โรงเรียนพระราชทาน โรงเรียนเพื่อเด็กด้อยโอกาส

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชปฏิสันถารกับนักเรียนโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรก จังหวัดนครพนม

หลายครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมประชาชนในชนบทห่่างไกลความเจริญ หรือประชาชนที่ยากไร้ สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยคือเด็กและเยาวชนในพื้นที่นั้นๆ พระองค์จึงได้ทรงริเริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับการศึกษา ตลอดจนการพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชดำริเป็นแนวทางในการดำเนินการ ฯลฯ เช่น

การพระราชทานความช่วยเหลือแก่ตำรวจตระเวนชายแดนในการจัดตั้งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่เกิน 10 คน มีตำรวจตระเวนชายแดนรับเป็นครูผู้สอน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอ่านออกเขียนได้ ปัจจุบันมีมากกว่า 200 แห่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อมีทางคมนาคมถึงชุมชน โรงเรียนมีการพัฒนาและมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะติดต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการประถมศึกษาให้รับโอนไปดำเนินการต่อ

การพระราชทานความช่วยเหลือแก่โครงการ “โรงเรียนร่มเกล้า” ที่กองทัพภาค 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ริเริ่มขึ้นสำหรับเยาวชนในชนบทห่างไกลที่มีความไม่สงบจากภัยต่างๆ โรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกก่อตั้งที่ตำบลดงหลวง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ต่อมามีการขยายโครงการไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย

นักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนราชประชาสมาสัยรอรับเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการก่อสร้างอาคารหลังที่ 2 วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2507 (ภาพจากrpsschool.ac.th)

พระราชทานความช่วยเหลือบุตรหลานของผู้ป่วยโรคเรื้อน (แต่ที่ไม่ได้เป็นโรคเรื้อน) เนื่องจากพระองค์ทรงสอบถามและทรงทราบว่า เด็กๆ บุตรหลายผู้ป่วยไม่มีโรงเรียนใดรับ เพราะกรมประชาสงเคราะห์จะรับแต่เด็กที่ไม่มีบิดามารดา กระทรวงสาธารณสุขก็มีแต่โรงเรียนเฉพาะเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนแล้ว ส่วนกระทรวงศึกษาในขณะนั้นก็ไม่มีโรงเรียนที่รับเด็กประเภทนี้โดยตรง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสว่า “เด็กเหล่านี้ควรมีที่เรียน” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โรงเรียนราชประชาสมาสัย” โดยรับนักเรียนอนุบาลรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2506

นี่คือส่วนหนึ่งของพระมหากรุณาธิคุณต่อเยาวชนที่ด้อยโอกาสในการเล่าเรียน

 


ข้อมูลจาก

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “พระเจ้าอยู่หัว พระราชกรณียกิจในด้านการศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2531

ประวัติโรงเรียน สืบค้นจากเว็บไซต์ rpsschool.ac.th


เผยแแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2561