ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
เผยแพร่ |
กลาสตันเบอรี แอบบีย์ (Glastonbury Abbey) โบสถ์คริสต์เก่าแก่ที่มีตำนานเล่าขานว่า เป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกบนเกาะอังกฤษ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษแรก และยังเชื่อกันว่า กษัตริย์อาร์เธอร์ (King Arthur) ในตำนาน “อัศวินโต๊ะกลม” ถูกฝังร่าง ณ โบสถ์แห่งนี้เช่นกัน
แต่ตำนานดังกล่าวถูกหักล้างโดยงานวิจัย ซึ่งกินเวลาราว 4 ปีของผู้เชี่ยวชาญ 31 คน นำโดย โรเบอร์ตา กิลคริสต์ (Roberta Gilchrist) ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีประจำมหาวิทยาลัยเรดดิง [1] ที่พบว่าตำนานดังกล่าวเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยบาทหลวงในศตวรรษที่ 12 เพื่อหารายได้เข้าโบสถ์เท่านั้น
“กลาสตันเบอรีเป็นสถานที่ที่น่าทึ่ง และเราไม่ได้ต้องการแย่งชิงความมหัศจรรย์ของมันจากใครหลายๆ คน สิ่งที่เราทำคือการพิจารณาบันทึกการขุดค้นที่ไม่มีการเผยแพร่ในยุคศตวรรษที่ 20 และหลักฐานอื่นๆ ที่หลงเหลืออยู่” กิลคริสต์กล่าว ทั้งนี้จากรายงานของเดอะการ์เดียน [2]
กษัตริย์อาร์เธอร์ และกลาสตันเบอรี แอบบีย์
กิลคริสต์และคณะได้ตรวจสอบหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีในช่วง ค.ศ. 1904-1979 ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ทั้งการตรวจสอบทางเคมี และการวิเคราะห์องค์ประกอบของกระจก โลหะ และเครื่องถ้วยชาม รวมทั้งทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์บนพื้นที่โบราณสถานดังกล่าวเสียใหม่อย่างครอบคลุม ซึ่งการศึกษาของเธอทำให้พบข้อขัดแย้งระหว่างตำนานกับข้อเท็จจริง
กลาสตันเบอรี แอบบีย์ และพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในบริเวณใกล้เคียง มักถูกเชื่อมโยงกับตำนาน “จอก ศักดิ์สิทธิ์” และ “กษัตริย์อาร์เธอร์” หนึ่งในตำนานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดเล่าว่า โจเซฟแห่งอริมาเธีย (Joseph of Arimathea หนึ่งในสาวกของพระเยซู ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ดูแลรักษา “จอกศักดิ์สิทธิ์” (Holy Grail) ได้เดินทางจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์มายังกลาสตันเบอรี และได้สร้างโบสถ์แห่งแรกขึ้น หลังแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการปักไม้เท้าลงบนผืนดินแห่งนี้ และไม้เท้าดังกล่าวก็ได้กลายเป็นต้นฮอว์ธอร์นที่ออกดอกบานสะพรั่งในทุกคริสต์มาสมากว่า 2,000 ปี ก่อนถูกนักเลงโค่นทิ้งใน ค.ศ. 2010 จนเป็นข่าวไปทั่วโลก [3]
แต่กิลคริสต์กล่าวว่า ต้นไม้ดังกล่าวเป็นเพียงต้นฮอว์ธอร์นธรรมดา ที่ออกดอกตามฤดูกาลในช่วงกลางฤดูร้อนและกลางฤดูหนาวตามธรรมชาติเท่านั้น มิได้มีหลักฐานบ่งชี้ความเก่าแก่ของมันย้อนไปถึงศตวรรษแรกแต่อย่างใด
ตำนานของโบสถ์แห่งนี้ เริ่มมาจากคำบอกเล่าของ วิลเลียมแห่งมาล์มสเบอรี (William of Malmesbury) นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 12 ซึ่งอ้างว่ามี “คนบอกกับเขา” ว่า โบสถ์ไม้โบราณของกลาสตันเบอรีถูกสร้างโดยบรรดาลูกศิษย์ของพระเยซู
“เป็นไปได้ที่โบสถ์ที่เขาเห็นจะเป็นโบสถ์ในยุคแองโกล-แซกซอน ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 7 หรือก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย ซึ่งสำหรับเขามันก็ดูเก่าแก่อย่างคาดไม่ถึงแล้ว แต่เขามิได้มีเจตนาที่จะระบุเวลาการก่อสร้างที่ชัดเจนแต่อย่างใด” กิลคริสต์กล่าวถึงคำบรรยายของวิลเลียม
เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวดั้งเดิมของวิลเลียมก็ยิ่งถูกแต่งเติมเข้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์อาร์เธอร์ ซึ่งกิลคริสต์เชื่อว่า บรรดานักบวชพยายามเชื่อมโยงตำนานดังกล่าวกับ กลาสตันเบอรี แอบบีย์ โดยหวังระดมทุนจากนักแสวงบุญ หลังเจอวิกฤติทางการเงินจากเหตุเพลิงไหม้ใน ค.ศ. 1184
โบสถ์ไม้ที่สร้างขึ้นใหม่หลังเหตุเพลิงไหม้ ถูกสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ดูเก่าแก่ยิ่งกว่ายุคที่มันถูกสร้างขึ้น และการอ้างว่าได้ค้นพบโลงศพพร้อมกางเขนตะกั่ว ที่สลักชื่อของกษัตริย์อาร์เธอร์และราชินีกวินิเวียร์ด้วยภาษาละติน ก็ยิ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือว่าโบสถ์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ฝังร่างของบุคคลในตำนานทั้งสอง
แต่กิลคริสต์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากภาพของกางเขนดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันตัวกางเขนได้หายสาบสูญไปหลายร้อยปีแล้ว เชื่อว่ากางเขนชิ้นนี้เป็นเพียงของปลอมที่ทำขึ้นอย่างประณีต โดยอาศัยต้นแบบมาจากกางเขนในยุคแองโกล-แซกซอน
“บรรดานักบวชต้องการระดมทุนด้วยการเพิ่มจำนวนผู้แสวงบุญ นั่นจึงเป็นที่มาของการรักษาตำนานและนิทานปรัมปราให้มีชีวิต…เราพบหลักฐานว่าพวกนักบวชได้วางแนวอาคารเพื่อเน้นให้เห็นถึงลักษณะความเป็นโบสถ์ในยุคที่เก่าแก่ที่สุดอย่างเห็นได้ชัด เพื่อยึดตำนานการสร้างโบสถ์ยุคแรกซึ่งอ้างว่าก่อสร้างโดยโจเซฟแห่งอริมาเธียมาครอบครอง” กิลคริสต์กล่าว (เดอะเทเลกราฟ) [4]
ความพยายามของคณะนักบวชแห่งกลาสตันเบอรีประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อเรื่องเกี่ยวกับ “กษัตริย์อาร์เธอร์” แห่งตำนาน “อัศวินโต๊ะกลม” ได้ทำให้โบสถ์แห่งนี้กลายเป็นโบสถ์ที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอังกฤษ เป็นรองเพียงเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในช่วงปลายยุคกลาง ซึ่งแม้แต่หลังการสั่งยุบอารามแห่งนี้ใน ค.ศ. 1539 โดยกษัตริย์เฮนรีที่ 8 (ซึ่งสั่งยุบอารามของคาทอลิกนับพันแห่ง เพื่อตัดขาดการครอบงำอำนาจจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก และทรงขึ้นเป็นประมุขคริสตศาสนจักรแห่งอังกฤษด้วยพระองค์เอง) ตำนานแห่งกลาสตันเบอรีก็ยังได้รับการถ่ายทอดต่อเนื่องมาหลายร้อยปีจนถึงยุคปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดผู้คนจากหลากหลายกลุ่มให้เดินทางมาเยือนพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้
ข้อสันนิษฐานของ ดร. เคิร์ตเนย์ อาร์เธอร์ ราเลห์ เรดฟอร์ด (Courtenay Arthur Ralegh Radford) นักโบราณคดีผู้ขุดค้น กลาสตันเบอรี แอบบีย์ ในช่วงทศวรรษ 1950 และทศวรรษ 1960 ซึ่งอ้างว่า ได้พบจุดที่เชื่อว่าเป็นหลุมฝังศพของกษัตริย์อาร์เธอร์ ที่กลุ่มนักบวชกลาสตันเบอรีเคยพบมาก่อน รวมไปถึงสุสานที่เก่าแก่ที่สุดของชาวคริสต์ในอังกฤษ และศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดของแซกซอนในพื้นที่เดียวกัน ยิ่งช่วยเสริมความน่าเชื่อถือของตำนานดังกล่าว
แต่กิลคริสต์ยืนยันว่า สุสานที่ ดร. ราเลห์ เรดฟอร์ด พบนั้น แท้จริงเป็นสุสานในยุคกลาง ขณะที่หลุมศพที่อ้างว่าเป็นของกษัตริย์อาร์เธอร์ ก็เป็นเพียงหลุมเศษซากอาคารในศตวรรษที่ 11-15 และจากการวิเคราะห์ทางธรณีฟิสิกส์ก็พบว่า กลุ่มรากฐานอาคารที่เรดฟอร์ดค้นพบก็มิใช่แนวกำแพงแต่อย่างใด จึงไม่อาจสรุปได้ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดของแซกซอนตามที่เขาเข้าใจ
“เป็นไปได้ที่วิจารณญาณของผู้ขุดค้นอย่างเรดฟอร์ดถูกบดบังด้วยตำนานเรื่องเล่าของโบสถ์ นอกจากนี้พวกเขายังตั้งข้อสงสัยในตัวแหล่งที่มาทางประวัติศาสตร์น้อยกว่าพวกเราในปัจจุบัน และยังขาดเทคโนโลยีที่หรูหราของศตวรรษที่ 21” กิลคริสต์กล่าว (ดิสคัฟเวอรีนิวส์) [5]
แต่การค้นพบของกิลคริสต์ก็ไม่ได้มีแต่ด้านลบไปเสียหมด เมื่อการตรวจหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีจากตัวอย่างเศษแก้ว 5 ชิ้นที่ถูกพบที่นี่ พบว่ามันมีอายุย้อนไปถึงประมาณปลายศตวรรษที่ 7 ถึงต้นศตวรรษที่ 8 เก่าแก่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เศษแก้วดังกล่าวถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการผลิตแก้วยุคแรกๆ ในอังกฤษ โดยคาดว่างานแก้วเหล่านี้ถูกนำมาติดตั้งไว้กับโบสถ์ที่ทำด้วยหินหลังแรกบนพื้นที่แห่งนี้ ขณะที่เดิม ดร. ราเลห์ เรดฟอร์ด ประเมินว่า เศษแก้วดังกล่าวน่าจะผลิตในศตวรรษที่ 10 และคาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวัสดุที่ใช้ในการรื้อสร้างอารามแห่งใหม่ โดยนักบุญดัสเตน (St. Dustan)
อ่านเพิ่มเติม :
- พบ “พระราชวัง”บนดินแดนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบ้านเกิดของ “กษัตริย์อาร์เธอร์”
- ต้นตอตำนาน “โลกิ” เทพนอร์สผู้แปลงได้ทั้งเพศและรูปโฉม ไฉนถึงขั้นเคย “คลอดลูก”?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] “Glastonbury Abbey : Archaeological Excavations 1904-1979”. Archeology Data Service. <http://archaeologydataservice.ac.uk/archives/view/glastonbury_ahrc_2014/>
[2] “Glastonbury myths ‘made up by 12th-century monks'” . The Guardian. <https://www.theguardian.com/science/2015/nov/23/glastonbury-myths-made-up-by-12th-century-monks>
[3] “Glastonbury Thorn chopped down as town rages over attack on famous tree”. The Guardian. <https://www.theguardian.com/environment/2010/dec/09/glastonbury-mourns-felling-thorn-tree>
[4] “Glastonbury legend was ‘fabricated by 12th century monks desperate to raise cash’”. The Telegraph. <http://www.telegraph.co.uk/news/newstopics/howaboutthat/12013336/Glastonbury-legend-was-fabricated-by-12th-century-monks-desperate-to-raise-cash.html>
[5] “Monks Made up King Arthur’s Legends to Raise Cash”. Discovery News. <http://www.seeker.com/monks-made-up-king-arthurs-legends-to-raise-cash-1770516476.html>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2561