ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เล่นพิเรนทร์” คำศัพท์ที่มาจากราชทินนามของ “พระพิเรนทร์” คนไหน
เล่นพิเรนทร์ ศัพท์คำนี้ ความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันคือ ผิดปรกติ, แผลง, วิตถาร ส่วน “เล่นพิเรนทร์” มีที่มาอย่างไรนั้น วิภัส เลิศรัตนรังษี เคยเสนอไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” เมื่อปี 2564 พอสรุปความได้ดังนี้
นายแพทย์นวรัต ไกรฤกษ์ กล่าวว่า “เล่นพิเรนทร์” คำนี้เคยรับฟังจากบิดาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) และเรียบเรียงไว้ในเรื่องปกิณณกะในรัชกาลที่ 5 ว่า
“คำว่า ‘พิเรนทร์’ ตามความหมายที่ไม่ใช่ศัพท์แสงก็เข้าใจกันได้ว่า ‘เล่นแผลงๆ’ หรือ ‘เล่นอุตริ’ ทุกวันนี้เป็นคำพูดที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน…แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า คำว่า ‘เล่นพิเรนทร์’ นี้มีมูลมาอย่างไรและเมื่อใด ข้าพเจ้าจะขอถ่ายทอดให้ท่านทราบตามที่เจ้าคุณพ่อได้กรุณาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอีกต่อหนึ่ง
เมื่อเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสใน ร.ศ. 112 นั้น…มีท่านพระตำรวจหลวงผู้หนึ่งราชทินนามว่า พระพิเรนทรเทพ ออกความคิดจะจัดตั้งและฝึกหัดหน่วยจู่โจมพิเศษ โดยให้ดำน้ำไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสเพื่อให้จม…
พระพิเรนทร์ฯ จัดการฝึกหัดบ่าวไพร่และผู้อื่นที่อาสาสมัครดำน้ำในคลองหน้าบ้านของท่านทุกวันเพื่อให้เกิดความชำนิชำนาญและดำทนเป็นพิเศษ แต่บางคนดำน้ำอยู่ได้ไม่นานก็โผล่ขึ้นมาเสียแล้ว คุณพระจึงต้องใช้ไม้ถ่อคอยค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่ขึ้นมาเร็วเกินไป เผอิญมีการตายกันเกิดขึ้น…พวกชาวบ้านจึงพากันเรียกการกระทำของคุณพระว่า ‘เล่นอย่างพิเรนทร์’ เลยเป็นคำพูดติดปากมาจนตราบเท่าทุกวันนี้…” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
ส่วน พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) กล่าวไว้ในหนังสือฟื้นความหลัง ความว่า “เมื่อ ร.ศ. 112 เรือรบฝรั่งเศสหักด่านปากน้ำ หลุดเข้ามาได้ถึงกรุงเทพฯ ก็มาจอดทอดลอยลำอยู่กลางน้ำหน้าสถานทูตฝรั่งเศส เวลาเย็นมีราษฎรแตกตื่นพากันไปดูเรือรบที่หน้าศุลกสถาน (คือที่ทำการกรมศุลกากรสมัยนั้น อยู่ติดกับสถานทูตฝรั่งเศสด้านเหนือ) และทหารฝรั่งเศสในเรือรบกำลังลงอาบน้ำในแม่น้ำ อย่างแบบฝรั่งที่ไม่รู้จักใช้ผ้าขาวม้า ราษฎรที่ยืนมุงดูอยู่เห็นฝรั่งเศสในเรือรบแก้ผ้าอาบน้ำกลางแจ้ง ไม่มียางอาย เหนี่ยวรั้งความเกลียดชังไม่อยู่…
นอกนี้ข้าพเจ้ายังได้ฟังจากคำเล่าจากบิดาข้าพเจ้าว่า ท่านผู้หนึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เป็นเทือกเถา เหล่ากอขุนนางทหารเอกของไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…ได้ฝึกบ่าวไพร่ในบ้านให้รู้จักดำน้ำได้ทน
ถ้าถึงคราวคับขันชอบมาพากล ก็จะได้ใช้ให้พวกดำน้ำทนเหล่านี้ถือขอเหล็กด้ามยาวดำน้ำว่ายพุ่งไปที่เรือรบ กะให้พอดีถึงเรือรบ พอผุดขึ้นจากน้ำ ก็ให้ทะลึ่งขึ้นสูงทันที เอาขอเหล็กขึ้นสับกับกราบเรือรบทันทีทันใด แล้วไต่ขึ้นไปจัดการกับทหารบนเรือรบทันควัน เรื่องก็จะต้องสำเร็จกันเท่านั้นเอง แต่การฝึกหัดนี้ทำไปไม่ได้นาน เพราะคนที่ได้รับการฝึกหัดคนหนึ่งจมน้ำตาย ความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท การฝึกหัดที่กล่าวนี้จึงต้องเลิกไป…”
แล้วพระพิเรนทร์ที่ว่านั้นเป็นใครกัน?
เมื่อตรวจสอบพบว่า บุคคลที่ครองราชทินนาม “พระพิเรนทรเทพ” ใน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ชื่อ สาย สิงหเสนี (พ.ศ. 2398-2463) ตำแหน่งราชการสูงสุดที่ได้รับคือพระยาอนุชิตชาญไชย สมุหพระตำรวจในสมัยรัชกาลที่ 6
ประวัติฉบับทางการของพระยาอนุชิตชาญไชย (สาย) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า สายสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนนางคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเป็นบุตรคนที่ 2 ของพระยาเพชรชฎา (ดิศ สิงหเสนี) เกิดในปีที่สยามลงนามในสนธิสัญญาเบาริ่ง เริ่มรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เติบโตจากกรมทหารมหาดเล็ก จากนั้นย้ายมาเป็นปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ขวา ในช่วงที่เป็นตำรวจหลวงนี้เอง สายถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหัวเมืองหลายครั้ง และยังเคยไปปราบฮ่อทางเมืองหนองคายด้วย จนกระทั่งปี 2436 (ร.ศ. 112) มาถึง
“เมื่อไทยเกิดเป็นอริกับฝรั่งเศส โปรดฯ ให้พระยาอนุชิตฯ เป็นข้าหลวงพิเศษไปรวบรวมกำลังพาหนะที่เมืองปราจีนบุรี ครั้นตกลงจะส่งกองทัพเพิ่มเติมกำลังออกไปยังเมืองอุบลราชธานี จึงพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา และเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลจัตวาทหารบก โปรดฯ ให้เป็นแม่ทัพคุมพลออกไปยังเมืองอุบลราชธานี” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก 1.รวมสาส์น, 2548)
ทว่า การตรวจสอบราชกิจจานุเบกษาก็พบว่า ก่อนที่ สาย สิงหเสนี จะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระพิเรนทรเทพนั้น เขามีตำแหน่งเป็นที่พระราชวรินทร์ การเข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเกิดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2436 (ร.ศ. 112) ซึ่งในวันดังกล่าวมีพระพิเรนทรเทพถึง 2 คนพร้อมกัน
ดังที่ราชกิจจานุเบกษาแถลงว่า “การที่โปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรินทร์เปนพระพิเรนทรเทพก่อน แต่ที่จะโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพเลื่อนเปนตำแหน่งอื่นนี้ เพราะเหตุที่พระราชวรินทร์มีราชการได้กราบถวายบังคมลาในวันนี้”
ข้อมูลช้างต้น ทำให้ทราบอีกว่า พระพิเรนทรเทพ (สาย) ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2436 เพื่อไปเกณฑ์ทหารและพาหนะแถบเมืองปราจีนบุรีส่งไปเมืองอุบลราชธานี เพราะในเวลานั้นเกิดการปะทะกับฝรั่งเศสที่แม่น้ำโขงแล้ว
นั่นเท่ากับว่า พระพิเรนทรเทพ (สาย) จะไม่อยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี 2436 (เวลานั้นขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน) ส่วนเรือปืนฝรั่งเศสที่คุณหมอนวรัตเล่าเอาไว้จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในอีก 3 เดือนให้หลัง ดูเหมือนว่าบุคคลต้นเรื่องของเรากับเรือปืนเจ้าปัญหาจะไม่ได้อยู่ร่วม “พื้นที่–เวลา” เดียวกันซะแล้ว!
ทั้งนี้ ยังมีหลักฐานอีกจำนวนหนึ่งที่ยืนยันว่า ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2436 จนถึงต้นปี 2437 หรือราว 1 ปีเศษๆ พระพิเรนทรเทพ (สาย) ปฏิบัติราชการอยู่หัวเมืองโดยตลอด ดังปรากฏในประวัติของหลวงไกรกรีธา (ยรรยง บุรณศิริ) และพระยาพหลโยธิน (นพ พหลโยธิน) รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทัพของพระพิเรนทรเทพนี้ยังถูกนำมาเล่าเอาไว้ในหนังสือนิทานชาวไร่ ของ น.อ. สวัสดิ์ จันทนี ด้วยซ้ำว่า ออกเดินทางจากเมืองปราจีนบุรีไปยังเมืองอุบลราชธานีหลังจากเรือปืนของฝรั่งเศสฝ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำไปแล้ว
กองทัพนี้ตั้งยันฝรั่งเศสที่เมืองอุบลราชธานีไปจนถึงต้นปี 2437 ก็ถูกเรียกกลับกรุงเทพฯ พอกลางปีนั้น พระพิเรนทรเทพ (สาย) ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยามหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ถือศักดินา 2000 จะเห็นได้ว่า สายอยู่ในบรรดาศักดิ์และราชทินนาม “พระพิเรนทรเทพ” ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2436 จนถึง 18 ตุลาคม 2437 รวม 19 เดือนเท่านั้น และตลอดระยะเวลาดังกล่าว สายก็ปฏิบัติราชการอยู่ในหัวเมืองโดยตลอด
ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ผมก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เรื่องเล่าพระพิเรนทรเทพฝึกคนดำน้ำเกิดขึ้นตอนไหนกันแน่ ? และยังจะใช่พระพิเรนทรเทพที่ชื่อ สาย สิงหเสนี คนนี้หรือเปล่า ?
ปัญหาเรื่อง “พื้นที่-เวลา” ผู้เขียน (วิภัส เลิศรัตรังษี) ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ที่ช่วยค้นข้อมูลต่างๆ และตั้งข้อสังเกตว่า การฝึกคนดำน้ำเกิดขึ้นก่อนปี 2436 (ร.ศ. 112) หรือไม่
หากการฝึกดำน้ำจะต้องเกิดหลังจากวิกฤติการณ์ปากน้ำ ตลอดจนปฏิบัติกับความคิดนั้นราวกับเป็นความจริงที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้วดูจะมีประเด็นอยู่ไม่น้อย เพราะเรือปืนฝรั่งเศสเข้ากรุงเทพฯ มา 2 ครั้ง เรือปืนลำแรกที่เข้ามาชื่อ “ลูตัง” (Lutin) ลอยลำหน้าสถานทูตฝรั่งเศสตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2435 (ร.ศ. 111) หรือ 4 เดือนเต็มๆ ก่อนที่เรือปืนชื่อ “โคแม็ต” (Comete) และ “แองกงสตัง” (Inconstang) จะเข้ามาในเดือนกรกฎาคม 2436 จนเป็นที่มาของวิกฤติการณ์
หากเราคิด “พิเรนทร์ๆ” ว่าการฝึกดำน้ำเกิดขึ้นก่อนปี 2436 ก็เป็นไปได้ว่าเรือปืนที่อยู่ในเรื่องเล่าทั้ง 2 เรื่องอาจจะเป็นเรือลูตัง หาใช่เรือโคแม็ตหรือแองกงสตังอย่างที่เข้าใจตามเรื่องเล่า เหตุผลก็คือไม่มีการพูดถึงเรือปืนฝรั่งเศสว่ามี 3 ลำสักแห่งเดียว หรือต่อให้เรื่องจำนวนเรือไม่สำคัญก็ได้
หรือการที่พระยาอนุมานราชธนเล่าว่ามีชาวบ้านไปมุงดูฝรั่งแก้ผ้าอาบน้ำ ก็น่าจะเป็นทหารเรือลูตังอีกเช่นกัน เพราะกว่า 4 เดือนนั้นสถานการณ์ยังคงตึงๆ อยู่ แต่หลังเกิดวิกฤติการณ์ปากน้ำ ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเอื้อให้ใครก็ตามเข้าใกล้เรือปืนทั้ง 3 ลำได้ง่ายๆ มิหนำซ้ำ เรือปืนทั้ง 3 ลำของฝรั่งเศสก็ถอนสมอออกจากกรุงเทพฯ หลังวิกฤติการณ์ผ่านไป 2 สัปดาห์เพื่อไปปิดปากอ่าวสยามแทน
จึงน่าจะเชื่อว่าเรือปืนเจ้าปัญหาของเราก็คือเรือลูตังนี่แหละครับ และตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2436 (ร.ศ. 111) จนถึง 19 เมษายน 2436 (ร.ศ. 112) เป็นช่วงเวลาเดียวเท่านั้นที่ สาย สิงหเสนี จะอยู่ร่วม “พื้นที่-เวลา” เดียวกับเรือปืนลูตังอีกด้วย!
แต่ในเวลาดังกล่าว สาย สิงหเสนี จะฝึกดำน้ำตามคำเล่าลือหรือเปล่ายังหาหลักฐานอื่นๆ มายืนยันไม่ได้ แต่ที่แน่นอนคือวันที่ 20 เมษายน 2436 หรือ 1 เดือนหลังจากเรือปืนลูตังเข้ามา สายก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระพิเรนทรเทพแล้วส่งไปเมืองปราจีนบุรีในทันที ส่วนเหตุผลที่เขาถูกเลือกให้เป็นแม่ทัพในคราวนี้ นายทหารที่ได้ยินได้ฟังมาจากข้างในอีกทีได้เล่าให้ น.อ. สวัสดิ์บันทึกเอาไว้ว่า
“ก่อนวันเดินทาง บรรดานายทหารสัญญาบัตรเข้าเฝ้าฯ พระพุทธเจ้าหลวงที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์ที่รื้อแล้ว ตั้งอยู่ข้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ในหลวงเสด็จออกในเวลาหนึ่งทุ่ม มีพระบรมวงศานุวงศ์ 50-60 องค์ เฝ้าฯ อยู่ด้วย พระพิเรนทรเทพคลานเข้าไปถึงพระบาท แล้วกราบลงสามรา ทรงรับสั่งว่า
‘เจ้าพระพิเรนทร ข้าให้เจ้าไปทัพครั้งนี้ เพราะว่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เห็นว่าเจ้าเป็นผู้สมควร เพราะเจ้าเป็นตระกูลแม่ทัพ ทัพคราวนี้สำคัญอยู่ คนอื่นไม่เป็นที่ไว้ใจ เจ้าไปคงกระทำการสำเร็จตามประสงค์ของข้า’…รับสั่งต่อไปว่า ‘กระบี่นี้ให้ถือว่าตัวข้าไปกะเจ้าด้วย สิ่งใดควรทำสำเร็จ ก็ทำไปโดยไม่ต้องบอกเข้ามาให้วุ่นวาย แล้วกลับมาบอกทีหลังก็ได้ ขอให้เจ้าจงมีชัยต่ออริราชศัตรูด้วยประการทั้งปวง’ เสร็จแล้วก็เสด็จขึ้น” [จัดย่อหน้าใหม่ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
ถึงตรงนี้ หลักฐานแวดล้อมต่างๆ ก็บ่งชี้จนวิภัส เลิศรัตนรังษีแน่ใจว่า สาย สิงหเสนี ก็คือพระพิเรนทรเทพที่ตามหานั่นเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถหาหลักฐานอื่นๆ มายืนยันเรื่องการฝึกดำน้ำได้จริงๆ ส่วนเหตุผลในการเลือก สาย สิงหเสนี เป็นแม่ทัพเพราะชาติตระกูลและความไว้วางใจ แม้จะเป็นการให้เหตุผลที่ฟังขึ้นในกรอบความคิดของยุคสมัยนั้นก็จริง แต่ก็น่าจะมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วย
นั่นคือจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าในช่วง 1 เดือนที่ สาย สิงหเสนี อยู่ร่วม “พื้นที่-เวลา” เดียวกับเรือปืนลูตังนั้น เขาได้แสดงความรักชาติบ้านเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาจริงๆ จึงทำให้ชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังสรรหาตัวบุคคลเป็นแม่ทัพออกไปช่วยรบทางแม่น้ำโขงพอดี?
อ่านเพิ่มเติม :
- “เงินถุงแดง” อิสรภาพไทยแลกด้วยค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์ ร.ศ. 112 หาเงินจากไหนให้ฝรั่งเศส
- ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสมีสายลับอยู่ในป้อมพระจุลฯ หรืออย่างไร ได้แปลนป้อมไทยจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก วิภัส เลิศรัตนรังษี. “‘พระพิเรนทร์’ คนไหนที่ ‘เล่นพิเรนทร์’ ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566