ผู้เขียน | ผุสชา การะเกตุ |
---|---|
เผยแพร่ |
สำรวจ “แก้งลิ่ง” เครื่องดนตรีที่ทำจากชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ มีที่มาที่ไปอย่างไร
จากการศึกษาทางดนตรีชาติพันธุ์วิทยา ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศรัณย์ นักรบ ทำให้ทราบว่ามีเครื่องดนตรีที่ทำจากชิ้นส่วนกระดูกของมนุษย์อยู่ด้วย
ในอดีตมนุษย์เราใช้ประโยชน์จากสัตว์เพื่อเป็นอาหารและใช้ทำงานรวมถึงนำอวัยวะของสัตว์เช่นหนังสัตว์กระดูกเขาสัตว์หรืออวัยวะส่วนต่างๆมาทำเครื่องนุ่งห่มสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆและเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีและส่วนประกอบของเครื่องดนตรีที่ทำมาจากอวัยวะต่างๆ ของสัตว์นั้นอวัยวะส่วนที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดคือหนังสัตว์ซึ่งมักจะนำมาขึงเป็นหน้าหนังกลองหรือนำมาหุ้มบริเวณกล่องเสียงหรือกะโหลกซอ
กระดูกและเขาสัตว์ถูกนำมาใช้ทำเป็นแตรที่ทั่วทุกมุมโลกรู้จักในรูปแบบของแตรเขาสัตว์ส่วนอวัยวะส่วนอื่นๆ ของสัตว์ได้ถูกนำมาใช้เช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นถุงเก็บลมของปี่ประเภท Bagpipe ที่ทำจากกระเพาะสัตว์ พิณบางชนิดในแอฟริกาที่ทำจาก กระดองเต่า หรือเอ็นสัตว์ที่นำมาทำเป็นสายของเครื่องสายหลายชนิด และหางม้าที่ได้นำมาทำเป็นคันสีของเครื่องสาย รวมถึงหอยสังข์ในทะเลที่ได้นำมาใช้เป็นแตรสำหรับเป่าให้สัญญาณ เป็นต้น
ส่วนเครื่องดนตรีที่ทำมาจากชิ้นส่วนกระดูกของมนุษย์นั้นก็คือแก้งลิ่ง (Gangling) เป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเหมือนกับแตร ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ของทิเบต โดยชิ้นส่วนกระดูกของมนุษย์ที่นำมาใช้คือ กระดูกส่วนโคนขาของมนุษย์ ซึ่งคำว่า “แก้ง” มีความหมายว่า ขา ส่วนคำว่า “ลิ่ง” มีความหมายว่าขลุ่ย
โดยปกติชาวพุทธในทิเบตไม่ว่าพระสงฆ์หรือฆราวาสต่างต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาทั้งนั้นโดยในพิธีจะมีการสวดมนต์ประกอบกับเครื่องดนตรีต่างๆ
ในแต่ละเดือนจะต้องมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 7 วันที่ชาวทิเบตจะต้องจัดงานพิธีกรรมที่พิเศษเฉพาะขึ้นมาชาวทิเบตเชื่อว่าในช่วงของวันพิธีกรรมที่สำคัญอย่างนี้ไม่ว่าจะสร้างกรรมดีหรือกรรมร้ายผลของกรรมย่อมจะให้ผลอย่างอนันต์และอย่างมหันต์
ทุกๆ วันพุธ ชาวทิเบตเชื่อว่าเป็นวันมงคลที่ต้องประกอบพิธีเพราะเชื่อว่าวันพุธคือวันประสูติขององค์ทะไลลามะในวันที่พระจันทร์เต็มดวงพระสงฆ์ก็จะร่วมกันสวดมนต์ให้พิเศษกว่าวันอื่นๆและในวันประกอบพิธีสารภาพก็เช่นเดียวกันคือจะมีการสวดมนต์ชนิดพิสดารกว่าปกติส่วนชาวบ้านก็จะประกอบพิธีพร้อมกับการรักษาศีลแปดติดต่อกันสองวันซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเครื่องดนตรี “แก้งลิ่ง” นี้ อาจจะถูกใช้ในพิธีกรรมใดพิธีกรรมหนึ่ง
การใช้ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์มาทำเครื่องดนตรีในพิธีกรรมทางศาสนาอาจเป็นนัยยะเกี่ยวกับความเชื่อและคำสอนของลัทธินิกายนั้นๆของกลุ่มบุคคลเฉพาะกลุ่มซึ่งกลุ่มคนบางกลุ่มอาจจะไม่ประพฤติเช่นเดียวกัน
พิธีกรรมความเชื่อวิถีปฏิบัติของแต่ละสังคมอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิต่างๆ เป็นวิจารญาณส่วนบุคคลไม่ว่าศาสนาใดลัทธิหรือนิกายใดๆ ย่อมสอนให้บุคคลสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุขและยังเป็นการสร้างข้อตกลงที่สังคมยอมรับร่วมกันรวมทั้งสั่งสอนให้บุคคลเป็นคนดีมีความประพฤติดีตามที่สังคมนั้นๆ ยอมรับเช่นกันทุกๆ ศาสนา
อ่านเพิ่มเติม :
- ขิม เครื่องดนตรีจีนเข้ามาผสมผสานกับดนตรีไทยได้อย่างไร? ตอนไหน?
- ถกเรื่อง “เปี๊ยะ” พิณโบราณ-เครื่องดนตรีหายาก ผู้หญิงเล่นไม่ได้จริงหรือ?
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาลัยศาสนศึกษา. 2552.
พิธีกรรมและเทศกาลของศาสนาพุทธในทิเบต. สืบค้นได้จาก: http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/rite_tibetbuddhism.htm. (สืบค้นวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2560).
ศรัณย์ นักรบ. 2557. ดนตรีชาติพันธุ์วิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Steph Houstein. ม.ป.ป. Kanglings, silver, bone. สืบค้นได้จาก: https://www.pinterest.com/pin/563935184573143797/. (สืบค้นวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2560).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กรกฎาคม 2560