กำเนิดราชรถ พาหนะแห่งองค์พระราชา

ราชรถแบบต่างๆ ที่ใช้ในการเสด็จประพาสที่ต่างๆ ตามศักดิ์ของเจ้านายที่ใช้ทรง จากจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจากหนังสือ “เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ”)

ราชรถ หมายถึง พาหนะแห่งองค์พระราชา ในสมัยโบราณพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียว และเทียมด้วยม้า หรือสัตว์อื่นเช่นวัว หรือลา หรือล่อ หรือแม้แต่คน ตัว รถะ ทำด้วยไม้ที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม

กำเนิดราชรถ

ดินแดนที่มีอารยธรรมโบราณเกือบทุกแห่งทั่วโลก จะพบหลักฐานการใช้รถะหรือพาหนะทีมีรูปร่างคล้ายเกวียน หรือเป็นประทุน มีล้อตั้งแต่ ๒ ล้อขึ้นไป ใช้สัตว์เทียมลาก โดยมีประโยชน์ทั้งในการขนหรือบรรทุกของใช้ในการเดินทาง ใช้ในการล่าสัตว์ และใช้ในการแห่แหนอย่างเป็นพิธีการ เช่น กระบวนแห่ต่างๆ ภาพรถะปรากฏหลักฐานที่เก่าที่สุดในภาพงานศิลปะสุเมอร์อายุ ๓,๔๖๐-๑,๘๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชอันเป็นภาพของการใช้รถบรรทุกสินค้าไปขาย และราชรถของพระราชาซึ่งทรงกำลังรับเชลยศึก

จากนั้นต่อมาปรากฏในศิลปะอียิปต์ อายุ ๒,๖๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ถึง พ.ศ. ๕๑๓ ทั้งภาพเขียนบนผนังในวิหาร และภาพสลักในสุสานของกษัตริย์ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพรถศึกและราชรถที่กษัตริย์ฟาโรห์รามเลสที่ ๓ ทรงใช้ในการล่าสัตว์ และประพาสในที่ต่างๆ แบบรถะนี้เช่นเดียวกับที่ปรากฏในศิลปะกรีก อัสซิเรีย และโรมัน

ส่วนในทวีปเอเชีย ปรากฏภาพรถะในศิลปะอินเดียโบราณ เช่นภาพสลักสาญจี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ มีภาพสลักราชรถหลายภาพที่ซุ้มประตู หรือโทรณะ เช่นภาพพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จไปนมัสการพระสถูป ภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนพราหมณ์โทณะแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบนซุ้มประตูด้านทิศใต้ เป็นต้น

ศิลปกรรมอินเดียนั้นกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบแห่งศิลปะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นรูปแบบของศิลปกรรม วรรณกรรม และอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อจากอินเดียก็ได้แพร่เข้ามาในแถบนี้ด้วย เช่นเดียวกับการใช้รถะ หรือราชรถในราชสำนักและกองทัพ

สำหรับการใช้รถะในราชอาณาจักรไทย ปรากฏหลักฐานอย่างเด่นชัด งานศิลปกรรมเช่น ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง และภาพสลักบนหินและบนไม้ อันเป็นภาพเล่าเรื่องทศชาติชาดก และภาพรามเกียรติ์ดังที่พบภาพสลักบนทับหลัง หน้าบัน ของปราสาทหินศิลปะลพบุรี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ เช่นที่ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นต้น

ส่วนราชรถที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภายในโบสถ์วิหารสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ เช่นที่วัดเกาะแก้วสุทธาวาส และวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนหลักฐานด้านเอกสารพบทั้งในจารึก และวรรณคดีเรื่องต่างๆ อาทิ ปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิ รามเกียรติ์ และอิเหนา เป็นต้น โดยพบตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา


ข้อมูลจาก : หนังสือ “เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ”. กรมศิลปากร. ๒๕๓๙