โรงพิมพ์แห่งแรกของไทย เกิดสมัย “กรุงศรีอยุธยา” จริงหรือ?

ภาพเขียน กรุงศรีอยุธยา อยุธยา การจัดการน้ำในเมืองโบราณของไทย
ภาพวาดของชาวตะวันตกแสดงภาพกรุงศรีอยุธยาประมาณรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ในฤดูน้ำหลากที่น้ำท่วมพื้นที่โดบรอบ เหลือแต่เพียงเกาะเมือง

บันทึกของ ฟ. ฮีแลร์ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า “โรงพิมพ์แห่งแรกของไทย” เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ที่ตั้งของโรงพิมพ์อยู่ที่ตำบลเกาะมหาพราหมณ์ อันเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของชาวโรมันคาทอลิกในสยาม 

ประเด็นดังกล่าวนั้น ฟ. ฮีแลร์ บันทึกไว้ใน “การพิมพ์หนังสือในประเทศสยาม วรรณกรรม ฟ.ฮีแลร์: อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“…กล่าวกันว่า ที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้น ท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นไว้ด้วย นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์ชอบพระไทยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของท่านสังฆราชลาโน ถึงกับโปรดให้โรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรี เป็นส่วนกลางอีกโรงหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงแล้วพระเจ้าแผ่นดินต่อมาไม่โปรดของฝรั่ง การพิมพ์จึงเลยทรุดโทรมแต่นั้นมา”

นอกจากสังฆราชลาโนแล้ว ในปี 2213 บาทหลวงลังคลูอาส์ ก็คิดจะตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่ากระดาษและค่าจ้างคนงานในเมืองไทยมีราคาถูก จึงขอให้ทางฝรั่งเศสส่งช่างแกะตัวพิมพ์มาให้ ดังจดหมายของบาทหลวงลังคลูอาส์ตอนหนึ่งที่ว่า

“…ขอท่านได้โปรดช่วยหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องเถิดมิสซังเมืองไทยจะได้มีโรงพิมพ์ๆ หนังสือเหมือนที่เขาทำกันแล้วในมะนิลา, เมืองคูอา และเมืองมะเกานั้น”

นอกจากนี้เมื่อ โกษาปาน และคณะทูตเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ พ.ศ. 2228 ก็ได้เยี่ยมชมกิจการการพิมพ์ด้วย ดังบันทึกตอนหนึ่งว่า

“วันรุ่งขึ้นได้ไปดูโรงพิมพ์หลวง…ชั้นแรกผู้จัดการได้พาราชทูตไปดูเขาเรียงตัวหนังสือ…ช่างหยิบตัวหนังสือจากช่องที่ไว้ตัวพิมพ์เป็นแผนกๆ ทีละตัวๆ มาเรียงไว้ในรางเหล็กที่ถือไว้ในมือซ้ายด้วยความรวดเร็ว…ถัดจากเรียงพิมพ์แล้ว…ได้พาราชทูตไปดูวิธีพิมพ์ต่อไป…ต่อจากนั้นก็ได้ไปดูแท่นพิมพ์ ในเวลานั้นมีอยู่ 12 แท่น กำลังพิมพ์หนังสือทั้ง 12 เรื่อง…

ท่านราชทูตไต่ถาม…ถึงวิธีผสมหมึก วิธีจัดทำลูกหมึกสำหรับกลิ้งไปมาบนแผ่นกระดาษ ฯลฯ แล้วก็ซักถามถึงวิธีการทำกระดาษตั้งแต่ต้นจนกระทั่งใช้พิมพ์ได้ ตลอดวันนั้นราชทูตทำความเข้าใจวิธีการพิมพ์และวิธีพับกระดาษแล้วรวมเข้าเล่มและใส่ปกจนกระทั่งสำเร็จเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ใช้อ่านกันได้”

ทว่า วิชาการของฝรั่งเศสที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัย ไม่ใช่กิจการการพิมพ์ คนไทยที่ทรงส่งไปเรียนวิชาการของฝรั่งเศสก็ระบุว่า ให้ไปเรียนวิชาทำน้ำพุ, วิชาก่อสร้าง, วิชาช่างเงินช่างทอง เป็นหลัก

ส่วนคณะทูตกลับมาจากฝรั่งเศสในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2330 อีก 8 เดือนต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ก็เสด็จสวรรคต (11 กรกฏาคม พ.ศ. 2231) พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ก็ไม่โปรดฝรั่ง กิจการการพิมพ์ที่คณะทูตไปเยี่ยมชมมาจึงต้องยุติลง

ส่วนข้อสันนิษฐานว่า “โรงพิมพ์แห่งแรกของไทย” เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ แต่มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ยังไม่มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม 2565.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567