ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “รัชกาลที่ 3” พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไฉน ส.ศิวรักษ์ ให้นิยามว่าเป็น “พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา” องค์สุดท้าย ?
ส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ปัญญาชนชาวไทย เจ้าของรางวัลอัลเทอเนทีฟโนเบล (Alternative Nobel) และรางวัลศรีบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2538 กล่าวไว้ในรายการ “เสมเสวนา : จักรีปริทัศน์ รัชกาลที่ 3 ตอนที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาองค์สุดท้าย” ตอนหนึ่งว่า
“ผมว่าท่านเก่งในฐานะที่เป็น ‘พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา’ องค์สุดท้าย”
ที่ส.ศิวรักษ์ กล่าวเช่นนั้น เพราะเมื่อพิจารณาพระราชประวัติและการบริหารราชการแผ่นดินในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แล้ว จะเห็นความเป็นจารีตหรืออนุรักษนิยมอันมีต้นแบบจากสมัยอยุธยาอย่างเข้มข้น ก่อนจารีตประเพณีแบบดั้งเดิมทั้งหลายจะค่อย ๆ ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสมัยใหม่มากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4-5
ส.ศิวรักษ์ ยกย่องรัชกาลที่ 3 ว่า “รักษาความเป็นอยุธยาไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง” ดังเห็นจากด้านพระราชประเพณี พิธีกรรม พระองค์จะยึดถือตามแบบอยุธยาทั้งหมด ตั้งแต่การออกว่าราชการแบบไม่สวมฉลองพระองค์ (เสื้อ) เพราะทรงถือว่าเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ
ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า “ท่านถือว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องอนุวัต (ประพฤติตาม) การแต่งเนื้อแต่งตัวตามธรรมชาติ… หน้าหนาวถึงจะใส่เสื้อได้ ใครใส่เสื้อ (เข้าเฝ้า) ท่านกริ้วมาก ท่านเชื่อว่าประเพณี จารีต ‘ฤตุ’ (ฤดู) กับ ‘ฤต’ (ธรรมเนียม) ต้องไปด้วยกัน”
ตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 สืบเนื่องถึงรัชกาลที่ 3 เราจะพบความพยายามในการ “จำลอง” กรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยามาไว้ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 3 คือช่วงเวลาที่ชนชั้นนำสยามบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือสามารถทำให้กรุงเทพฯ เป็นราชธานีแห่งใหม่ที่ทดแทนการเสียกรุงฯ ได้อย่างสมบูรณ์ จนอยู่ในจุดที่ว่า “เราจะไม่กลับไปกรุงศรีอยุธยาอีกแล้ว”
ดังจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เต็มไปด้วยกิจการด้านวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตลอดจนจิตรกรรมต่าง ๆ จากวิสัยทัศน์สมัยบ้านเมืองยังดีมีวัดวาอารามมากมาย ฉะนั้น ต้องเพิ่มวัดวาอารามให้กรุงเทพฯ เหมือนกรุงเก่า นำมาสู่การสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่งทั้งในและนอกเขตพระนคร รวมถึงการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ด้วย
แม้จะมีสงครามขนาดใหญ่หลายศึกตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เช่น สงครามปราบเจ้าอนุวงศ์ สงครามกับญวนที่เรียกว่า “อานามสยามยุทธ” และการปราบปรามหัวเมืองมลายู แต่ความมั่งคั่งจากการค้าขายด้วยเรือสําเภา ทําให้การก่อสร้างวัดวาอาราม และอาคารสถานที่ต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ตัวเมืองลงไปทางทิศใต้ อันเป็นย่านการค้ากับต่างประเทศ
ตัวตนของ “กรุงเทพฯ” ในแบบที่ข้ามพ้นความเป็นกรุงศรีอยุธยา จึงกระจ่างชัดในสมัยรัชกาลที่ 3 นี่เอง
อีกตัวอย่างในความเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ที่ปรากฏให้เห็นคือ กรณีการห่มจีวรของพระสงฆ์ในสมัยนั้น ดังที่ ส.ศิวรักษ์ เล่าว่า
“ท่านอนุรักษนิยมมากทีเดียว ก่อนสวรรคตยังเป็นห่วงเรื่อง ‘พระห่มแหวก’ เขียนจดหมายถึงน้องชาย (รัชกาลที่ 4) ว่าพระกรุงศรีอยุธยา ‘ห่มคลุม’ (คลุมไหล่) มาตลอด ตอนนี้จะมาห่มแหวกแบบมอญ-พม่า เป็นที่น่าเสียใจ คนจะจำแผ่นดินท่านว่าเป็นแผ่นดินที่เมืองไทยกลายเป็นเมืองมอญไป”
อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 3 ยังทรงยึดมั่นในอุดมการณ์ของรัฐที่สถาปนาขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 นั่นคือแนวความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์บนรากฐานพระพุทธศาสนาใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสมัยอยุธยา เพราะมีความเป็นมนุษยนิยมและเหตุผลนิยมมากขึ้น ด้วยการวางพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีตามคติศาสนา
กล่าวได้ว่า ความเป็น “พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา” ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นสุดที่รัชกาลที่ 3 เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงธรรมเนียมในราชสำนักหลายอย่าง ทรงรับค่านิยมสมัยใหม่อย่างตะวันตกเข้ามา เพื่อแสดงออกถึงความเป็นอารยประเทศให้ประจักษ์แก่ชาวต่างชาติ รวมถึงระบอบกษัตริย์นิยมแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถูกปรับให้เท่าทันโลกมากยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อรับมือการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระนั่งเกล้าฯ” พระราชนัดดาองค์โปรดใน ร.1 ด้วยมีพระพักตร์คล้ายกัน?
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กษัตริย์ผู้ปราศจาก “ช้างเผือก” ไร้ช้างแก้วประจำรัชกาล
- 31 มี.ค. วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.silpa-mag.com/history/article_42217
https://www.youtube.com/watch?v=JzhgFOFg0Co
ปวีณา หมู่อุบล. (2567). อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2567