จอมพลอังกฤษต้องการ “ดาบประจำตำแหน่ง” ของจอมพลญี่ปุ่นมาถวายราชวงศ์ หลังชนะสงคราม

จอมพลเมาท์แบตตัน (Lord Mountbatten) อดีตผู้บัญชาการใหญ่กองทัพสัมพันธมิตรภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 และอุปราชคนสุดท้ายของอินเดีย เมื่อ 27 มิถุนายน 1973 ในวาระรำลึกวัน D Day ที่หาด Arromanches ประเทศฝรั่งเศส (ภาพจาก AFP)

นายพลอาเคโตะ นากามูระ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยกล่าวถึงการเตรียมตัวก่อนการประกอบพิธียอมจำนนที่สิงคโปร์ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2488 เนื้อหาตอนหนึ่งเอ่ยถึงเรื่องความต้องการของอังกฤษเกี่ยวกับ ดาบประจำตำแหน่ง ของจอมพลญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“ข้าพเจ้าทราบว่าผู้บัญชาการกองทัพใหญ่จอมพลเทราอูจินั้นไม่สามารถเข้าร่วมในพิธียอมจำนนนี้ในวันรุ่งขึ้นได้ เนื่องจากว่าท่านป่วยหนัก เพราะฉะนั้นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 7 คือ พล.อ.อิตากากิ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดจะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจเต็ม ร่วมด้วยผู้บัญชาการกองทัพภาคพม่า พล.อ.เฮจิตาโร คิมูระ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศที่ 3 พล.อ.ท.ฮายาชิ คิโนชิตะ หัวหน้าเสนาธิการทหารของกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ พล.อ.ทากาโซะ นูมาตะ ผู้บัญชาการกองทัพเรือภาคที่ 10 พล.ร.ท.ชิเกรุ ฟูกุโดเมะ ผู้บัญชาการกองเรือทิศใต้ที่ 2 พล.ร.ท.ยาอิจิโร ชิบาตะ และถัดมาคือข้าพเจ้า

พวกเรารวม 6 คนได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ พล.อ.อิตากากิ ในวันนั้น พล.อ.อิตากากิ กล่าวกับพวกเราว่า

‘ข้าพเจ้ารับแขกผู้มีความสำคัญสูงสุดทั้งจากทางบกและทางเรือในเขตภาคพื้นทิศใต้ แต่เตรียมการอะไรไม่ได้มาก ต้องขออภัยด้วยที่อาหารค่ำวันนี้เหมือนกับที่กินกันอยู่ในกลางสนามรบ แต่ก็ด้วยความพยายามของนายทหารคนสนิทค่ำวันนี้จึงมีเหล้ามาด้วย ขอให้ดื่มเพื่อคลายความทุกข์ด้วยกัน’

กล่าวจบแล้วท่านยกขวดเหล้ารินให้พวกเราทุกคนอย่างสง่างาม ข้าพเจ้ามีความรู้สึกซาบซึ้งใจไม่สามารถบรรยายได้ และพวกเราได้ดื่มเหล้านั้นกันหมดทุกคน

หลังจากนั้นพวกเราได้พูดคุยกันในเรื่องต่างๆ และท้ายสุดหัวหน้าเสนาธิการทหารกองทัพใหญ่นูมาตะยืนขึ้นกล่าวว่า

‘มีเรื่องที่อยากรายงานให้ทุกคนทราบ คือจอมพลเมาท์แบตตันต้องการให้จอมพลเทราอูจิมอบดาบประจำตำแหน่งให้ตนเอง และจะนำขึ้นถวายกษัตริย์อังกฤษต่อไป

แต่ดาบประจำตำแหน่งของจอมพลเทราอูจิ ซึ่งพลเอกโตโจนำมามอบให้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2486 นั้น เราได้ส่งคืนกลับที่โตเกียวเพื่อเก็บเป็นสมบัติของตระกูลหลังจากนั้นไม่นาน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถตอบสนองในข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นได้

ส่วนดาบซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันมีฐานะไม่สมเกียรติกับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพใหญ่ เมื่อยุติสงครามแล้วเราจึงได้ขอให้ส่งดาบพิเศษมาจากโตเกียวหนึ่งเล่ม

แล้วทางกองทัพอังกฤษได้มีคำสั่งว่าในพิธีวันพรุ่งนี้ ให้พล.อ.อิตากากิเดินนำขบวนถือดาบยกสูงเฉียงไว้ในระดับศรีษะ การสั่งทำแบบนี้เป็นการดูถูกอย่างหนึ่ง ฝ่ายเราได้ตอบปฏิเสธไป 3-4 ครั้งแล้วว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ทางฝ่ายโน้นรับไปพิจารณาแล้วมีท่าทีว่าพอเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ถ้าในวันพรุ่งนี้ทางโน้นกำหนดมาเช่นเดิมอีก ฝ่ายเราควรตอบปฏิเสธยืนยันไป’

เรื่องนี้พวกข้าพเจ้าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระ เกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา” แปลโดย เออิจิ มูราชิม่า, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546. น. 212-214.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กรกฎาคม 2561 แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาเมื่อ 4 ตุลาคม 2564