ผู้เขียน | รุ่งนภา พิมมะศรี |
---|---|
เผยแพร่ |
สืบเนื่องจากเมื่อมีการเผยแพร่กำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่าจะเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร ทำให้เกิดการเข้าใจว่า พระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะบรรจุในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม รวมกับพระบรมวงศานุวงศ์ราชสกุลมหิดล
ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่ถูกต้องตามราชประเพณีคือ พระบรมราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน บรรจุอยู่ใต้พุทธบัลลังก์พระประธานในพระอุโบสถวัดสำคัญในรัชกาล ไม่ได้บรรจุรวมกับพระบรมวงศานุวงศ์ในสุสานหลวง
สำหรับพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะทำพิธีบรรจุในวันนี้ จะบรรจุใต้ฐานพระพุทธอังคีรส พระประธานภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และใต้ฐานชุกชีพระพุทธชินสีห์ พระประธานภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
ทั้งนี้ราชประเพณีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่วัดสำคัญในรัชกาลนี้ เพิ่งเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อคราวพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ส่วนพระบรมราชสรีรางคารพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-4 นั้น เป็นไปตามราชประเพณีดั้งเดิมสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้ทำการเชิญไปปล่อยยังท่าน้ำวัดปทุมคงคาหรือวัดยานนาวา
จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงให้ยกเลิกธรรมเนียมการลอยพระบรมราชสรีรางคาร และทรงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารใต้พุทธบัลลังก์พระประธานในพระอุโบสถของพระอารามสำคัญในรัชกาลแทน
นับแต่นั้นมาพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่วัดสำคัญในรัชกาลก็เป็นพระราชประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
พระบรมราชสรีรางคารพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 บรรจุที่วัดสำคัญในรัชกาล ดังนี้
พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) บรรจุใต้ฐานพระพุทธชินราช(จำลอง) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ส่วนหนึ่งบรรจุใต้ฐานชุกชีพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร และอีกส่วนหนึ่งบรรจุที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์
พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 บรรจุเคียงกันใต้ฐานพระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) บรรจุใต้ฐานพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม
พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) บรรจุใต้ฐานพระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และใต้ฐานชุกชีพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร
ส่วนสุสานหลวงในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามนั้น เป็นสถานที่บรรจุพระราชสรีรางคารและพระสรีรางคารของพระบรมวงศานุวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ทุกราชสกุล ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงขึ้น เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใครห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรส พระราชธิดาได้อยู่รวมกันหลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว
ปัจจุบันในสุสานหลวงมีอนุสาวรีย์จำนวน 34 องค์
สำหรับอนุสรณ์ประจำราชสกุลมหิดลคือ เจดีย์ “รังษีวัฒนา” ซึ่งเป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคาร และพระสรีรางคาร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่าของในหลวง ร.9) สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พ่อของในหลวง ร.9 ต้นราชสกุลมหิดล) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี (สมเด็จย่า) และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นพระราชโอรส ราชธิดาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) รวมทั้งพระราชสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย (ลุงของในหลวงรัชกาลที่ 9) ก็บรรจุในเจดีย์นี้ด้วย
เจดีย์รังษีวัฒนาเป็นอนุสาวรีย์ที่สำคัญ 1 ใน 4 เจดีย์สีทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและพระราชทานแด่พระอัครมเหสี 4 พระองค์ เรียงตามลำดับจากทิศเหนือไปใต้ ดังนี้ องค์แรกพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) พระราชทานนามว่า “สุนันทานุสาวรีย์” องค์ถัดมาเป็นของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) พระราชทานนามว่า “รังษีวัฒนา” องค์ที่ 3 ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง) พระราชทานนามว่า “เสาวภาประดิษฐาน” และองค์ที่ 4 ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี) พระราชทานนามว่า “สุขุมาลนฤมิตร์”
ข้อมูลอ้างอิง
- เหมันต สีหศักกพงส์ สุนทร. “พระราชประเพณีในการเชิญและการประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” ใน งานพระเมรุ : ศิลปะสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง. สำนักพิมพ์มติชน, 2560
- ป้ายข้อมูลในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
- คู่มือสื่อมวลชนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ