธรูปทั้งหมดนี้ มีทั้งองค์จริงและองค์ที่หล่อขึ้นใหม่ เพื่อให้เมื่อตั้งรวมกันแล้วพระพุทธรูปทั้งหมดจะได้ดูมีขนาดที่ไม่ต่างกันจนเกินไปนัก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อกำหนดสำคัญข้อหนึ่งในการพิจารณาเลือกสรรพระพุทธรูปมาประดิษฐาน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า

“…ขณะเมื่อสร้างวัดนี้อยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปสำหรับประดิษฐานไว้ ณ วัดนี้ ควรจะเลือกพระพุทธรูปโบราณซึ่งสร้างขึ้นในประเทศและในสมัยต่างๆ กัน…รวบรวมมาตั้งแสดงให้มหาชนเห็นแบบอย่างพระพุทธรูปต่างๆ โดยทางตำนาน…”

การรวบรวมพระพุทธรูปจากแหล่งต่างๆ มาไว้ยังวัดเบญจมบพิตร ทำให้ที่นี่เป็น “พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป” ดังที่ อ. ชาตรี ยกพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาว่า

“…มีองค์เดียวแต่พระทรงเครื่องลำพูน ที่ตั้งอยู่ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เปนพระที่มีองค์เดียว ไม่มีสองงามเลิศล้น แต่พระเช่นนั้นควรจะอยู่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งเปนที่รวบรวมพระต่างๆ เปนมิวเซียม ไม่ควรจะไปเที่ยวไว้กระจายให้คนไปเที่ยวดูลำบาก…”

อ. ชาตรี บอกอีกว่า จากพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 ทั้งสองครั้ง นอกจากจะทำให้เห็นถึงกระแสความคิดสมัยใหม่อย่างตะวันตก ที่แพร่หลายเข้ามายังสังคมสยามในเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังแฝงนัย 2 ประการ

ประการแรกคือ เริ่มมองพระพุทธรูปในมิติการเป็น “โบราณวัตถุ” สำหรับตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ แทนความศักดิ์สิทธิ์ในมิติเดิม และประการที่สองคือ ความคิดในการมองกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจเหนือหัวเมืองต่างๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นศูนย์กลางแต่ในนามเช่นอดีต

เมื่อวิเคราะห์แล้ว การที่รัชกาลที่ 5 สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มารวมไว้ที่กรุงเทพฯ ได้อย่างหลากหลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงจากการปฏิรูปการปกครองใน พ.ศ. 2435

ครั้งนั้นทำให้เกิดประเพณีใหม่ขึ้นอย่างหนึ่งคือ การตรวจราชการหัวเมือง ซึ่งเป็นแนวคิดของ “กรมดำรง” เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น

การออกตรวจราชการนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงให้ส่วนกลางว ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ การสืบเสาะค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และโบราณคดีของท้องถิ่นต่างๆ ทำให้กรมดำรงทรงทราบว่า บ้านเมืองไหนมีความเป็นมาอย่างไร โบราณวัตถุมีค่าหรือพระพุทธรูปที่สวยงามอยู่ที่แห่งใดบ้าง

เหตุนี้เองที่น่าจะเป็นเหตุผลที่รัชกาลที่ 5 ทรงมอบหมายให้กรมดำรงทรงเป็น “แม่งาน” ในการเสาะหาและอัญเชิญพระพุทธรูปที่สวยงามและมีค่าจากหัวเมืองต่างๆ มาไว้ที่พระระเบียงพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร

กลายเป็นจุดกำเนิด “พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป” แห่งแรกของไทย ที่มีให้ชมมาถึงปัจจุบันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2567