รู้หรือไม่  “วิสาขบูชาครั้งแรกของรัตนโกสินทร์”  เกิดขึ้นเมื่อใด

วิสาขบูชาครั้งแรกของรัตนโกสินทร์ การ ถวาย โคมตรา เป็น พุทธบูชา ใน วันวิสาขบูชา
จิตรกรรมฝาผนัง วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร อยุธยา ในภาพเป็นการถวายโคมตราเป็นพุทธบูชาในวันวิสาขบูชา

เราส่วนใหญ่รู้ว่า “วิสาขบูชา” คือวันเพ็ญ เดือน 6 เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในรอบปี เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แต่รู้หรือไม่ “วิสาขบูชาครั้งแรกของรัตนโกสินทร์” เกิดขึ้นเมื่อใด

การจัดงานฉลองวันวิสาขบูชาในประเทศไทย สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และมีการจัดสืบเนื่องมาในสมัยอยุธยา จนกระทั่งกรุงแตก ประเพณีดังกล่าวจึงเสื่อมไป แล้วสมัยรัตนโกสินทร์เกิดงานฉลองวันวิสาขบูชาขึ้นได้อย่างไร

Advertisement

ผู้จุดประกายให้เกิด “วิสาขบูชาครั้งแรกของรัตนโกสินทร์” คือ สมเด็จพระสังฆราช (มี)

พ.ศ. 2360 สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงวิสัชนาตอบพระราชปุจฉาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกี่ยวกับการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา ความตอนหนึ่งว่า

“…ในวันวิสาขบุรณมี คือวันเดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ เปนวันวิสาขนักขัตฤกษ์มหายัญญพิธีบูชาใหญ่ มีผลอานิสงษ์มากยิ่งกว่าตรัศสงกรานต์ เหตุว่า เปนวันสมเด็จพระสัมพัญญูพุทธเจ้าประสูตร ได้ตรัสรู้ ปรินิพพาน…

แลพระราชพิธีวิสาขบูชาอันนี้เสื่อมสูญขาดมาช้านานแล้ว หามีกระษัตริย์พระองค์ใดกระทำไม่ ถ้าได้กระทำสักการบูชาพระศรีรัตนไตรยในวันนั้นแล้ว ก็จะมีผลอานิสงษ์มากยิ่งนักอาจสามารถปิดประตูจตุราบายภูมิทั้ง 4…” 

รัชกาลที่ 2 จึงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีวิสาขบูชาเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ขึ้น โดยทรงกำหนดมีการพระราชพิธี 3 วัน (วัน 14 ค่ำ, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6) ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้หัวเมืองประเทศราชถือตามธรรมเนียมนี้ด้วย

ส่วนธรรมเนียมปฏิบัติในพระราชพิธีวิสาขบูชา มีดังนี้ พระราชทานโคมตามพระอารามหลวง, ให้ราษฎรจุดโคมตามประทีปตามบ้านเรือนเป็นพุทธบูชา, เกณฑ์ข้าราชการร้อยดอกไม้มาแขวนเป็นพุทธบูชาในวัดพระแก้ว, จุดดอกไม้เพลิงของหลวงที่หน้าวัดพระแก้ว, นิมนต์พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนาแก่ราษฎรตามพระอารามหลวง ฝั่งตะวันออก 10 วัด ฝั่งตะวันตก 10 วัด, เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง พระราชทานสลากภัต แล้วสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ

ถึงรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานที่พระสัตตมหาสถานรอบพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ และให้มีเทศนาปฐมโพธิ ส่วนวัดพระเชตุพนฯ ให้ตั้งตะเกียงรายรอบกำแพงแก้ว

ถึงรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์เจ้านายแลข้าราชการ “ตั้งโต๊ะเครื่อง” บูชาตามเฉลียงพระอุโบสถวัดพระแก้ว ต่อมาความนิยมในการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาซาลง จึงเปลี่ยนเป็น “การทำโคมตราตำแหน่ง” แขวนตามศาลารายและพระระเบียงรอบพระอุโบสถ ซึ่งยังคงปฏิบัติมาจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเป็บความจาก กาญจนา โอษฐยิ้มพราย. “โคมตรา พุทธบูชาแห่งคืนวิสาขปุรณมี” ใน, ศิลปากร ปีที่ 65 ฉบับที่ 3 พ.ค.-มิ.ย. 2565.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567