สมเด็จครูและพระพรหมพิจิตร การปะทะผลงานระหว่างศิษย์กับครู ในวงการสถาปัตยกรรมไทย

(ซ้าย) พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เทียบกับ (ขวา) พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

บทนำ

๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

มีนักวิชาการ นักเขียนหลายท่านวิจารณ์ถึงผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือบรรดาช่างไทยให้พระนามว่า “สมเด็จครู” (ภาพที่ 1) กับผลงานฝีมือของ พ.พรหมพิจิตร หรือ ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร ซึ่งบรรดาลูกศิษย์ที่เรียนสถาปัตยกรรมทั้งที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสถาปัตยกรรมไทย ปัจจุบันคือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียกชื่อท่านสั้นๆ ว่า “อาจารย์พระพรหม” (ภาพที่ 2)

ในการวิจารณ์ถึงฝีพระหัตถ์และฝีมือในการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารนั้น ฝีพระหัตถ์และฝีมือแตกต่างกันมาก หรือพูดตามภาษาชาวบ้านก็คือ ฝีมือของอาจารย์พระพรหมสู้ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครูไม่ได้ ฝีมือต่ำกว่าในเรื่องรูปแบบ รูปทรง และองค์ประกอบ ในที่นี้ขอยืนยันว่าบรรดาช่างลูกศิษย์มิได้เอางานทั้ง 2 ชิ้นมาเปรียบเทียบกันเลย การรังสรรค์งานต่างกรรมต่างวาระกัน งานในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับงานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังจะได้วิเคราะห์ต่อไป

๒ ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร ราชบัณฑิต
๓-๔ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ผู้เขียนเรียนวิชาสถาปัตยกรรมไทยกับท่านอาจารย์พระพรหมที่คณะสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเป็นคณะที่ 2 ในการสอนวิชาสถาปัตยกรรม หลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนมาก่อนหลายปี โดยเฉพาะท่านอาจารย์พระพรหมสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยให้กับนักศึกษาและนิสิตของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยอยู่หลายปีการศึกษา

๕ ซุ้มประตู (ซ้าย) และซุ้มหน้าต่าง (ขวา) พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราช
วรวิหาร

วิธีการสอนของท่านอาจารย์พระพรหม

สำหรับคณะสถาปัตยกรรมไทย ท่านอาจารย์พระพรหมร่วมกับท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านอาจารย์พระพรหมดำรงตำแหน่งคณบดีท่านแรก ท่านจะเข้าสอนและให้งานภาคปฏิบัติ ตลอดระยะเวลาที่ท่านสอน และตรวจงานภาคปฏิบัติ ท่านจะอธิบาย ติ ชม ทั้งแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกต้อง
และไม่ถูกต้อง

ขณะที่ท่านสอนจะกล่าวยกย่องถึงสมเด็จครูอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา ทำให้นักศึกษารู้ถึงวิธีการดำรงชีวิต การทำงาน รวมทั้งความภูมิใจของตัวอาจารย์ที่ได้สนองงานกับสมเด็จครูด้วยการเทิดทูนอย่างสูงสุด

ที่กล่าวมาคือนิสัยของลูกศิษย์ที่เป็นช่างกับครูบาอาจารย์ที่เป็นช่างด้วยกัน การเคารพนับถือในเรื่องส่วนตัว นิสัยใจคอแล้ว ลูกศิษย์ยังเคารพนับถือผลงานของท่านอาจารย์ด้วย ลูกศิษย์จะละเว้นการวิจารณ์ถึงผลงานของอาจารย์ด้วยความเคารพ งานทุกชิ้นที่อาจารย์พระพรหมทำ หลังจากที่นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าถวายตัวจะไม่ทิ้งทีท่าหรือชั้นเชิงในผลงานของสมเด็จครู

เมื่อพบหรือศึกษาผลงานของท่านอาจารย์พระพรหมก็จะเห็นทีท่าของผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครูไปในเวลาเดียวกัน ไม่ถือว่าเป็นการลอกแบบ แต่ทำในกรณีที่ลูกศิษย์นับถือผลงานของอาจารย์

๖-๗ พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
๘ ทรวดทรงของหลังคาพระอุโบสถวัดเบญจม
บพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
๙ ทรวดทรงของหลังคาพระอุโบสถวัดพระศรี
มหาธาตุวรมหาวิหาร
๑๐ ลักษณะการตกแต่งเครื่องลำยองพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
๑๑ ลักษณะการตกแต่งเครื่องลำยองพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
๑๒ ลักษณะของช่อฟ้าพระอุโบสถวัดพระศรี
มหาธาตุวรมหาวิหาร

รูปแบบ

ในกรณีของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กับพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารนั้นสร้างต่างสมัยกัน ทั้งอุปกรณ์ โครงสร้าง องค์ประกอบก็แตกต่างกัน รวมทั้งแตกต่างกันในระบอบการปกครองระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ ทรงสูง โปร่งเบา

สิ่งตกแต่งองค์ประกอบของหลังคา เช่น เครื่องลำยอง ซึ่งมีช่อฟ้า หางหงส์ ใบระกา ทำด้วยไม้ลงรักปิดทองอย่างเดียว มิได้ปิดด้วยกระจก ทำให้ดูสวยงาม มีคุณค่า มีความเป็นผู้ดี ยิ่งตัวพระอุโบสถ เสาบุด้วยหินอ่อนชั้นดี หน้าบันเป็นลวดลายปิดทองอย่างเดียว ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง คันทวยก็ปิดทองอย่างเดียวกันเช่นกัน

โดยเฉพาะเครื่องมุงหลังคา สมเด็จครูทรงนำกระเบื้องกาบูมาใช้ใหม่ หลังจากที่ว่างเว้นการใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย กระเบื้องกาบูที่ใช้ในสมัยอยุธยาเป็นกระเบื้องดินเผาธรรมดา กระเบื้องกาบูที่สมเด็จครูนำมาใช้กับพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารนั้นเป็นกระเบื้องเคลือบสีสดใสสวยงามมาก ส่งเสริมให้สถาปัตยกรรมมีคุณค่าสูงสมบูรณ์ลักษณ์ในด้านสถาปัตยกรรม ค่าก่อสร้างมหาศาลในสมัยนั้น แต่ที่สร้างได้สวยงามมีคุณค่า เพราะการสร้างในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง (ภาพที่ 3-5)

ส่วนพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารสร้างในสมัยหลัง เมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งต้องใช้เวลาเร่งด่วนในการออกแบบเพื่อใช้ในการอุปสมบทนักการเมืองในขณะนั้น ท่านอาจารย์พระพรหมจึงมีปัญหาในเรื่องสายตาในเวลาต่อมา เพราะใช้สายตาคร่ำเคร่งในการออกแบบเขียนแบบ

คอนกรีตเสริมเหล็กเริ่มเข้ามามีบทบาทในการก่อสร้างในประเทศไทย ในวงการช่างยกย่องกันว่าท่านอาจารย์พระพรหมเป็นช่างคนแรกที่นำเอาคอนกรีตเสริมเหล็กมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมไทยอย่างประสบผลสำเร็จเป็นอย่างเลิศ ตัวอย่างเช่น ซุ้มประตูพระบรมมหาราชวังที่ชื่อ ประตูสวัสดิโสภา ด้านหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ด้วยความเคารพในการเป็นศิษย์กับอาจารย์ และเคารพในเรื่องผลงาน รวมทั้งวัสดุในการก่อสร้าง และงบประมาณ ท่านอาจารย์พระพรหมจึงได้ออกแบบพระอุโบสถในรูปแบบและรูปทรงดังที่เห็นในปัจจุบัน ผู้เขียนเชื่อและยืนยันได้ว่า ท่านอาจารย์พระพรหมจะออกแบบพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารให้ทรวดทรงเหมือนหรือใกล้เคียงกับรูปแบบและรูปทรงของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารก็ย่อมได้

แต่ด้วยความเคารพในตัวสมเด็จครูในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์ และเคารพในผลงาน ท่านอาจารย์พระพรหมจึงออกแบบให้มีความสูงน้อยกว่าทั้งตัวพระอุโบสถและความสูงของส่วนหลังคา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้มีนักวิจารณ์ นักเขียนวิจารณ์ว่าพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารมีความงดงามน้อยกว่า

รวมทั้งใช้คอนกรีตในการทำเครื่องตกแต่งหลังคา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง บัวหัวเสา และอื่นๆ ไม่สามารถทำให้มีความอ่อนช้อยบอบบางอย่างที่ทำด้วยไม้ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งช่อฟ้า หางหงส์ ใบระกา มีความหนักแน่นแข็งแรง โดยเฉพาะมิได้ปิดทองอย่างเดียวเช่นพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร (ภาพที่ 6-11)

สรุป

ผู้เขียนยอมรับในเรื่องผลงานของสมเด็จครูและของท่านอาจารย์พระพรหม ที่มีความงามและความสมบูรณ์แบบเหมือนกัน แต่ความงามความสมบูรณ์แบบต่างกรรมต่างวาระกัน (ภาพที่ 12-15)

ไม่สมควรที่จะนำพระอุโบสถทั้ง 2 วัดมาเปรียบกัน เข้าใจแต่ว่าเป็นการเคารพกันในระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ทั้งในเรื่องส่วนตัวและผลงานมากกว่า


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนโดย รศ. สมใจ นิ่มเล็ก เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2556

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2560