ความจริงของทหารอังกฤษกลับมาเป็นเชลยต่อ หลังกษัตริย์เยอรมันปล่อยให้ไปดูแม่ใกล้สิ้นลม

(ซ้าย) จักรพรรดิเยอรมัน ไคเซอร์วิลเฮมที่ 2 (ขวา) ภาพประกอบเนื้อหา - กลุ่มทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ไม่ปรากฏชื่อและสังกัด) ภาพจาก AFP

หากคุณคือทหาร แล้วถูกจับเป็นเชลยศึก แต่ทว่าข้าศึกให้คุณมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมครอบครัว โดยที่คุณต้องกลับไปเป็นเชลยศึกอีกครั้ง คุณจะกลับไปหรือไม่?

นี่คือคำถามแปลกๆ ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เชลยศึกนะหรือ ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน แล้วเป็นไปได้หรือที่เมื่อเชลยศึกได้กลับบ้านแล้ว จะยอมกลับไปเป็นเป็นเชลยศึกอีกครั้งตาม แต่ในปี 1914 เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล นายทหารหนุ่มจากกองพันที่ 1 กรมทหารเซอเรตะวันออก 1st Battalion East Surrey Regiment คือนายทหารหนุ่มคนหนึ่งในกองทัพอังกฤษที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่แล้ววันที่ 24 สิงหาคม 1914 เขาถูกทหารเยอรมันจับได้ และถูกส่งตัวสู่ค่ายเชลยศึก ณ เมือง แมกเดเบิร์ก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของเยอรมันซึ่งเขาต้องเป็นเชลยสงครามอยู่ที่นั่น จนกระทั่งวันหนึ่งมีจดหมายจากทางบ้านส่งมาที่เขา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้น เชลยศึกในค่ายเชลยของแต่ละฝ่ายสามารถส่งจดหมายไปยังครอบครัวของตนเองที่บ้านได้ โดยผ่านองค์การกาชาดสากลซึ่งในช่วงนั้นองค์กรนี้เป็นองค์กรกลางที่เข้าไปดูแลสภาพความเป็นอยู่ของเชลยศึกทั้งสองฝ่าย แต่ทว่าด้วยเหตุผลทางความมั่นคงและยุทธศาสตร์ จดหมายเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบเนื้อหาของจะหมายทุกครั้งก่อนจะส่งไป หรือรับมา

ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล ได้รับจดหมายฉบับหนึ่งที่ถูกส่งมาจากทางบ้าน เนื้อความจดหมายบอกข่าวร้ายให้เขารับทราบนั่นก็คือ อาการป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายของแม่เขา หนักหนาเกินกว่าจะเยียวยารักษาได้อีกต่อไป และเวลาที่แม่เขาจะมีชีวิตอยู่บนโลกก็เหลือน้อยลงเต็มที

แคมเบล รับทราบข่าวร้ายนี้ และมันทำให้เขาอยากจะออกไปจากที่นี่เพื่อไปพบกับแม่อีกครั้งสุดท้าย แต่มันไม่ใช่เพียงแค่การอยู่กันคนละฝั่งโลกเพียงอย่างเดียว ที่ที่เขาอยู่ตอนนี้คือค่ายเชลยศึกที่มีการควบคุมอย่างหนาแน่น หากจะหนี เขาจะหนีได้อย่างไร ด้วยความรู้สึกสับสนและมืดมนในหนทาง เขาจะได้แต่นั่งเศร้าอยู่เพียงผู้เดียวในมุมหนึ่งของค่ายเชลย

แต่แล้วความคิดของแคมเบลก็นึกถึงหนทางหนึ่งขึ้นมาได้ มันอาจจะดูเป็นการกระทำที่ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ แต่จิตใจที่อยากจะกลับไปหาแม่ ทำให้เขาต้องลอง

นั่นก็คือ การเขียนจดหมายขออนุญาตจักรพรรดิเยอรมัน นั่นก็คือไคเซอร์วิลเฮมที่ 2

ในเนื้อความจดหมายนั้นเขาบรรยายถึงอาการป่วยของแม่ และขอร้องต่อผู้นำสูงสุดของจักรวรรดิเยอรมันอนุญาตให้เขาได้กลับไปดูใจแม่อีกสักครั้ง โดยที่เขาสัญญาว่า เขาจะกลับมาเป็นเชลยศึกอังกฤษในจักรวรรดิเยอรมันอีกครั้ง

นี่อาจจะเป็นเรื่องโง่ๆ ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่จดหมายของแคมเบล จะถูกส่งถึงมือองค์จักรพรรดิ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อแคมเบลนำจดหมายฉบับนี้ส่งมอบให้ผู้บัญชาการค่ายเชลย จดหมายฉบับนี้ถูกส่งต่อไปยังเบอร์ลินทันทีและมันยังถูกส่งไปจนถึงพระหัตถ์ขององค์จักรพรรดิ สายพระเนตรของไคเซอร์วิลเฮมที่2 จดจ้องทุกตัวอักษรในจดหมาย พระองค์ทรงเข้าพระทัยถึงความรู้สึกของลูกคนหนึ่งซึ่งอยากกลับไปดูใจแม่อีกครั้งสุดท้าย และคำมั่นสัญญาณของนายทหารอังกฤษคนนี้ที่เขียนว่า “ผมจะกลับมา”

มีคำสั่งให้นำตัวร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล ออกมาจากค่ายเชลย และให้นำตัวเขาไปส่งที่พรมแดนเยอรมันนี-เนเธอร์แลนด์ (เนเธอร์แลนด์ ประกาศตนเป็นกลาง) ซึ่งที่นั่นจะมีเจ้าหน้าที่นำตัวเขาข้ามชายแดนและนำเขาขึ้นเรือเดินทางไปยังอังกฤษ

หลายคนมองพระบัญชาขององค์จักรพรรดิว่า นี่อาจจะเป็นเพียงพระราชอารมณ์ขันของไคเซอร์วิลเฮมที่ 2 เพราะหากมองจากความเป็นจริงแล้ว เชลยศึกแค่คนเดียวปล่อยตัวไปก็คงไม่ทำให้กองทัพเยอรมันล่มจม แต่บางคนก็เชื่อว่าพระองค์ทรงนับถือและเชื่อมั่นในเกียรติภูมิของความเป็นนายทหารแห่งกองทัพอังกฤษ และถึงแม้ทั้งสองชาติจะเป็นศัตรูกัน แต่อังกฤษก็คือศัตรูที่เยอรมันนับถือเสมอมา

ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล เดินทางกลับไปที่บ้านทันเวลาก่อนที่แม่เขาจะเสียชีวิต เขาดูแลแม่ของเขาอีกครั้งสุดท้ายก่อนที่แม่จะจบชีวิต และมันเหลือเชื่อมากที่เมื่อร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล ได้ก้าวเท้าออกมาพบกับอิสรภาพแล้ว เขายังเลือกที่จะรักษาสัญญาต่อจักรพรรดิเยอรมันด้วยการเดินทางกลับไปเป็นเชลยศึกอังกฤษในดินแดนเยอรมันอีกครั้ง

ไม่มีใครทราบวิธีการหรือหลักฐานที่ร้อยเอกแคมเบลเดินทางเข้ามาและออกไปจากเกาะอังกฤษได้ว่า เขาทำอย่างไร แต่นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เชื่อว่า ในช่วงเวลานั้น การเดินทางเข้าออกอังกฤษโดยเฉพาะเรือที่มาจากประเทศที่เป็นกลางหรือชาติพันธมิตร มักจะมีการตรวจตราที่ค่อนข้างผ่อนปรนกว่าเรือที่มาจากชาติอื่นๆ และมันอาจจะเป็นช่องทางให้ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล เดินทางเข้าออกได้

หมายเหตุเพิ่มเติม : Richard van Emden นักประวัติศาสตร์รายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า หลังจากกลับเข้าแคมป์ แคมเบล และกลุ่มนักโทษใช้เวลา 9 เดือนขุดหลุมเพื่อหลบหนีจากแคมป์ แต่สุดท้ายก็ถูกจับที่เขตรอยต่อพรมแดนของดัตช์และถูกส่งกลับ

ในทางกลับกัน ฝั่งอังกฤษปฏิเสธคำร้องขอของเชลยเยอรมันที่ขอกลับไปเยี่ยมพ่อที่ป่วยหนัก

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล ถูกปล่อยตัวและยังรับใช้ชาติต่อไปจนถึงปี 1925 แต่แล้วเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นมาในปี 1939 ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล ก็กลับเข้าประจำการอีกครั้งในกองทัพบกอังกฤษ หัวหน้าหน่วยตรวจการณ์ ซึ่งหน่วยนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงการยุทธ์แห่งบริเตน (The Battle of Britain)

ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล ใช้ชีวิตอย่างสงบหลังสงครามจบลง และเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม 1966 ในวัย 81 ปี

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในสงครามโหดครั้งนี้ แต่เรื่องราวของ ร้อยเอกโรเบิร์ต แคมเบล ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ช่วงเวลาระยะสั้นๆ ของมนุษยธรรมได้สอดแทรกเข้ามาในช่วงเวลาที่มนุษย์กำลังใช้กำลังประหัตรประหารกัน ดังเช่นตัวอย่างในการพักรบช่วงวันคริสต์มาส 1914

 


อ้างอิง

[1] http://www.bbc.com/news/uk-23957605
[2] http://notesinhistory.blogspot.com/…/ww1-soldier-released-f…
[3] http://www.theweek.co.uk/…/how-kaiser-gave-wwi-prisoner-per…


แก้ไขและปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562