“เพลงยาวพยากรณ์” แต่งโดย “พระเจ้าเสือ” เครื่องมือรัฐประหาร “พระนารายณ์” !?

วิหารพระมงคลบพิตร
วิหารพระมงคลบพิตร อยุธยา ก่อนการบูรณะ

เพลงยาว เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพลงยาวที่เก่าสุดเท่าที่พบหลักฐาน ณ ขณะนี้ คือ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” โดยผู้แต่งและช่วงเวลาที่แต่งนั้น ในท้ายเพลงยาวมีข้อความว่า “จบเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรี ทำนายกรุงแต่เท่านี้” เข้าใจได้ว่า สมเด็จพระนารายณ์เป็นผู้แต่ง

แต่ในคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า เป็นคำพยากรณ์ของ สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ขณะเป็น “ออกหลวงสรศักดิ์” แต่งเพลงยาวนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และเสนอไว้ว่า เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี แต่งขึ้นเพื่อสร้างข่าวลือทางการเมืองในการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกเล่าถึงความสำคัญของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ในฐานะเครื่องมือการรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์ โดยฝ่ายออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ ไว้ในหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์” (มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 7, 2549) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ เว้นวรรค และสั่งเน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการ)

“…ออกพระเพทราชารู้จักที่จะปลุกปั่นประชาชนตามวิถีทางวัฒนธรรมของประชาชน เช่น ใช้พราหมณ์ซึ่งเป็นโหราจารย์ทำนายว่า ฝรั่งเศสจะถูกขับออกไป แม้ว่าจะได้รับการต้อนรับในทีแรก และจะมีการฆ่าฟันกันล้มตายอย่างมาก

คำพยากรณ์เหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียด และทำให้จิตใจของคนพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น ในต้น ค.ศ. 1688 ได้เกิดข่าวลือว่า จะเกิดอาถรรพณ์แก่บ้านเมือง อันเป็นข่าวลือที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับข่าวลือเรื่องการประชวรของพระนารายณ์ เข้าใจได้ว่า ข่าวลือเหล่านี้ก็คงจะมาจากค่ายของออกพระเพทราชานั่นเอง

การรณรงค์สร้างข่าวลือของกลุ่มออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์นี้ คงได้ทิ้งร่องรอยไว้ในหลักฐานฝ่ายไทยคือ ‘เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา’ ลำนำสั้น ๆ บทนี้มีผู้จดจำได้ และจดลงไว้เป็นตอนต้นในหนังสือเรื่องกรุงศรีอยุธยาเมื่อรัชกาลที่ 1 แต่กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระนารายณ์

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า เนื้อความของเพลงยาวบทนี้ตรงกันกับที่บรรยายไว้เป็นภาษาความเรียงในคำให้การชาวกรุงเก่า และกล่าวว่า เป็นคำทำนายของพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือ ออกจะเป็นการประหลาดที่พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงครองราชย์อยู่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวทำนายอนาคตของบ้านเมืองตนเองไปในทางวิบัติ

ลำนำบทจึงอยู่นอกกรอบของจารีตทางการเมืองและวรรณกรรมของไทย และออกเป็นการยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของการแต่งได้เลย หากแต่ว่าเมื่อนำเอาเนื้อความของเพลงยาวบทนี้สอดใส่ลงในอุบัติการณ์ทางการเมืองที่เฉพาะของปลายสมัยพระนารายณ์แล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของออกหลวงสรศักดิ์ (หรือพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี) ในการแต่ง และเมื่อพิจารณาเช่นนี้ก็จำต้องยอมรับด้วยว่า เพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่แต่งนี้อย่างยิ่ง

กลอนเพลงยาวบอกโดยนัยแก่ผู้ฟังว่า พระนารายณ์ และพระราโชบายของพระองค์คือการไม่เคารพต่อหลักการแห่งทศพิธราชธรรม และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดความวิปริตต่าง ๆ แก่บ้านเมือง ความวิบัติที่กำลังมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น เพลงยาวพยากรณ์เน้นซึ่งความวิปริตแห่งความปกติธรรมดา หรือจารีตประเพณี ซึ่งเป็นที่รับรองและสมมติกันว่าเป็นธรรมดาโลก เช่น

‘เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา   จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน   มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว   คนจะชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก   จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นผู้น้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ   นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย   น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า   เพราะจันทานมันเข้ามาเสพสม
ฯลฯ’

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

ความวิปริตเหล่านี้จะนำมาซึ่งความวิบัติแก่กรุงศรีอยุธยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระราโชบายที่เข้าใจไม่ได้ของพระนารายณ์ การกดขี่ขุนนางฝ่ายปกครอง การเถลิงอำนาจอย่างผิดทำนองคลองธรรมของฝรั่ง และเสนาบดีต่างชาติ การไม่เคารพต่อจารีตประเพณีของการปกครองบางอย่าง และท่าทีคุกคามพระพุทธศาสนาของรัฐบาล และนักบวชมิจฉาทิฐิที่รัฐบาลหนุนหลัง ฯลฯ

เพียงพอที่จะทำให้ผู้ฟังเพลงยาวนี้เห็นพ้องต้องกันว่า บ้านเมืองกำลังวิปริตอาเพศอย่างชัดแจ้ง การตกต่ำของตระกูลขุนนางทำให้ลูกหลานผู้ดีเหล่านี้พร้อมจะรับการโค่นล้มราชตระกูลปราสาททองลง อย่างน้อยก็เพื่อยุติความวิปริตอาเพศทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ตำตานี้

ยิ่งการอิงคำทำนายให้สอดคล้องกับพุทธทำนายในชาดก ก็ยิ่งทำให้เพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในการสื่อความอาเพศของบ้านเมืองได้มากขึ้น เพราะดูเหมือนมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างแฝงอยู่ในคำพยากรณ์

ความสำเร็จของเพลงยาวพยากรณ์นี้ในด้านการเมืองจะเห็นได้ดีจากการจดจำเพลงยาวนี้สืบมาอีกร่วม 3 ชั่วคน แม้ว่านัยสำคัญทางการเมืองของมันได้เลือนหายไปแล้ว และหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1767 กลับเกิดนัยทางการเมืองใหม่ที่ไม่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายทางการเมืองเดิมของออกหลวงสรศักดิ์เลยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจด้วยว่า แม้ออกพระเพทราชาจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะชิงราชสมบัติได้สะดวก ไม่ว่าพระนารายณ์จะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่หรือสวรรคตแล้ว…”

ซากโบราณสถานวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566