“กลิ่นเหม็นในกรุงเทพฯ” สมัยรัชกาลที่ 5-7 มีที่มาจากอะไรบ้าง?

ตลาด ใน กรุงเทพ กลิ่นเหม็นในกรุงเทพฯ
ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ไม่ระบุปีที่ถ่าย (ภาพจากหนังสือ Thailand : a country study จากเว็บไซต์ Library of Congress)

“กลิ่นเหม็นในกรุงเทพฯ” ปัจจุบันสืบเนื่องจากอะไร ไม่ต้องกล่าวถึงก็ทราบกันดีอยู่ หากในอดีตกรุงเทพฯ ช่วงรัชกาลที่ 5-7 อะไรที่ส่ง “กลิ่นเหม็น” ให้จมูกคนกรุงสมัยนั้นต้องทำงานหนักกันบ้าง? คำตอบจำแนกได้ 3 ประเภท คือ ขยะและน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล และ ซากศพ 

แต่ละรายการต่างมีศักยภาพและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์

“กลิ่นเหม็น” จาก ขยะและน้ำเสีย

ขยะและน้ำเสียในกรุงเทพฯ มี “กรมสุขาภิบาล” ทำหน้าที่รวบรวม, จัดเก็บ และทำลายขยะ ข้อมูลปริมาณขยะที่จัดเก็บ พ.ศ. 2441 มีประมาณ 13 ตัน/วัน ต่อมา ราว พ.ศ. 2460-65 ปริมาณขยะที่เก็บเพิ่มขึ้นเป็น 155 ตัน/วัน และมีการเทขยะลงในคลองของประชาชน ส่วนการทำลายขยะนั้น ใช้วิธีการนำไปถมตามจุดต่างๆ ของเมือง เพราะขาดแคลนงบประมาณและต้องการถมที่ลุ่มที่ต่ำภายในกรุง

ช่วงทศวรรษ 2460 ขยะจากตอนเหนือของกรุงเทพฯ นำไปถมบริเวณถนนราชดำเนิน ส่วนจากตอนกลาง เอาไปถมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากตอนใต้เอาไปถมที่วัดดอน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชุมชนโดยรอบเป็นอย่างมาก

พ.ศ. 2470 ฝรั่งที่อาศัยอยู่บริเวณถนนวิทยุ เข้าชื่อกันแจ้งว่า กรมนคราทรขนขยะไปเทที่สระใหญ่ในสวนลุมพินี ริมถนนวิทยุด้านตะวันออกตอนเหนือ (เพื่อถมที่สำหรับสร้างเป็นสนามโปโล) น้ำในสระเน่าเหม็นเกิดมีลูกน้ำและยุง การทิ้งขยะสระนี้ใหญ่มาก เพราะเอาขยะมาถม 2 ปีกว่าจะเต็ม พวกฝรั่งจึงย้ายหนีไปหลายคน รวมทั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตตัวแทนผู้เขียนจดหมายร้องเรียนก็ต้องย้ายออก

ขณะที่ “กลิ่นน้ำเสีย” ก็ไม่น้อยหน้า ผู้ที่อาศัยอยู่ริมคลองโอ่งอ่างเดือดร้อน เพราะเวลาน้ำแห้งเหม็นขี้โคลนกลิ่นของเน่าหมัก ที่คนทิ้งขยะต่างๆ จนเรือเกือบเดินเข้าออกไม่ได้, ถนนสี่พระยาและใกล้เคียง ท่อน้ำโสโครกเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่สะพานพิทยเสถียรไปจนถึงสะพานที่สถานทูตอังกฤษ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นที่ทำให้ผู้คนร่างกายทรุดโทรม

“กลิ่นเหม็น” จาก สิ่งปฏิกูล

หลังออก “ประกาศจัดการสอาดในจังหวัดพระนคร” (22 พฤษภาคม 2441) การขับถ่ายในที่โล่งเช่นคูคลอง, ถนนหลวง กลายเป็นสิ่งต้องห้าม งานสร้างส้วมสาธารณะจึงกลายเป็นภารกิจเร่งด่วนของกรมสุขาภิบาลอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ

ส่วนการจัดเก็บสิ่งปฏิกูล บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตจะรวบรวมสิ่งปฏิกูลจากส้วมสาธารณะ และส้วมส่วนตัวในวัง, บ้านของคหบดี ลงเรือไปเททิ้งตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางขุนพรหม, คลองบางกะปิ, คลองบางกอกน้อย ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆ ต่างเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นและมีการเสนอให้ใช้เรือกลไฟบรรทุกสิ่งปฏิกูลออกไปทิ้งในทะเล

สิ่งปฏิกูลอีกส่วนหนึ่งก็นำไปใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติในสวนผักทางตอนใต้ของพระนคร ซึ่งทุกครั้งที่ลมพัดโชยจากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงหอบเอากลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไปยังบ้านเรือนแถวบางรัก ศาลาแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ฝรั่ง” ทำให้มีการร้องเรียนให้ห้ามการปลูกผักโดยใช้ปุ๋ยจากสิ่งปฏิกูลในพื้นที่เหนือลมเหล่านั้น

กลิ่นจากสิ่งปฏิกูลอีกอย่างคือ “หมูเร่ร่อน” ที่เพ่นพ่านอยู่ในกรุงเทพฯ ตามวัดต่างๆ เช่น วัดปทุมคงคา, วัดสัมพันธวงศ์, วัดบพิตรพิมุข, วัดจักรวรรดิ, วัดชัยชนะสงคราม วัดสระเกศ ฯลฯ หมูกินอุจจาระที่ถานพระ (ส้วมของพระ) เป็นอาหาร กินเสร็จก็เที่ยวสะบัดหัวสะบัดหางจนอุจจาระกระเด็นเปรอะเปื้อนตามถนนหนทาง พระสงฆ์ส่วนใหญ่รู้สึกว่าหมูเป็นสาเหตุแห่งความสกปรกของวัด แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ถานพระสะอาด และถานไม่ล้น 

“กลิ่นเหม็น” จาก ซากศพ

นอกจากกลิ่นไหม้และควันไฟที่ลอยมาจากสถานที่เผาศพของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาท ยังมีกลิ่นจากซากศพล่องลอยมาจากหลุมศพของกลุ่มศาสนาอื่นๆ ซึ่งมีธรรมเนียมในการฝัง จากการสำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 มีจำนวนหลุมฝังศพในเมืองกรุงเทพฯ ทั้งสิ้นราว 15,884 หลุม

หลุมศพเหล่านี้ส่วนมากตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระนคร โดยเฉพาะสีลม บางรัก ถนนตก (บ้านทวาย) ถนนจันทน์ แม้หลุมฝังศพเหล่านี้ไม่มีปัญหามากนัก แต่บางสุสานที่ฝังศพตื้นเกินไป ทำให้สุนัขคุ้ยเขี่ย, ฝนตกชะเอาน้ำหนองไหลจากศพด้วย, กลิ่นจากพิธีล้างป่าช้าของกลุ่มการกุศลชาวจีน ฯลฯ

แม้ “กลิ่นเหม็นในกรุงเทพฯ” ที่กล่าวมา ไม่ได้เกิดจากสารเคมีที่มีอันตรายรุนแรงเหมือนปัจจุบัน เพราะเป็น “กลิ่นเหม็น” แบบ “ออร์แกนิค” แต่ก็ทรงอานุภาพและดูถูกไม่ได้เช่นกัน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

บทความนี้เขียนเก็บความจาก ผศ.ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “ ‘นาสิกประสาตภัย’ : ประวัติศาสตร์ของกลิ่นเหม็นในเมืองกรุงเทพฯ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2562.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2567