เผยแพร่ |
---|
ร.5 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2411-2453) โปรดให้สร้าง เมรุ เผาศพอย่างถาวรด้วยปูนไว้ในวัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ
เมรุถาวรแห่งแรกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส ราวเกือบ 100 ปีมาแล้ว ยังสืบเนื่องใช้งานพระราชทานเพลิงศพจนทุกวันนี้ แต่เอกสารบางเล่มระบุว่ามี “เมรุปูน” วัดสระเกศ ใช้เผาศพแล้วตั้งแต่สมัย ร.3 เมรุเผาศพ ค่อยๆ แพร่เข้าไปอยู่ในวัดสำคัญๆ ในเมืองกรุงเทพฯ ช่วงเรือน พ.ศ. 2500 นานเข้าก็กระจายไปวัดราษฎรเล็กๆ ตามชานเมืองจนถึงวัดสำคัญของจังหวัด แล้วมีไปทั่วประเทศ
“เมรุลอย” ถอดได้ (แบบ Knock-down) ทำด้วยไม้ชิ้นเล็กๆ ย่อส่วน เลียนแบบเมรุหลวงของเจ้านายเพื่องานศพขุนนางและคนมีฐานะมั่งคั่งเลียนแบบพิธีหลวง ต่อมามีผู้ทำขึ้นเพื่อให้คนมีฐานะเช่าไปทำงานศพสามัญชนคนทั่วไป
แต่คนฐานะด้อยกว่าก็ทำเชิงตะกอนประดับประดาด้วยเครื่องแกะสลักเป็นลวดลาย เช่น จักหยวก-แทงหยวก เป็นต้น
ข้อมูลจากหนังสือ “งานศพยุคแรกอุษาคเนย์” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ.สำนักพิมพ์นาตาแฮก 2560.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ.2560