ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“มนุษย์ควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว” นี่คือประโยคหนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับน้ำที่จำกันได้ แต่ในวิถีชีวิตปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเดิม หลายครั้งที่ต้องการดื่มน้ำมักต้องจบลงที่ “น้ำดื่มบรรจุขวด” ที่สะดวก และเชื่อถือได้ในความสะอาด
น้ำดื่มบรรจุขวด ในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อ แม็กซีน วูดฟีลด์ นอร์ธ (Maxine Woodfield North) สตรีชาวอเมริกันมาท่องเที่ยวเมืองไทย แล้วพบว่าน้ำดื่มที่มีอยู่นั้นสำหรับเธอไม่สะอาดเท่าที่ควร หลังจากนั้นประมาณปี 2499 เธอจึงกลับมาทำธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวดในไทย โดยตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดที่จังหวัดนนทบุรี และตั้งชื่อว่า “Northstar. Co. Ltd” หรือ บริษัท ดาราเหนือ จำกัด ส่วนน้ำดื่มที่ผลิตใช้ชื่อแบรนด์ว่า โพลารีส (Polaris)
ทว่า น้ำดื่มบรรจุขวด ที่ออกจำหน่ายกลับถูกมองเป็น “ของฟุ่มเฟือย”
ขณะนั้นน้ำที่ใช้ดื่มกันทั่วไป คือ น้ำบ่อ น้ำฝน และน้ำประปา หรือใครที่ใส่ใจเลือกสุขอนามัยสักหน่อย ก็นำน้ำดังกล่าวมาต้มก่อนดื่ม ที่สะดวกและย่อมเยากว่าน้ำดื่มบรรจุขวด นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมนิยมตั้งน้ำดื่มไว้ให้ผู้คนทั่วไปได้ดื่ม และยังสามารถขอน้ำดื่มจากชุมชนที่สัญจรผ่าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการให้แบบฟรีๆ
น้ำดื่มบรรจุขวดในระยะแรกจึงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคารเป็นส่วนใหญ่ แต่แล้วสถานการณ์ก็สร้างโอกาสทางธุรกิจ
ประมาณปี 2502 เมื่อกองทัพอเมริกาส่งทหารอเมริกันจำนวนมากเข้ามาพำนักในประเทศไทย ซึ่งเป็นเสมือนฐานทัพชั่วคราวในสงครามเวียดนาม ที่เป็นสงครามที่กินเวลานาน ทำให้เกิดความต้องการ “น้ำดื่มบรรจุขวด” เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทำให้ธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวดในเวลานั้น ได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ประกอบการ จนเกิดผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดรายใหม่จำนวนมาก ซึ่งบางรายก็ใช้วิธีลอกเลียนแบบชื่อ, เครื่องหมายการค้า และบรรจุภัณฑ์ของน้ำดื่มโพลารีส ที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาด จนกระทั่งแบรนด์ “โพลารีส” ถูกใช้เรียกแทนน้ำดื่มบรรจุขวดแบรนด์ต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง (เช่นเดียวกับที่ช่วงหนึ่ง เรียกผงซักฟอกว่า “แฟ๊บ”)
หลังจากนั้น น้ำดื่มบรรจุขวดก็ค่อยๆ ขยับฐานะในใจผู้บริโภค จากสินค้าฟุ่มเฟือย มาเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิต จากการเป็นวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ และคนในเมือง ก็เริ่มกระจายสู่ภูมิภาค
ปัจจุบันน้ำดื่มบรรจุขวดมีหลายแบรนด์ทั้งที่เป็นรายใหญ่ และแบรนด์ท้องถิ่น (แต่โพลารีสที่เป็นผู้บุกเบิกและเป็นเจ้าตลาดกลับเลิกกิจการไปแล้ว) ความสะดวก, ความใส่ใจเรื่องสุขอนามัย และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป การบริการน้ำดื่มฟรีแก่คนสัญจรไม่มีอีกแล้ว ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นที่นิยมทั่วไป และมีมูลค่าตลาดรวมราว 40,000 ล้านบาท เมื่อปี 2564
หากสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือ ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน “น้ำประปา” ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจในการดื่มหากไม่ผ่านการต้ม หรือกรองจากเครื่องที่บ้าน/โรงงาน
อ่านเพิ่มเติม :
- กังฮูเต๊ ศิลปะการชงชา ดื่มน้ำชา ที่แสดงอัตลักษณ์ของคนแต้จิ๋ว
- การจัดการน้ำสมัยโบราณของไทย เรื่อง น้ำท่วม ทำเลที่ตั้ง เป็นอย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
สิริอนงค์ ถนอมกุลบุตร. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดของผู้บริโภคในอําเภอพระนครศรีอยุธยา. การค้นคว้าอิสระ บธ.ม. (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2556.
จรัญยา กิติไพศาลนนท์, ปริชัย ดาวอุดม. “น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก: สิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงน้ำดื่มของคนเมือง” ใน, วารสารศิลปศาสตร์ราชมงคลสุวรรณภูมิ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2566).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2567