ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
บัตรประจำตัวประชาชน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าบัตรประชาชน เป็นเอกสารสำคัญของราชการ ผู้มีสัญชาติไทยทุกคนต้องมีเพื่อใช้ระบุตัวตน และใช้ติดต่อทำธุรกรรมทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แล้ว “บัตรประชาชน” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่
เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ที่คนไทยเริ่มมีการใช้หนังสือสำหรับยืนยันตัวบุคคลเป็นครั้งแรก เรียกว่า “หนังสือเดินทางสำหรับราษฎร” ปรากฏอยู่ใน พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ซึ่งกรมการอำเภอ (ปัจจุบัน คือ นายอำเภอ) ทำหน้าที่ออกหนังสือดังกล่าวให้ วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของราษฎรโดยตรง
เหตุผลก็เพราะว่า การมีหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรที่ออกโดยราชการ เพื่อแสดงตัวบุคคลว่าเป็นใคร มีที่อยู่ในท้องถิ่นใด ย่อมทำให้การเดินทางไปในท้องที่ต่างๆ เพื่อค้าขายติดต่อกัน เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า หนังสือเดินทางสำหรับราษฎรเป็นต้นเค้าของบัตรประชาชน
แล้ว “บัตรประชาชน” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่
“บัตรประชาชน” มาเกิดขึ้นจริงๆ ใน พ.ศ. 2486 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะนั้น ราชการเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องทำเอกสาร เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงตัวว่า บุคคลนั้นเป็นใคร มีรูปพรรณสันฐานอย่างไร มีถิ่นฐานอยู่ที่ไหน เพื่อประโยชน์ในการปกครองและดูแลราษฎร
รัฐบาลจึงออกกฎหมายว่าด้วยบัตรประชาชนขึ้นมาบังคับใช้เป็นครั้งแรก เรียกว่า พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พุทธศักราช 2486
ถึงอย่างนั้น ก็มีผลบังคับใช้เฉพาะราษฎร 2 จังหวัดเท่านั้น คือ จังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี โดยกำหนดให้บุคคลที่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน ต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จนถึง 70 ปีบริบูรณ์ และบัตรประชาชนมีอายุการใช้งาน 10 ปี
กว่าประชาชนคนไทยจะต้องมีบัตรประชาชนทั่วประเทศ ก็ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการปรับปรุงกฎหมาย เกิดเป็น พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505
บัตรประชาชนมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ทั้งเรื่องการกำหนดอายุผู้มีบัตรประชาชน ขนาดของบัตรประชาชน ฯลฯ จนกระทั่งเป็นอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- “ครับ-ค่ะ” เริ่มใช้เมื่อใด ส่องการปรับ “ภาสาไทย” ฉบับจอมพล ป. เพื่อความเป็น “ไทย” ?
- รัฐบาลจอมพล ป. จัดเก็บ “พาสีชายโสด” หวังเพิ่มประชากร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อริยพร โพธิใส. “สารพันปัญหากฎหมาย”. จุลนิติ พ.ย.-ธ.ค. 53
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567