รู้หรือไม่ “ช้าง” คือ หนึ่งใน “สินค้าส่งออก” ที่ขึ้นชื่อของกรุงศรีอยุธยา

การจับช้าง การค้าช้าง ใน เพนียด
การจับช้างในเพนียด

หลักฐานจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 กล่าวว่า รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมี “การค้าช้าง” และม้าในกรุงสุโขทัย อย่างไรก็ดีการค้าช้างในยุคนั้นยังเป็นการค้าในวงจำกัด คือระหว่างชุมชนหรือเมืองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ การขนส่งลำเลียงค่อนข้างยุ่งยาก 

มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังเสียกรุงครั้งที่ 1 “การค้าช้าง” ขยับขยายถึงขั้นมี “การส่งออก” ทางทะเล 

พระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่า ครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำสงครามยุทธหัตถีมีชัยชนะทรงได้ช้างใหญ่สูง 6 ศอก มาถึง 300 ช้าง ช้างพลายและพังระวางเพรียวอีก 500 เชือก แต่ก็มีความจำเป็นในการใช้อยู่มาก ประกอบกับหัวเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งเมืองท่าของสยามถูกพม่ายึดไว้ตั้งแต่ครั้งเสียกรุง

การค้าช้างสมัยกรุงศรีอยุธยาสันนิษฐานว่าเริ่มขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ หรือรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาบ้านเมืองสงบสุข ถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หัวเมืองมะริด และตะนาวศรี เมืองท่าส่งออกสินค้าไปยังอ่าวเบงกอลกลับมาอยู่ในความควบคุมของอยุธยาโดยสมบูรณ์ ทำให้การส่งออกสินค้าต่างๆ รวมถึงช้าง เดินทางสู่ฝั่งตะวันตกได้สะดวกขึ้น

หนังสือ “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” บันทึกการเดินทางของคณะทูตอิหร่านที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวว่า ช้างเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งของสยาม ทุกปีพระมหากษัตริย์จะทรงจัดให้มีการคล้องช้าง โดยแต่ละครั้งจะจับช้างได้ราว 200-400 ตัว ช้างส่วนหนึ่งจะถูกฝึกให้เชื่องเพื่อใช้งานและส่งขาย

ตลาดค้าช้างใหญ่ที่สุดคือบริเวณรอบอ่าวเบงกอล ได้แก่ แถบเมืองท่าชายทะเลฝั่งตะวันตกของสยาม และฝั่งตะวันออกของอินเดีย ส่วนเมืองท่าหลักที่ส่งออกช้างจากสยาม คือ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี กับเมืองที่อยู่ในคาบสมุทรภาคใต้ฝั่งตะวันตก คือ ตรัง

จากเมืองท่าดังกล่าว ช้างจะถูกลำเลียงไปยังเมืองท่าฝั่งตะวันออกของอินเดีย โดยมีตลาดรับซื้อใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เมืองท่าของอาณาจักรเบงกอล และเมืองท่าแถบชายฝั่งโคโรแมนเดล ลงไปจนถึงศรีลังกา โดยช้างสยามที่ส่งออกไปจำหน่ายนั้น จะใช้เป็นแรงงานชักไม้ออกจากป่า เป็นพาหนะในการเดินทาง และทำสงคราม

ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง บันทึกความสำคัญการค้าช้างของสยามใน “ประวัติแห่งพระราชอาณาจักรสยาม” ว่า “…พระเจ้าแผ่นดินและบรรดาเจ้านายจับช้างได้เป็นอันมาก จึงทรงเลือกช้างงามๆ ไว้ใช้งาน และส่งเชือกที่เหลือไปเมืองมะริด เพื่อขายให้แก่พ่อค้า…และนำเอาผ้างามๆ จากเบงกอล เมืองสหรัตและประเทศเปอร์เซียมาแลกเปลี่ยน 

เกือบทุกปีมีการขายช้างอย่างน้อยห้าสิบเชือก การค้าช้างนี้แหละ ทำให้พระราชอาณาจักรสยามมีผ้าทุกชนิดมากมายซึ่งนำมาจากทุกภูมิภาคในเอเชีย นี่แหละความร่ำรวยอันแท้จริงของชาวสยาม ซึ่งอาศัยการค้าช้างและค้างาช้างจึงได้รับผลผลิตต่างๆ จากต่างประเทศ…”  

การค้าช้างของสยามส่วนใหญ่ดำเนินการโดยพ่อค้าแขก โดยเฉพาะพ่อค้าชาวอินเดีย เนื่องจากช้างสยามเป็นที่นิยมมากในอินเดีย ทั้งในเบงกอล และเดคคาน

“สำเภากษัตริย์สุไลมาน” บันทึกว่า ราคาช้างในสยามตกอยู่ราวตัวละ 7 ถึง 8 โตมาน (เงินอิหร่าน 1 โตมาน เทียบได้กับเงินอังกฤษประมาณ 3 ปอนด์เศษในช่วงเวลานั้น ราคาช้างหนึ่งเชือกจึงน่าจะอยู่ที่ 20-25 ปอนด์อังกฤษ) แต่ถ้าช้างรอดชีวิตจากการเดินทางและนำไปขายยังต่างประเทศจะได้ราคาถึง 30 โตมาน (ราว 100 ปอนด์) ราคาที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เป็นแรงจูงใจที่ทำให้พ่อค้าแขกอินเดียซื้อช้างสยามไปขาย 

การค้าช้างของสยามเฟื่องฟูอยู่หลายสิบปี ก็เริ่มซบเซาเมื่ออิทธิพลของชาวตะวันตกในราชสำนักสยามเพิ่มขึ้น การค้าที่เคยอยู่ในมือของพวกมุสลิมปลี่ยนไปอยู่กับชาวตะวันตก โดยเฉพาะคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ ที่ปรึกษาของสมเด็จพระนารายณ์ แทนที่อกามะหะหมัด หรือออกญาศรีเนาวรัตน์ ขุนนางมุสลิมเชื้อสายอิหร่าน ซึ่งถึงอนิจกรรมไปเสียก่อน

ฟอลคอนสนับสนุนการค้าของชาวตะวันตก แต่ขัดขวางการค้าของพวกมุสลิม จนเป็นเหตุให้พ่อค้าแขกไม่พอใจ และได้ร่วมกันต่อต้านการค้าของสยามที่ผ่านทางพ่อค้ายุโรป โดยไม่ยอมช่วยเหลือกระจายสินค้าของสยามในตลาดฝั่งตะวันตกเหมือนก่อน ทางการสยามก็ตอบโต้ ด้วยการยึดเรือสินค้าของมุสลิมในแถบเมืองท่าของสยาม ฯลฯ ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นประกาศสงครามแก่กัน ส่งผลให้การค้าระหว่างสยามกับรัฐต่างๆ ในอินเดียประสบภาวะชะงักงัน

ความขัดแย้งระหว่างสยามกับอินเดียช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ่อค้ามุสลิมจากอินเดียหันไปซื้อช้างจากหัวเมืองมอญและพม่า เช่น พะโค (หงสาวดี) ซึ่งกลายเป็นตลาดการค้าที่รุ่งเรืองขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 แถมยังมีราคาถูกกว่าช้างของสยามอีกด้วย

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้การค้าช้างซบเซาลง ก็เพราะความต้องการช้างในการใช้งานน้อยลง เนื่องจากรัฐมุสลิมชีอะห์ในแคว้นเดคคาน รวมทั้งอาณาจักรเบงกอล ได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรพรรดิโมกุลเสียแล้ว ทำให้ความต้องการช้างเพื่อใช้ในสงครามพลอยลดน้อยลงไปด้วย

การค้าช้าง ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ได้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางค้าขายที่เมืองตรังแทน เพราะทวาย มะริด และตะนาวศรี ถูกพม่ายึดไปได้ตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ 2 และการค้าช้างของหลวงคงยกเลิกไปในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการยกเลิกพระคลังสินค้า อันเป็นการยกเลิกระบบผูกขาดทางการค้าของราชสำนักนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

บทความนี้เขียนเก็บความจาก ดร. จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “ช้างเป็นสินค้า ค้าช้างสมันอยุธยา” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2547.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2567