กบฏแมนฮัตตัน ความพยายาม “รัฐประหาร” ที่ต้องเลื่อนถึง 5 ครั้ง จึงได้ลงมือ

ทหารเรือ รวมตัว เป็น คณะกู้ชาติ ก่อ กบฏแมนฮัตตัน ล้ม รัฐบาล จอมพล ป.
เรือหลวงศรีอยุธยาสถานที่กักตัว จอมพล ป. ใน "กบฏแมนฮัตตัน" (ภาพจากหนังสือ ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน)

“การรัฐประหาร” ในไทยเกือบทั้งหมดเป็นมี “ทหารบก” เป็นแกนนำสำคัญ หากครั้งหนึ่งมีกลุ่ม “ทหารเรือ” เป็นผู้ริเริ่มเรียกว่า “คณะกู้ชาติ” เพื่อล้มรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หากเบื้องหลังปฏิบัติการนั้น กลับต้องเลื่อน เลื่อน และเลื่อน ถึง 5 ครั้ง จึงได้ลงมือจริงในครั้งที่ 6 แต่ก็ล้มเหลวกลายเป็น “กบฏแมนฮัตตัน”

ที่เรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน” เพราะคณะกู้ชาติจี้ตัวจอมพล ป. ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ “แมนฮัตตัน” ที่ท่าราชวรดิฐ โดยผู้นำสำคัญของ “คณะกู้ชาติ” คือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน, น.อ. อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ, น.ต. มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์, น.ต. ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน ฯลฯ

เหตุที่แผนปฏิบัติการของ “คณะกู้ชาติ” ต้องเลื่อนหลายครั้งเนื่องจาก

ครั้งที่ 1 วันที่ 22 ตุลาคม ปี 2493 ซึ่งเป็นวันส่งทหารไปร่วมรบในสมรภูมิเกาหลีเป็นครั้งแรก ณ ท่าเรือคลองเตย คณะกู้ชาติมีแผนการควบคุมตัวจอมพล ป. และผู้บัญชาการที่มีอำนาจสั่งการ 3 เหล่าทัพและตำรวจ ในระหว่างพิธี

หากความตั้งใจที่จะปฏิบัติการครั้งแรกก็ต้องระงับไป ในวันนั้นคณะกู้ชาติได้ทราบว่า นายทหารสังกัดกรมสรรพาวุธทหารเรือคนหนึ่งนำแผนการไปแจ้งให้นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ เรื่องจึงรู้ไปถึง พล.ร.อ. สินธุ์ กมลานาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ จึงสั่งเตรียมการป้องกันดังกล่าว

ครั้งที่ 2 วันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 2493 ในงานแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างกองทัพบกกับราชนาวี ปกตินายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 3 กองทัพจะได้รับเชิญไปร่วมงาน คณะกู้ชาติได้วางแผนจู่โจมเข้าจับจอมพล ป. ตอนสายของวันแข่งขัน (ถึงเวลาแข่งขันจอมพล ป. ติดราชการไม่ได้มาร่วมงาน)

แต่ประมาณ 14.00 น. มีข่าวว่า ตำรวจจากโรงเรียนตำรวจปทุมวันมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ น.ต.มนัส จารุภา จึงรีบไปสังเกตการณ์ พบกำลังตำรวจประมาณ 2 กองร้อยพร้อมอาวุธเคลื่อนไปตามถนนเพลินจิต แล้วเลี้ยวเข้าซอยหลังสวน สันนิษฐานว่า “ข่าวรั่วไหล” คณะกู้ชาติจึงให้ระงับปฏิบัติการ

ครั้งที่ 3 ต้นปี 2494 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก กำหนดจะทำพิธีแจกเข็มเสนาธิปัตย์และประกาศนียบัตร ณ ห้องประชุมกระทรวงกลาโหม โดยจอมพล ป. เป็นประธานในพิธี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 3 เหล่าทัพและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะต้องมาร่วมพิธี

เหตุที่เลื่อนครั้งนี้ เพราะนายทหารที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จับ จอมพล ป. เกิดไม่กล้าขึ้นมา เพราะเคยพลาดมาครั้งหนึ่งแล้วในกรณีกบฏเสนาธิการ (หรือกบฏ 1 ตุลาคม ปี 2491) จึงไม่มาตามนัด ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในสายนี้เสียกำลังใจ ไม่กล้าเสี่ยงกระทำการ จึงมีการแจ้งสั่งระงับ

ครั้งที่ 4 เดือนพฤษภาคม ปี 2494 ทางราชการได้จัดส่งทหารบกไปเกาหลีอีกรุ่นหนึ่ง ที่ท่าเรือคลองเตย คณะกู้ชาติรู้ก่อนที่เรือจะออกเพียง 3 ชั่วโมง สมาชิกคณะกู้ชาติจำนวน 6 คน ไปสังเกตการณ์ที่ท่าเรือก่อนเรือจะออกประมาณครึ่งชั่วโมง หากมีสารวัตรทหารเรือไปรักษาการณ์เพียงไม่กี่คน ผู้นำคนสำคัญ, นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ 3 เหล่าทัพมาอย่างครบถ้วน ขาดเพียง พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ เท่านั้น แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด ไม่มีความพร้อมทั้งกำลังคน, อาวุธ, เครื่องมือ แม้จะเป็นโอกาสที่ดี แต่คณะกู้ชาติก็เลือกที่จะระงับการลงมือ

ครั้งที่ 5 วันที่ 26 มิถุนายน ปี 2494 เป็นวันประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในทำเนียบรัฐบาล ระหว่างเวลา 10.00-13.00 น. คณะกู้ชาติมีเวลาวางแผนจู่โจมค่อนข้างละเอียด แต่เมื่อใกล้จะถึงเวลา 11.00 น. น.ต. ประกาย กลับบอกว่า “มีเหตุขัดข้องไม่สามารถนำกำลังนาวิกโยธินออกมาได้” ทำให้แผนการต้องล้มเหลวเป็นครั้งที่ 5

ด้วยขาดนาวิกโยธินซึ่งเป็นกำลังหลัก สุดท้ายจึงตกลงใจล้มเลิกแผนการทั้งหมด ทำให้บรรดาสมาชิกเริ่มระส่ำระสาย เพราะเกรงความลับจะถูกเปิดเผย บางคนขอถอนตัว เพราะหมดกำลังใจที่เห็นความไม่แน่นอนของสมาชิกบางคน และความล้มเหลว

ครั้งที่ 6 คืนวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2494 น.ต.มนัส จารุภา ติดต่อผ่านหัวหน้าสายให้ลงมือปฏิบัติการในบ่ายวันที่ 29 มิถุนายน และสิ้นสุดลงตอนเย็นวันที่ 1 กรกฎาคม อันเป็นการปฏิบัติการครั้งเดียวที่ได้ลงมือจริงๆ แต่ก็ล้มเหลว กลายเป็น “กบฏแมนฮัตตัน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก นิยม สุขรองแพ่ง. ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2529.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2567