ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
สำรวจความเป็นของพระราชดำรัสใน รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิก “หมอบคลาน” ปรับธรรมเนียมครั้งใหญ่ช่วงต้นรัชสมัย
“—ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ—”
เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตรัสต่อที่ประชุมมหาสมาคมหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2416 เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา เป็นการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมครั้งใหญ่ คือ เปลี่ยนจากการหมอบคลานเข้าเฝ้าหรืออยู่เฉพาะพระพักตร์มาเป็น
การยืนโค้งศีรษะตามแบบอารยประเทศ
ธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตกอันเนื่องมาจากแนวคิดที่ต่างกัน ทำให้ชาวตะวันตกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่กดขี่เหยียบย่ำมนุษย์ด้วยกัน นั่นคือธรรมเนียมการหมอบคลานของบรรดาข้าทาสบริวารที่ปฏิบัติต่อบรรดาเจ้านายของตน ดังปรากฏในคำวิจารณ์ของชาวตะวันตกที่มีโอกาสเข้ามาติดต่อกับชาวสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น มิสเตอร์ฟินเลสัน (Mr. Finlayson) หนึ่งในคณะทูตของ จอห์น ครอว์เฟิร์ด บันทึกวิจารณ์ไว้ว่า
“—วิธีที่บรรดาคนรับใช้ปฏิบัติต่อเสนาบดีดุจทาสนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งเป็นการเหยียบย่ำมนุษยชาติด้วยกันเอง ตลอดระยะเวลาการเข้าพบเสนาบดีนั้น พวกเขาทั้งหมอบราบกับพื้นเบื้องหน้าเสนาบดีในระยะห่าง ในขณะที่พูดกับเสนาบดีนั้น พวกเขาไม่กล้ามองสบตาเสนาบดี—”
และยังบันทึกถึงเรื่องนี้อีกหลายตอน เช่น
“—ในการนำเครื่องดื่มออกมารับรองแขกเมืองนั้น บรรดาผู้รับใช้คลานขึ้นไปข้างหน้าโดยข้อศอกและนิ้วเท้ายันตัวเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ในลักษณะเช่นนี้ พวกเขาผลักจานไปข้างหน้าเป็นระยะๆ ด้วยท่าทีอันเกิดจากการถูกบังคับเยี่ยงสัตว์—”
“—หัวหน้าผู้เย่อหยิ่งผู้นี้ ซึ่งมีตำแหน่งเสนาบดีลำดับที่ ๕ ตามความสำคัญ ยังต้องหมอบคลานเยี่ยงสัตว์ เมื่อไปเข้าเฝ้า Chromachit ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ทุกคนในประเทศนี้ต้องหมอบคลานเมื่ออยู่เบื้องหน้าเจ้านายผู้บังคับบัญชาประชาชาติทั้งมวล เป็นทาสของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงจัดการชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาตามพระราชอัธยาศัย—”
จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) บรรยายการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินไว้ว่า
“—นอกจากทางแคบๆ ที่เหลือเป็นทางเดินสำหรับทูตและคณะผู้ติดตามแล้ว พื้นท้องพระโรงทั้งหมดเต็มไปด้วยผู้คนที่หมอบราบอยู่กับพื้น ศีรษะของพวกเขาก้มต่ำลงจรดพื้นหันไปทางบัลลังก์ มือของพวกเขาเท่านั้นที่ประสานกันอยู่เหนือศีรษะในท่าแสดงความจงรักภักดี มันเป็นความยำเกรงและการยกย่องสรรเสริญต่อพระเจ้ามากกว่าที่จะเป็นความเคารพนับถือที่แสดงต่อผู้ปกครองแผ่นดิน—”
คำวิจารณ์เหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อการติดต่อคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก เพราะนโยบายสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติของพระมหากษัตริย์ไทย คือ การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อมิให้ชาวตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงการบริหารบ้านเมืองของไทย ทรงตระหนักพระทัยถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตกเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมหมอบคลานอันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งชาวตะวันตกถือเป็นเรื่องสำคัญของเหล่ามนุษยชาติที่ทุกชีวิตจะต้องมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอกัน
ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นวันแรก
จึงทรงประกาศยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานว่า
“—ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ—”
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2562