ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เจาะลึก “เมืองศรีเทพ-Golden Boy” ทุกแง่มุมที่หลายคนไม่รู้ ในงาน “มรดกสยาม ๓ สมัย”
✨ “ประวัติศาสตร์” นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของเราได้แล้ว ภายใต้ข้อมูลต่าง ๆ ยังเต็มไปด้วยความสนุกหลากหลายแง่มุมไม่รู้จบ
BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง พร้อมด้วยพันธมิตร จึงร่วมกันจัดงาน Happy Journey with BEM “มรดกสยาม ๓ สมัย” โปรเจกต์แห่งความสุขของการเดินทางแห่งปี
ภายในงานเต็มไปด้วยความรู้คู่กับความสนุก พร้อมลัดเลาะเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์มากมาย
“อลังการศรีเทพ มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย-โบราณวัตถุล้ำค่าชิ้นใหม่ Golden Boy” ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อสุดฮอตที่ไม่ว่าใครจัดงานด้านประวัติศาสตร์ตอนนี้ ต้องไม่พลาด ครั้งนี้ได้ “ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มาพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างออกรส
พร้อมด้วยผู้สนใจหลากหลายวัยที่เข้ามาฟังอย่างเนืองแน่น ที่ห้องประชุม อาคารดำรงราชานุภาพ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2567
✨ “เมืองศรีเทพ” มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย!
ศิริพจน์ เริ่มต้นเสวนาด้วยเรื่อง “เมืองศรีเทพ” โบราณสถานสำคัญที่เพิ่งได้ตำแหน่งมรดกโลกไปไม่นานมานี้
เขาเล่าว่า เมืองศรีเทพเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หากเทียบกับชุมชนบ้านเชียงในยุคเดียวกันนั้นถือว่าใหญ่กว่ามาก เมืองแห่งนี้มีเครือข่ายกับกลุ่มชนชั้นนำเขมร พระนคร เสียมเรียบ รวมถึงพิมาย พนมรุ้ง ก่อนที่ต่อมาเมืองศรีเทพจะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนศาสนาพุทธ
✨ ทวารวดีเกี่ยวข้องกับ “เมืองศรีเทพ” อย่างไร?
เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีบอกว่า ถ้าหากดูในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง จะเห็นว่ามีการพูดถึงเมืองที่เรียกว่า “โตโลโปตี” ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า “ทวารวดี” ซึ่งทวารวดีในทางวิชาการแล้วจะแบ่งคำนี้เป็น 2 อย่าง คือ ชื่อเมืองในจารึกและวัฒนธรรมทวารวดี
ก่อนจะพูดต่อไปว่า “เมืองศรีเทพ” ้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทวารวดี ตรงที่ เมืองทวารวดีที่เราคิดกันว่าอยู่ที่ไหน น่าจะอยู่ตรงที่ศรีเทพนี่แหละ เนื่องจากทวารวดีเป็นเมืองของพระกฤษณะ พื้นที่อื่น ๆ ที่คาดคะเนว่าใช่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางจนถึงตอนบนไม่ปรากฏเทวรูปพระกฤษณะ ยกเว้นที่นี่ ซึ่งมีเยอะมากกว่า 100 ตัว
จึงทำให้ทราบได้ว่า “ทวารวดี” เกี่ยวข้องกับ “ศรีเทพ” แต่ก็ยังต้องหาคำตอบกันต่อไปว่าศรีเทพนั้นเป็นศูนย์กลางของทวารวดีหรือไม่…
✨ ศรีเทพเกิดขึ้นมาได้เพราะ “แม่น้ำป่าสัก” จริงหรือ?
ศิริพจน์ พูดถึงประเด็นนี้ว่า จริง เพราะแม่น้ำป่าสัก ต้นทางจะไปโยงเข้ากับภาคอีสาน ทำให้เมืองศรีเทพมีเส้นทางในการพบกับทรัพยากรสำคัญ อย่างทองแดงและเหล็ก
แต่ที่น่าสังเกตและสำคัญคือ ศรีเทพกลับไม่ได้พึ่งพาแม่น้ำป่าสักมากขนาดนั้น เพราะไม่ได้ตั้งเมืองชิดกับแม่น้ำ ซึ่งทำให้เห็นถึงความเก่งกาจของเมืองศรีเทพ เพราะการที่ไม่ต้องพึ่งพาแม่น้ำป่าสักถึงขนาดตั้งเมืองใกล้ แปลว่าเมืองนี้มีการจัดการน้ำได้อย่างดี
✨ ศรีเทพสำคัญขนาดไหน?
ศิริพจน์ เล่าว่า ศรีเทพมีความสำคัญมาก จารึกที่ลพบุรีมีกล่าวถึง “ผีบรรพชน” หรือพระเชษฐบิดร โดยกษัตริย์เชื้อพระวงศ์ละโว้ คือ “พ่อปู่วาสุเทพ” ก็คือพระกฤษณะ ถือได้ว่าพระกฤษณะเป็นต้นตระกูลของเขา ซึ่งพระกฤษณะอยู่ที่ศรีเทพ
หากมาดูชื่อของอยุธยาและกรุงเทพฯ จะเห็นว่ามีคำว่า “ทวารวดี” อยู่ ซึ่งเชื่อมโยงได้ว่าอาจจะมีสาแหรกหนึ่งที่ตั้งต้นมาจากทวารวดี นับถือพระกฤษณะเป็นพระเชษฐบิดร และรูปพระเชษฐบิดรสายนี้พบที่ศรีเทพ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ก่อนที่ศิริพจน์จะปิดท้ายเรื่องราวเกี่ยวกับ “เมืองศรีเทพ” ไว้ว่า เมืองแห่งนี้ได้ล่มสลายลงเมื่อช่วงปี 1800 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรใกล้เคียงก็เริ่มถดถอยลงแล้ว และคนที่เคยอยู่ที่ศรีเทพก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองเสมา หรือสูงเนิน รวมไปถึงสุพรรณบุรี
หลังจากจบเรื่องราวของ “เมืองศรีเทพ” เพียงอึดใจเดียว ก็ต่อกันเลยที่เรื่องของ “Golden Boy” ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองที่เพิ่งได้รับมาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา
✨ “Golden Boy” คืออะไร?
ศิริพจน์เริ่มต้นพูดถึง Golden Boy ว่า Golden Boy เป็นประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง ค้นพบที่ปราสาทบ้านยาง อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์
เหตุที่ได้ชื่อว่า “Golden Boy” เป็นเพราะว่าเทคนิคการทำที่นำเอาทองคำผสมกับปรอทแล้วก็ป้ายลงบนเครื่องสำริด ซึ่งเทคนิคการทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้หากันง่าย ๆ จึงทำให้ Golden Boy มีความสำคัญมาก
✨ “Golden Boy” คือใครกันแน่?
หลังจากที่ได้พูดถึงประวัติคร่าว ๆ แล้ว ก็ถือโอกาสพูดถึงคำถามที่ยังคงเป็นที่ค้างคาสำหรับหลายคน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เล่าว่า…
หลังจาก The MET ได้ประติมากรรมชิ้นนี้มาเมื่อปี 2530 กว่าๆ ภัณฑารักษ์ก็ตรวจสอบดูว่าเป็นใคร ตอนแรกก็คาดว่าเป็นเทพเจ้า แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้ว ไม่มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกได้ว่าเป็นเทพองค์ใดเลย จะเป็นพระนารายณ์ ก็ไม่พบ 4 แขน หรือจะเป็น พระพรหมก็ไม่มี 4 หน้า หรือจะเป็นพระศิวะ ก็ไม่มีตาที่ 3 บริเวณหน้าผาก
จากที่พบมีการทำจากเทคนิคกะไหล่ทองอย่างดี ภัณฑารักษ์จึงเริ่มคิดไปว่า น่าจะเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งต่อมามีการคาดว่า น่าจะเป็น “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ เพราะพื้นที่ที่ค้นพบเป็นพื้นที่ปกครองเดิมของราชวงศ์ดังกล่าว
รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเชื่อเรื่อง “พระเชษฐบิดร” ที่ทำรูปสนองพระองค์แทนกษัตริย์องค์สำคัญที่ล่วงลับไปแล้วไปไว้ที่อยู่เดิม เพื่อให้ดูแลรักษาบ้านเมืองให้สงบสุข
เรื่องนี้ศิริพจน์ได้ยกตัวอย่างว่าปรากฏในไทยด้วยเช่นกัน จะเห็นว่ามีสร้างที่ประทับพระเจ้าอู่ทอง ที่วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นที่อยู่เดิมของพระเจ้าอู่ทอง เมื่อถึงประเพณีลอยกระทง กษัตริย์ก็ต้องล่องเรือไปสักการะบูชาพระเชษฐบิดร เพื่อให้ดูแลคุ้มครองบ้านเมืองอีกด้วย
นอกจากนี้ ศิริพจน์ยังพูดถึง “Golden Boy” ในแง่มุมของไทยและกัมพูชา รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมายมาย ใครสนใจสามารถมาชมความงามของ Golden Boy และประติมากรรมจากเมืองศรีเทพกันได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ใครที่อยากฟังท่องเที่ยวแนวประวัติศาสตร์ พร้อมฟังทอล์กเพิ่มความรู้ควบคู่กับความสนุก อย่าลืมมาเจอกันได้เลยที่งาน “มรดกสยาม ๓ สมัย” ตั้งแต่วันที่ 14-16 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00-20.00 น. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย ทางออกที่ 1 จากนั้นขึ้นรถ EV มาต่อ บริการฟรี! ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.30 น. ระหว่าง MRT สถานีสนามไชย – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร งานนี้ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย
อ่านเพิ่มเติม :
- เหตุใดประติมากรรมสำริด “Golden Boy” จึงไม่ใช่ “ทวารบาล”
- “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” หนึ่งในแคนดิเดต “Golden Boy” คือใคร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2567