ทำไมกองทัพไทยสั่ง “ยึด รพ.จุฬาฯ” ในสงครามมหาเอเชียบูรพา

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยึดโรงพยาบาลจุฬาฯ
ภาพมุมสูง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ภาพจาก 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)

หนึ่งในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คือ ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) กองทัพไทยออกกฎอัยการศึก “ยึดโรงพยาบาลจุฬาฯ” เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2488 

การยึดโรงพยาบาลจุฬาฯ ในครั้งนั้น กองทัพแจ้งเหตุผลว่า ทหารจำเป็นต้องใช้สถานที่พยาบาลเพิ่ม 

ตั้งแต่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา นอกจากการรักษาพยาบาลตามปกติ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลยังทำหน้าที่บรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามอีกด้วย เช่น เมื่อปี 2485 ที่เครื่องบินโจมตีพระนครเป็นครั้งแรก มีผู้บาดเจ็บมารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาฯ กว่า 100 คน

ปี 2487 หลังการโจมตีทางอากาศและทิ้งระเบิด 11 ครั้ง ในกรุงเทพฯ มีผู้ประสบภัยทางอากาศมารักษารวม 247 คน

ปี 2488 ปีสุดท้ายของสงคราม สภากาชาดไทย ใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อดูแลรักษาพยาบาลทหารพันธมิตร, เชลยศึก และช่วยผู้อพยพหลบภัยจากต่างประเทศ จนบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยร่วมกันบริจาคเงินราว 102,000 บาท ผ่านกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยบริจาคเอง 100,000 บาท เพื่อสมทบทุนอาสากาชาดบรรเทาภัยทางอากาศ และสงเคราะห์ผู้ประสบภัย

18 สิงหาคม 2488 สงครามสงบลง ญี่ปุ่นส่งเชลยศึกหลายสัญชาติจากค่ายต่างๆ มอบให้สภากาชาดไทย ดูแลรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

วันที่ 4 กันยายน 2488 กองทัพไทยสั่ง “ยึดโรงพยาบาลจุฬาฯ” แต่ 4 วันให้หลัง กองทัพก็ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 8 กันยายน 2488 ซึ่งแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

100 ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พ.ศ. 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2567