จิม ทอมป์สัน “ราชาไหมไทย” กับปริศนาการหายตัวลึกลับ ไร้คำตอบถึงทุกวันนี้

จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทย
จิม ทอมป์สัน (Jim-Thomson) ภาพจากหนังสือ จิม ทอมป์สัน “ราชาไหมไทย” หรือ “สายลับ”, สนพ. มติชน

จิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันที่เข้ามาปลุกวงการผ้าไหมไทยให้คึกคัก สร้างชื่อให้ผ้าไหมไทยดังไกลทั่วโลก กระทั่งได้รับการขนานนามว่า “ราชาไหมไทย” มีวาระสุดท้ายของชีวิตที่ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะหายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอยจาก มูนไลท์ คอทเทจ เกาะปีนัง เมื่อ 50 กว่าปีก่อน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นปริศนาว่าเขาหายไปไหน?

ชีวิตของจิม ทอมป์สัน ผ่านงานหลายอย่าง ทั้งสถาปนิก การร่วมเป็นกองกำลังป้องกันภัยแห่งเดลาแวร์ ทำงานในหน่วยสืบราชการลับ OSS (Office of Strategic Services ต่อมาคือ Central Intelligence Agency หรือ CIA) ถูกส่งไปปฏิบัติงานในหลายประเทศทั่วโลก

จุดนี้เองทำให้หลายคนสงสัยว่า เขาคือ “สายลับ CIA” ด้วยหรือเปล่า?

ภารกิจที่เกี่ยวพันกับการสืบข่าวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เขาโดยสารเครื่องบินทหารเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามพอดี

แม้สงครามจะจบ แต่จิม ทอมป์สัน ยังคงใช้ชีวิตในไทย เมื่อมีโอกาสเดินทางไปหลายภูมิภาคในไทยก็ตกหลุมรัก “ผ้าไหมไทย” ที่มีเอกลักษณ์ความงดงาม ทั้งภูมิปัญญาการทอผ้า ลวดลาย สีสัน จึงเริ่มสะสมผ้าทอพื้นบ้าน และศึกษาเรื่องผ้าไหมไทยอย่างลึกซึ้ง กระทั่งเริ่มทำธุรกิจผ้าไหมไทย ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในไทยและทั่วโลก จนได้รับฉายาว่า “ราชาไหมไทย”

จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทย พัก มูนไลท์ คอทเทจ คาเมรอนไฮแลนด์
มูนไลท์ คอทเทจ ที่พักสุดท้ายของจิม ทอมป์สัน (ภาพ: Roysouza via Wikimedia Commons)

จิม ทอมป์สัน กับเค้าลางการถูกลักพาตัว?

ปรามินทร์ เครือทอง นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวของจิม ทอมป์สัน เล่าไว้ในบทความ “สะกดรอย จิม ทอมป์สัน ‘ราชาไหมไทย’ หรือสายลับ?” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2544 ไว้ว่า

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงหลัง 6 ตุลาคม ปี 2519 สังคมไทยเกิดคดีลอบฆ่า ลักพาตัว หายสาบสูญ แบบอธิบายไม่ได้อยู่มากมาย บริบทการเมืองช่วงนั้น สหรัฐฯ มีบทบาทในภูมิภาคนี้ และเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยกำลังทำสงครามปราบคอมมิวนิสต์

ช่วงสุดท้ายของชีวิตก่อนหายตัวไปนั้น อาจเล่าได้ตั้งแต่เมื่อเขานัดพบ ดร.ที จี หลิง ชาวจีน และ เฮเลน ภรรยาชาวอเมริกันของหลิง เพื่อไปพักผ่อนที่รีสอร์ตใจกลางป่าดงดิบอย่าง “มูนไลท์ คอทเทจ” ในคาเมรอน ไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเขาเคยไปมาแล้ว 2 ครั้ง

วันที่ 23 มีนาคม ปี 2510 ราชาไหมไทยในวัย 61 ปี เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปพร้อมกับ คอนสแตนซ์ (คอนนี) มังสเกา เพื่อนเจ้าของร้านค้าของเก่าในกรุงเทพฯ เมื่อทั้งคู่ถึงปีนัง พักค้างคืนที่เมืองจอร์จ ทาวน์ จิม ทอมป์สันไม่สนใจจะนั่งรถชมเมือง แต่กลับตรงดิ่งไปที่พักเพราะต้องการตัดผม ทำให้มังสเกาแปลกใจนิดหน่อย

เช้าวันรุ่งขึ้น ทั้งคู่เตรียมตัวออกเดินทางไปตามนัด ระหว่างทางมีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างนั่งรถแท็กซี่จะไปท่าเรือ อยู่ๆ คนขับก็หยุดรถ แล้ววิ่งหายไป กลับมาอีกครั้งพร้อมคนขับรถคนใหม่ โดยบอกว่าคนนี้จะมาทำหน้าที่แทน

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นที่เมืองทาปาห์ เป็นจุดที่รถต้องเริ่มไต่เขาเพื่อไปยังมูนไลท์ คอทเทจ ทั้งคู่ถูกขอให้ไปนั่งรถคันใหม่รวมกับชาวจีน 2 คนที่นั่งอยู่ก่อนแล้ว แต่จิม ทอมป์สันและมังสเกาปฏิเสธ ในที่สุดชาวจีนก็ยอมลงจากรถ เหตุการณ์นี้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นความพยายามลักพาตัว แต่ไม่สำเร็จ

หลังจากเดินทางถึงที่พัก วันรุ่งขึ้น ดร.หลิง เฮเลน จิม ทอมป์สัน และมังสเกา ตกลงกันว่าจะไปสโมสรที่สนามกอล์ฟ มังสเกาและเฮเลนขับรถไป ส่วน ดร.หลิงกับจิม ทอมป์สันจะเดินไป ปรากฏว่าระหว่างเดิน ดร.หลิงสะดุดรากไม้เอ็นเคล็ด แต่เขาก็พา ดร.หลิงไปยังสโมสรได้สำเร็จ

วันต่อมา จะเป็นวันที่ทุกคนจดจำไปชั่วชีวิต

“ราชาไหมไทย” กับปริศนาการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

ปรามินทร์ เล่าในบทความอีกว่า วันที่ 26 มีนาคม ปี 2510 ซึ่งเป็นวันที่สองของการพักผ่อน ทั้งสี่เริ่มต้นด้วยการไปโบสถ์ เนื่องจากเป็นวันอีสเตอร์ จิม ทอมป์สันขอเดินลงเขาไปคนเดียว แล้วนัดเจอกับคนอื่นๆ ที่ขับรถมาจุดนัดพบใกล้สนามกอล์ฟ เมื่อเสร็จพิธีที่โบสถ์แล้วทุกคนก็กลับที่พัก เพื่อเตรียมตัวไปปิกนิกช่วงบ่ายบนที่ราบเนินเขาแห่งหนึ่งไม่ห่างจากที่พัก

ปิกนิกบนเนินเขาไม่สนุกอย่างที่คิดไว้ หลายคนให้การหลังเกิดเหตุว่า จิม ทอมป์สันดูเหมือนอยากกลับที่พักเร็วๆ ไม่กินเบียร์ และแทบไม่กินอะไรตอนปิกนิก จัดแจงเก็บข้าวของลงตะกร้า ทั้งที่เพื่อนๆ ต้องการจะพักผ่อนสักนิดหลังอาหาร ทำให้ปิกนิกต้องเลิกเร็วก่อนกำหนด และกลับถึงที่พักประมาณบ่ายสอง

ช่วงบ่าย ทุกคนเตรียมตัวเก็บของเพื่อจะเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น มังสเกาและ ดร.หลิง นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ห้องนั่งเล่น ก่อนหน้านี้ ดร.หลิงและเฮเลนยืนยันว่า ได้ยินเสียงจิม ทอมป์สัน ออกไปเดินเล่นนอกบ้านราวๆ บ่ายสามโมง ที่เฉลียงนอกบ้าน ยังมีเสื้อสูท บุหรี่ ไฟแช็ก และกล่องยาประจำตัวของเขาอยู่ที่เก้าอี้นอกบ้าน

จนกระทั่ง 5 โมงเย็น จิม ทอมป์สันก็ยังไม่กลับมา ทุกคนเริ่มเป็นห่วง แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะเป็นนิสัยปกติของเขาที่ชอบเดินเล่น และเจ้าตัวก็มีความชำนาญและคุ้นเคยกับป่าแถบนี้เป็นอย่างดี

เวลาล่วงเลยถึง 1 ทุ่มครึ่ง จุดนี้ทำให้ทุกคนคิดว่าอาจมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นแล้ว เพราะป่าด้านนอกมืดและหนาว ไม่เหมาะกับการเดินเล่นอีกต่อไป หลังจากนั้นปฏิบัติการค้นหาจิม ทอมป์สัน ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน มีการระดมทหารและเฮลิคอปเตอร์ออกค้นหา รวมเบื้องต้นมีคนออกค้นหาไม่น้อยกว่า 400 คน

ปรามินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจิม ทอมป์สัน จะออกไปเดินเล่น ทำไมถึงได้ทิ้งเสื้อ บุหรี่ และกล่องยาไว้ ทั้งที่มีอากาศค่อนข้างเย็น ทั้งเขายังเป็นคนสูบบุหรี่จัด และมีโรคประจำตัวที่ต้องพกยาติดตัวไว้ตลอด และถ้าเป็นอุบัติเหตุ หรือหลงป่า ทำไมถึงไม่มีร่องรอยใดๆ เช่น รอยเลือด เสื้อผ้า หรือร่องรอยในการเดินป่า ให้นายพรานท้องถิ่นหรือสุนัขค้นหาได้หาร่องรอยเจอ

“เหตุผลที่เหลือคือ ถูกลักพาตัว หรือฆาตกรรม ปัญหาคือ ใครทำ และทำไมถึงทำได้อย่าง ‘สะอาด’ ปราศจากร่องรอยขนาดนี้ ไม่มีเสียงร้อง ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เหตุผลจูงใจคืออะไร” ปรามินทร์ ตั้งคำถาม และทิ้งท้ายว่า

จนถึงวันนี้ บุคคลที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์นี้ต่างก็เสียชีวิตไปจนหมดแล้ว ไม่มีใครต้องการพูดถึงเรื่องนี้อีกจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ทุกๆ คนพร้อมใจกันนำความลึกลับในคดีนี้ติดตัวไปด้วย นี่คือตำนานที่จะเป็นปริศนาตลอดกาลของจิม ทอมป์สัน “ราชาไหมไทย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรามินทร์ เครือทอง. “สะกดรอย จิม ทอมป์สัน ‘ราชาไหมไทย’ หรือสายลับ?” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2544.

เว็บไซต์ Jim Thompson. https://www.jimthompson.com/en/jim-thompson-story.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2567