การศึกษาของพระสงฆ์อีสาน จากเวียงจันท์ ถึงกรุงเทพฯ

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

เดิมที่แทบจะไม่มีพระสงฆ์ในหัวเมืองอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ เลย

พระสงฆ์อีสานส่วนใหญ่เดินทางไปเรียนที่นครเวียงจันท์

นครเวียงจันท์ในสมัยโบราณเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของหัวเมืองลาวทั้งหมด เป็นธรรมเนียมที่พระสงฆ์ในหัวเมืองลาวที่ต้องการเล่าเรียนให้สูงยิ่งขั้น จะต้องเดินทางมาที่นี่ พระสงฆ์เมืองจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นหัวเมืองลาวตอนใต้ที่อยู่ห่างไกลก็ยังเดินทางมาศึกษาที่นครเวียงจันท์

พยานหลักฐานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของเวียงจันท์ที่ผ่านมาได้ดี คือโบราณสถาน โบราณวัตถุทางพุทธศาสนาของเวียงจันท์ในอดีต เช่น พระธาตุหลวงที่นครเวียงจันท์ซึ่งสร้างในสมัยพระไชยเชษฐาธิราช สิมวัดองค์ตื้อ นครเวียงจันท์ที่สร้างในสมัยเดียวกัน หอไตรวัดศรีสะเกษซึ่งสร้างในสมัยเจ้าอนุวงศ์, หอพระแก้วนครเวียงจันทร์, หอไตรวัดอินแปง หรือพระธาตุดำ นครเวียงจันท์ เป็นต้น

หัวเมืองอีสานในสมัยโบราณก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับหัวเมืองลาวอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากล้านช้างเวียงจันท์ อิทธิพลทางพุทธศาสนาที่หัวเมืองอีสานรับมาจากล้านช้างและสืบทอดในสังคมเป็นระยะเวลายาวนานที่สำคัญคือ

1. แบบแผนการปกครองคณะสงฆ์แลระบบสมณศักดิ์แบบล้านช้าง ที่ใช้กัน 6 ชั้น คือ สำเร็จ, ซา, คู, ฝ่าย, ด้าน, หลักคำ เรียงจากต่ำไปสูงตามลำดับ สมณศักดิ์ข้างต้นจะเป็นเครื่องบอกคุณวุฒิหน้าที่และอำนาจการปกครองหมู่คณะสงฆ์

2. ธรรมเนียมการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 หมวดคือ 1. สวดมนต์ 2. มูลกัจจายนะ 3. พระวินัยทั้งห้าคัมภีร์ 4. ธรรมบท 5. ทศชาติ 6. มงคลทีปนี 7. วิสุทธิมรรค และ 8. อภิธัมมัตถสังคหะ

3. ข้อกำหนดและธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์ ที่เรียกว่า “ครอง 14 ของพระ” ที่จะเป็นกรอบปฏิบัติให้พระสงฆ์ปฏิบัติตนสอดคล้องกับประเพณีของท้องถิ่นและความต้องการของฝ่ายราชอาณาจักร นอกเหนือไปจากที่ปรากฏในพระวินัยบัญญัติ

4. รูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม เช่น พระอุโบสถ วิหาร พระธาตุ คัมภีร์ทางพุทธศานา ที่มีลักษณะเป็นแบบลาว

การเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่นครเวียงจันท์ของพระสงฆ์ในหัวเมืองอีสาน น่าจะสะดุดหยุดลงเมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ. 2368

การปราบปรามของราชสำนักกรุงเทพฯ ในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเผาทำลายนครเวียงจันท์อย่างราบคาบ และนำพระพุทธรูปสำคัญมากรุงเทพฯ เช่น พระแจ้ง วัดอรุณราชวราราม, พระอินแปง วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา, พระแทรกคำ วัดคฤหบดี ฯลฯ ส่งผลให้กรุงเทพฯ เริ่มมีความสำคัญและได้กลายเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา

โดยพระสงฆ์จากอีสานใต้แถบเมืองอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นพระสงฆ์กลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ทั้งนี้เพราะหัวเมืองแถบนี้เป็นกลุ่มครอบครัวลาวที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ ครอบครัวลาวเหล่านี้มีพระวอพระตาเสนาบดีเคยอพนพหนีการปราบปรามของพระเจ้าศิริบุญสารมาตั้งเมืองขึ้นในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองอุบลราชธานี ยโสธร และบ้านเมืองเล็กๆ อีกจำนวนมาก ต่อมาได้ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรี (ต่างกับหัวเมืองลาวตอนเหนือที่อยู่ติดเวียงจันท์ที่ไม่ย่อมอ่อนน้อมต่อกรุงเทพฯ นัก) ตัวแทนพระสงฆ์กลุ่มแรกๆ ที่เดินทางเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ดังนี้

สำนักวัดมหานิกาย ได้แก่ พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) ชาวอุบลราชธานี เมื่ออุปสมบทที่ภูมิลำเนาแล้ว เดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักวัดสระเกศวรมหาวิหาร จนได้เปรียญ 3 ประโยค, พระครูบุญมา ชาวเมืองพนานิคม (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี) อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2374 หลังจากนั้น 3 ปี ได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักวัดจักรวรรดิราชาวาส (สามปลื้ม) เป็นเวลา 18 ปี และได้รับสมณสักดิ์ตามแบบไทยเป็นชั้นพระครู นอกจากนี้ก็มี ท่านญาคูหลักคำพิมพ์  ท่านญาคูจุลลา ท่านญาคูท้าว ซึ่งเป็นชาวเมืองขอนแก่น

ส่วนสำนักธรรมยุติกนิกาย พระสงฆ์อีสานรูปแรกที่เข้ามาบวชคือ ท่านพนฺธุโล (ดี) ชาวเมืองอุบลราชธานี เดิมที่เดียวท่านศึกษาที่วัดมหาธาตุ ในช่วงเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่วัดนี้ด้วย จึงเป็นโอกาสที่ท่านพนฺธุโล (ดี) ได้ติดตามใกล้ชิดพระองค์ ครั้นเมื่อพระองค์ทรงก่อตั้งคณะธรรมยุต ท่านพนฺธุโล (ดี) ก็บวชในคณะธรรมยุตรุ่นแรกๆ เป็นบุราณสหธัมมิกอันดับที่ 2 องค์ที่ 10, ท่านเทวธมฺมี ชาวเมืองอุบลราชธานี เดิมเป็นศิษย์หลวงเดิมในพระบาทสนมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ท่านคุณสมฺปนฺโน ชาวเมืองจำปาศักดิ์ และเป็นศิษย์หลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระสงฆ์อีสานที่เดินมาเข้ามายังกรุงเทพฯ เหล่านี้เมื่อเข้ามาแล้ว ไม่ได้ตั้งรกรากถาวร เพียงแต่มาศึกษาเล่าเรียนช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็มักจะเดินทางกลับภูมิลำเนา (ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่คณะสงฆ์ไทยจะเข้ามาจัดการปกครองคณะสงฆ์ในหัวเมืองอีสานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434 เป็นต้นไป)

ได้ก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญที่เป็นรากเหง้าของความเปลี่ยนแปลงในการพระศาสนาในหัวเมืองภาคอีสานในสมัยต่อมา คือ

ประการแรก เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาการศึกษาพระปริยัติธรรมตามแบบกรุงเทพฯเข้ามาจัดให้หัวเมืองอีสาน ก่อนที่คณะสงฆ์ไทยจะริเริ่มจัดอย่างเป็นระบบเมื่อมีการจัดระบบการศึกษานักธรรมในปี พ.ศ. 2457 เป็นครั้งแรก

ประการต่อมา ได้แก่ การนำจารีตในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ตามแบบกรุงเทพฯ ที่ค่อนข้างเคร่งครัดในพระวัตรปฏิบัตินำมาสืบทอดกันมาเป็นแบบอย่างของหัวเมืองอีสาน

ประการสุดท้าย ได้แก่ การนำคณะธรรมยุติกนิกายมาก่อตั้งเป็นครั้งแรกในภาคอีสาน ที่วัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลราชธานี ก่อนการขยายธรรมยุติกนิกายไปทั่วภาคอีสานในเวลาต่อมา

นอกจากพระสงฆ์ที่ผ่านศึกษาจากรุงเทพฯ ข้างต้นแล้ว ศิษย์รุ่นต่อของแต่ละรูปมายังตั้งตนเป็นเจ้าสำนักจัดการการศึกษาในลักษณะเดียวกับอาจารย์ด้วย ทำให้การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เมื่อท่านเดินกลับอุบลราชธานี ได้ตั้งสำนักเรียนที่วีดป่าน้อย ส่วนลูกศิษย์ของท่านก็มีพระครูเทน-วัดหลวง เมืองอุบลราชธานี, อาจารย์เส่ว-วัดไผ่ใหย่ บ้านม่วงสามสิบ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี), อาจารย์จันทร์-วัดบ้านแขม ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน, อาจารย์เกษ-วัดธาตุ เมืองยโสธร

พระครูบุญมา เมื่อเดินทางกลับมาเมืองพนานิคม ได้ตั้งสำนักเรียนที่วัดพระเหลา ลูกศิษญ์ท่านได้แก่ท่านทอง-บ้านอำนาจ อำเภออำนาจเจริญ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ), ท่านผา-บ้านหนองน้ำจันทร์  (ปัจุบันอยู่ในเขตประเทศลาว)

นั่นทำให้อุบลราชธานีกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพระสงฆ์ในภูมิภาคนี้สืบต่อมาเป็นเวลาค่อนข้างยาวนาน

ทั้งพบว่า พระเถระท่านสำคัญๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจนกระทั่งปัจจุบันจากภาคอีสาน ล้วนแต่เคยบวชเรียนที่เมืองอุบลราชธานี เป็นต้นว่า พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จัน), สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน), พระอาจารย์เสาร์ กันตสิโล, พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่แหวน สุจินโณ, พระครูวิโรจน์ รัตโนบล เป็นต้น

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระสงฆ์อีสาน เข้ากรุงเทพฯ สมัยแรกๆ” เขียนโดย กิติรัตน์ สีหบัณฑ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2539