จาก “เสรีไทยในสหรัฐอเมริกา” ถึง “วันสันติภาพไทย”

ภาพ “เสรีไทย” บางส่วนบนปกหนังสือ “ตำนานเสรีไทย” โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. พิมพ์ พ.ศ. 2546

หลังการรุกรานไทยของญี่ปุ่นในวันที่ 7-8 ธันวาคม 2484 จนต้องทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 25 มกราคม  2485 เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ปฏิเสธที่จะส่งคำประกาศสงครามต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงไม่ได้ประกาศสงครามกับประเทศไทย ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยด้วยความช่วยเหลือจากอเมริกา โดยการสรรหานักเรียนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยกิจการยุทธศาสตร์ (O.S.S.)

โดย O.S.S. ที่ได้รับการฝึกฝนมาทำงานร่วมกับขบวนการใต้ดินและหน่วยกำลังเตรียมที่จะแทรกซึมเข้าไปในประเทศไทย

ทางบรรดาคนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งจำนวนมากเป็นนักศึกษา ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่เมืองไทย เพราะเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นผู้รุกราน และในที่สุดญี่ปุ่นก็ต้องแพ้ต่อแสนยานุภาพของอเมริกา ฝ่ายไทยก็จะลำบากไปด้วย จึงมีการประชุมกันระหว่างสถานทูตกับคนไทยในสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาประมาณ 100 กว่าคน เพื่อหาแนวทางดำเนินงาน

ในที่สุด ทุกคนที่เข้าประชุมก็ตกลงตั้งกรรมการเสรีไทยขึ้น โดย มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต เป็นประธาน โดยมีการทำงานแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ การเมือง มีสถานอัครราชทูตรับผิดชอบ การทหาร หรือ กองทหารอาสาสมัครเสรีไทย มี พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับบัญชาฝ่ายไทย ด้านสหรัฐฯ มี พันตรี นิโคล สมิธ จากหน่วยกิจการยุทธศาสตร์ หรือ ชื่อย่อ O.S.S. เป็นผู้บังคับบัญชา นักศึกษาไทยได้ที่สมัครในกองทหารนี้ ได้รับการฝึกหลายประการ ที่เน้นในเรื่องการไปหาข่าวและจารกรรม

หลังจากนั้นได้แบ่งเป็นสองสาย คือ

สายที่ 1 นำโดย ม.ล. ขาบ กุญชร และ พ.ต. เคฟแลน นายทหารอเมริกา ได้เดินทางล่วงหน้าไปที่เมืองจุงกิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเจียงไคเช็ค และเป็นที่ตั้งของหน่วย O.S.S. ประจำประเทศจีน เพื่อจัดตั้งหน่วยต่อต้านในประเทศไทย

สายที่ 2 ทหารเสรีไทยที่เหลืออีก 19 คน นำโดย พ.ท. นิคอล สมิธ และนายทหาร O.S.S. 3 นาย เดินทางมายังค่ายฝึก 101 ของ O.S.S. ที่ตั้งอยู่ในแคว้นอัสสัมเพื่อฝึกเพิ่มเติม ภารกิจของหน่วยนี้คือการสืบเหตุการณ์ภายในประเทศไทยให้แก่หน่วย O.S.S. ส่งอาวุธและทหารมาช่วยฝึกแบบกองโจร การบ่อนทำลายกองทหารญี่ปุ่น ตลอดจนแลกเปลี่ยนข่าวกรองกับจีนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น รุ่นที่ 2 มีจำนวน 3 คน คือบุญมาก เทศะบุตร วิมล วิริยะวิทย์ อานนท์ ศรีวรรธนะ สมัครเข้าฝึกกับหน่วย O.S.S. โดยตรง ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษในประเทศไทย เพื่อหาทางติดต่อกับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย วิมล วิริยะวิทย์ เล่าถึงการฝึกว่า

“เพื่อรับภารกิจเร่งด่วน… ผมต้องฝึกการจารกรรมทั้งหมด การฝึกหนักมากเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้เข้าไปเป็นแนวที่ 5 (Fifth Column) ฝึกการใช้วิทยุรับส่ง… การจู่โจมข้าศึก และป้องกันตัวเองการฝึกเอาตัวรอดหรือให้อยู่รอด สอดแนม สะเดาะกุญแจ โจรกรรม ฯลฯ เป็นการฝึกที่หนักมาก ตื่นแต่เช้าตรู่ จมอยู่ในน้ำทั้งวัน แทบจะไม่รู้สึกว่าแดดร้อน น้ำจืดหรือว่าน้ำเค็ม…ร่างกายและจิตใจแข็งแกร่งขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะออกไปทำภารกิจที่แลกด้วยชีวิตกับความ สำเร็จ”

แม้ว่าเสรีไทยสายอเมริกาจะเดินทางถึงจุงกิง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2486 แต่เนื่องจากความไม่มั่นใจซึ่งกันและกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์กับ ม.ล. ขาบ ทำให้การปฏิบัติการในประเทศไทยต้องล่าช้าออกไป หลังจากนั้นเสรีไทยสายอเมริกา ได้มาตั้งฐานปฏิบัติการสำหรับส่งทหารเข้าปฏิบัติการ ในประเทศที่เมืองซือเหมา โดยชุดแรกออกเดินทางในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2487 ซึ่งประกอบด้วย

ปอล (โผน อินทรทัต) ซึ่งเป็นผู้อาวุโสอายุกว่าเพื่อนจะเดินทางโดยลำพัง เขาเป็นคนที่ได้รับการศึกษาทางวิชาทหารมากที่สุด เป็นคนผิวคล้ำ สูงขนาดธรรมดา …หน้าที่ของเขาคือหาทางเดินประจำจากชายแดนอินโดจีนไปอุตรดิตถ์ ศูนย์กลางทางรถไฟในภาคกลางสยาม เขาจะเป็นผู้ติดต่อกับผู้สื่อข่าวอื่น ๆ นำสิ่งของที่ต้องการไปให้ ถือเอกสารสำคัญที่ส่งทางวิทยุไม่ได้

แครี่ (การะเวก ศรีวิจารณ์) รู้จักชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างดี เขาเป็นคนขรึม กำลังกายปานกลางและรู้จักชั่งใจ พ.อ. ขาบถือว่าเขาเป็นสื่อสารดีที่สุด คู่ของเขา คือ ทาซานแซล (สมพงษ์ ศัลยพงศ์) ขี้โกรธและใจเร็ว ไม่กลัวใครหรือสิ่งใด ทั้งสองทำงานร่วมกันดี แครี่สามารถนำกำลังของแซลให้เป็นประโยชน์

เอียน (การุณ เก่งระดมยิง) เคยอยู่ลำปางหลายปี เคน (เอี่ยน ขัมพานนท์) และเอียนจะไปเข้าทำงานในเขตนี้ สองคนตรงกันข้ามทางจิตต์ เอียนช่างคิดและเป็นนักทฤษฎีแต่เคนเป็นนักปฏิบัติ เอียนเป็นสมาชิกไฟบีตาแคปปา ฝันแต่ในการหาวิธีทำเครื่องวิทยุให้ดีขึ้น และเคนเป็นวิศวกรรมเมคานิกซ์จะทำให้มันใช้ได้”

ในการเดินทาง ทุกคนแต่งตัวเป็นชาวพื้นเมือง มีเครื่องวิทยุขนาดเล็ก ซึ่งดัดแปลงให้สามารถส่งได้ถึง 500 ไมล์ติดตัวไปด้วย พร้อมทองคำไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ปรากฏว่าคนนำทางชาวจีน พยายามถ่วงเวลาการเดินทางให้ช้าลง ทำให้ โผน อินทรทัต ต้องรายงานกลับไปยัง ม.ล. ขาบ เพื่อให้ส่งเสรีไทยชุดที่ ๒ ซึ่งประกอบด้วย “บันนี่ (บุญเย็น ศศิรัตน์) เพา (เป้า ขำอุไร) พีท (พิสุทธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา) แซม (สวัสดิ์ เชี่ยวสกุล) ปลอมตัวเป็นคนขายของ” เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นชุดต่อไป ทางการจีนจึงไม่สามารถหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้เสรีไทยสายอเมริกาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อีกต่อไป

เนื่องจากเป็นการเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นครั้งแรกของเสรีไทยสายอเมริกา โดยที่ยังไม่มีการประสานงานมาก่อน ทำให้คณะของการะเวกและสมพงษ์ ที่มีนายบุญช่วยเป็นผู้นำทาง ถูกตำรวจคุมตัวที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง (ซึ่งเป็นของไทยในขณะนั้น) ในวันที่ 11 มิถุนายน 2487 ระหว่างทางทั้งสามถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต โดยอ้างว่าบุคคลทั้งสามขัดขืนและต่อสู้เจ้าหน้าที่ แต่จากคำให้การของ โล่ห์ โจ๊ะทอง ซึ่งเป็นนายท้ายเรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ให้การต่อศาลในเวลาต่อมาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าคนทั้งสามเพื่อชิงทรัพย์

แต่การเสียชีวิตของการะเวกและสมพงษ์ไม่สูญเปล่า เพราะการที่ตำรวจได้นำหลักฐานเช่นวิทยุและเอกสารต่างๆ รายงานให้ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รับทราบ จึงรู้ว่ามีความพยายามในการติดต่อจากต่างประเทศเข้ามา

ขณะที่อีกสาม คนถูกตำรวจไทยจับเช่นกัน และนำมาคุมตัวไว้ที่กองสันติบาล กรุงเทพฯ ที่นั่นเอง การุณและนายเอียนได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ให้ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รับทราบ

9 กันยายน 2487 วิมล วิริยะวิทย์ และบุญมาก เทศะบุตร เสรีไทยสายอเมริกาที่ไปฝึกรุ่นพิเศษ ได้กระโดดร่มลงกลางป่าอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ วิมลถูกคุมตัวมาพบ พล.ต.อ. อดุล ภายหลังจากแจ้งภารกิจให้ทราบ ทั้งคู่ได้เดินทางไปพบ ปรีดี พนมยงค์ วิมลแจ้งให้ทราบว่าทางอเมริกา ยินดีให้การสนับสนุนเสรีไทยทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นทางการทหารหรือในทางการเมือง รวมทั้งรับทราบด้วยว่ามีปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่น เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

ต่อมาเสรีไทยชุดที่ ๒ ก็ถูกตำรวจไทยจับเช่นกัน แต่ถูกคุมตัวมาไว้ที่กองสันติบาล กรุงเทพฯ และจุดนี้เองที่ทำให้ทหารเสรีไทยสามารถติดต่อวิทยุกลับไปยังซือเหมาได้ เพราะ พล.ต.อ. อดุลให้ความร่วมมือ นิคอล สมิธ ได้กล่าวถึงความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า

“ภายในหนึ่งชั่วโมง ข่าวถูกส่งต่อไปยังคุนหมิง เดลลี จุงกิง แคนดี และวอชิงตัน อาณาจักรไทยสองแสนสองหมื่นตารางไมล์ ไม่เป็นจุดมืดสำหรับข่าวต่อไปแล้ว ได้มีโคมไฟจุดขึ้นในเมืองหลวงของสยามกว่าห้าร้อยไมล์ไปทางทิศใต้ และเรารู้ว่ามันจะส่องแสงสว่างขึ้นทุกที”

16 สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขวนการเสรีไทยประกาศสันติภาพ หลังญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และไม่ถูกมหาอำนาจผู้ชนะแบ่งแยกเป็นไทยเหนือ-ไทยใต้


ข้อมูลอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Free_Thai_Movement

http://www.puey.in.th/index.php/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%9B%E0%B9%8B%E0%B8%A7%E0%B8%A2-%E0%B8%AD%E0%B8%B6%E0%B9%8A%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C/13-%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5-%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2

http://nytetae.blogspot.com/2011/11/3_28.html