เมื่อเส้นทางทัพกู้ชาติของพระเจ้าตากฯ จากกรุงศรีฯ-ไปหัวเมืองตะวันออก อาจไม่ใช่อย่างที่คิด !?!

พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี

ประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญหนึ่งของชาติคือ การกอบกู้บ้านเมืองของพระเจ้าตากสินมหาราช จากเวลานั้นถึงวันนี้รวมเวลาประมาณ 250 ปี มีหลักฐานให้สืบค้นไม่น้อย ตั้งแต่พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ สิ่งที่ใช้หรือสร้างขึ้นในยุคนั้น เรื่องราวของชุมชนที่เกิดเหตุ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ท้าทายและเชิญชวนให้ติดตามยิ่ง

ส่วนที่จะชวนท่านผู้อ่านติดตามในวันนี้เป็นเพียงช่วงหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญนั้นคือ การเดินทางไปรวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองตะวันออก การเดินทางไปหัวเมืองตะวันออกอาจเป็นเพียงฉากหนึ่งของสงครามใหญ่ แต่เป็นฉากสำคัญที่มีผลให้สยามได้ชัยชนะ ซึ่งในช่วง 1-2 เดือนนี้ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” นำเสนออย่างต่อเนื่อง

เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่าน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม นำเสนอบทความชื่อ “พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก” โดย กำพล จำปาพันธ์ ที่ผู้เขียนค้นคว้าอย่างละเอียดกับเอกสารมากมายกว่า 50 รายการ ที่ทำให้เห็นว่าพระองค์ทรงเลือกหัวเมืองตะวันออก เพราะอุดมสมบูรณ์เรื่องทรัพยากร ทำให้มีการซ่องสุมกำลังเพื่อปล้นสะดมพ่อค้า โดยผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน เนื่องจากหัวเมืองชายทะเลอยู่ห่างไกลจากอำนาจการปกครองของรัฐส่วนกลาง ไพร่พลที่กวาดต้อนมาจำนวนไม่น้อยก็คือผู้คนเหล่านี้

ฉบับนี้ถ้าท่านใดพลาดการจับจอง ลองติดต่อที่ร้านมติชนบุ๊กคลับ ที่บริษัทมติชน น่าจะพอมีอยู่บ้าง

ส่วนเดือนกันยายน 2560 นี้ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เสนอบทความชื่อว่า “ข้อสังเกตเส้นทางออกจากกรุงฯ สู่หัวเมืองตะวันออก ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ” โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ข้อมูลที่ใช้เขียนบทความคราวนี้มาจากการลงไปดูพื้นที่จริงและพูดคุยกับผู้คนในชุมชน

ความเดิมตามข้อมูลการเดินทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉบับหมอบรัดเล, ฉบับพระราชหัตถเลขา, ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า พระเจ้าตากสินทรงมหาราชฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อคิดกู้เดินทางไปรวบร่วมไพร่พลจากหัวเมืองชายทะเลตะวันออก

แผนที่เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากสินมหาราช เปรียบเทียบจากข้อมูลในพระราชพงศาวดาร และข้อมูลสันนิษฐานใหม่

โดยเส้นทางคร่าวๆ เมื่อออกจากกรุงศรีอยุธยาดังนี้ ไป บ้านหารตรา บ้านโพธิ์สังหาร (อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ผ่านบ้านพรานนก บ้านบางดง หนองไม้ทรง เข้าเมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะ (อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) และศรีมหาโพธิ (จังหวัดปราจีนบุรี) แล้วเดินทางมาปากน้ำโจ้โล้ (อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) จากนั้นเดินทางต่อมาที่บางปลาสร้อย (จังหวัดชลบุรี) นาเกลือ พัทยา นาจอมเทียน ไก่เตี้ย สัตหีบ เข้ามาที่เมืองระยอง แกลง จนถึงจันทบุรี จนมาถึงบ้านทุ่งใหญ่ (จังหวัดตราด) หากวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ตั้งข้อสงสัยว่าเส้นทางเดินทัพดังกล่าว

เพราะการใช้เส้นทางเดินทัพตามพระราชพงศาวดารนั้นเสี่ยงเกินไป เสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับพม่า ทั้งผลของการเสี่ยงก็ดูจะไม่คุ้มทุนนัก โดยเฉพาะเส้นทางตามพระราชพงศาวดารบางช่วง คือระยะทางตั้งแต่ปากน้ำโจโล้ ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราจนถึงเมืองระยอง ที่กล่าวถึงการเคลื่อนทัพจากพานทอง มาบางปลาสร้อย ศรีราชา บางละมุง นาเกลือ…ก่อนเข้าเมืองระยอง

วลัยลักษณ์ให้เหตุผลว่า “หากจะเดินทัพผ่านไปยังบางปลาสร้อยและหัวเมืองชายฝั่งทะเล ซึ่งน่าจะมีประชากรอยู่ไม่มากและการเดินทางบกถือว่าห่างไกล แม้ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ก่อนจะมีความนิยมการพักผ่อนตามชายหาดทะเล การที่ทัพพระเจ้าตากสินฯ จะเดินทางผ่านไปยังบางปลาสร้อยแล้วเลียบทะเลไปยังบ้านนาเกลือ พัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ แล้วเดินทางไปเมืองระยองที่ย่านปากน้ำระยองหรือคลองใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางบกแต่เลียบชายฝั่งทะเลในระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตรอีกทั้งระยะทางไปยังนาเกลือ นาจอมเทียน และสัตหีบ เขตเมืองบางละมุงแล้วจึงวกเลียบชายฝั่ง ผ่านบ้านพลา มาบตาพุดเข้ามายังเมืองระยองยังเป็นการเดินทางที่อ้อมไกล มีชุมชนเบาบาง เพราะไม่ใช่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารและแหล่งน้ำ และโดยปกติผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ใช้วิธีการเดินทางไกลเช่นนี้ และกล่าวถึงนายกล่ำหรือนายกลมที่เป็นหัวหน้าชุมชนที่อยู่ห่างไกลมีกำลังไม่มาก ออกต่อต้านแต่กลายมาเป็นพวกในภายหลัง นำพาไปจนถึงพัทยา นาจอมเทียนในระยะทางที่ห่างกันกว่า ๑๐ กิโลเมตร และเป็นเส้นทางเลียบชายฝั่ง จากนั้นไม่ปรากฏนามอีกเลย” แล้วเส้นทางใด คือเส้นทางทัพที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกใช้

วลัยลักษณ์เสนอว่าน่าจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งโดยให้เหตุผลว่า
“หลังจากเสร็จศึกใหญ่ในแถบย่านอำเภอราชสาส์นปัจจุบันกับพม่าที่ประจำคุมอยู่ ณ ปากน้ำโจ้โล้ ทัพจากกรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าตากสินฯ น่าจะเลือกเดินทางโดยใช้แนวคลองหลวงหรือลำน้ำพานทองจากจุดที่เป็นต้นคลองพานทองที่เมืองพระรถในอำเภอพนัสนิคมปัจจุบัน ตัดไปยังชุมชนเก่าภายในอันเป็นเมืองสมัยทวารวดีเช่นกัน

ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางท้องถิ่นเก่าแก่ที่ใช้เดินทางเข้าสู่ชุมชนภายในและผ่านไปยังหัวเมืองและชายฝั่งทะเลทางตะวันออกได้ไม่ยาก และคนในพื้นที่น่าจะรู้จักการเดินทางเข้าสู่ชุมชนภายในแผ่นดินนี้ ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า ‘เมืองพญาร่ง’ ในอำเภอบ่อทอง แล้วตัดลงบ้านค่ายที่เป็นอำเภอบ้านค่าย ในจังหวัดระยองปัจจุบัน”

ถามว่าแล้ววลัยลักษณ์มีอะไรเป็นหลักฐานเราจึงควรเชื่อตามที่เธอเสนอ
ตอบได้คำเดียวว่า “เพียบ” ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากพื้นที่, สิ่งของ, เรื่องเล่าในท้องที่ ฯลฯ แต่โดยกฎ กติกาและมารยาท คงต้องขอให้ท่านผู้อ่านติดตามบทความฉบับเต็มจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายนนี้ที่จะชวนคุณตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เสมอๆ

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2560