ขิม เครื่องดนตรีจีนที่เข้ามาผสมผสานกับดนตรีไทย อย่างไร? ตอนไหน?

อาจารย์อรวรรณ บรรจงศิลป (ตีขิม) นักตีขิมฝีมือดีคนหนึ่งของไทย (ภาพจาก “วิศิษฏศิลปินปิ่นสยาม” )

ขิม เป็นเครื่องดนตรีจีนที่เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว คนจีนเล่นชิมทั้งแบบเดี่ยวและเป็นวง ทั้งในบ้านและสถานที่ต่างๆ

คนไทยเมื่อได้ฟังคนจีนตีขิมก็ประทับใจ เพราะวิธีตีขิมนั้นมีทั้งการสะบัด, กรอ, รัว, ขยี้คล้ายกับตีระนาด และทำได้ว่องไวกว่า เพราะไม้ขิมเบากว่าไม้ระนาด จึงมีคนไทยนิยมหัดตีขิมมากขึ้น

นอกจากลีลาการตีขิมจะเป็นที่ประทับใจแล้ว เพลงขิมของจีนก็เป็นเป็นที่ชื่นชอบเช่นกัน

สมัยรัชกาลที่ 4 ปรมาจารย์ดนตรีไทยอย่างพระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) ประทับใจเพลงขิมของจีน จึงแต่งเพลงหนึ่งให้ชื่อว่า “จีนขิมเล็ก” ที่เป็นเพลง 3 ชั้น และ 2 ชั้น ต่อมาปี 2476 อาจารย์มนตรี ตราโมท แต่งเป็นเพลงชั้นเดียวให้ครบเป็นเถา

ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ครูช้อย สุนทรวาทิน นำเพลงจีนของเก่าเพลงหนึ่งมาประดิษฐเป็นเพลง 3 ชั้น ที่มีจังหวะยาวกว่าเพลงจีนขิมเล็ก ให้ชื่อว่า “จีนขิมใหญ่”

ต้นรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการนำขิมเข้ามาประสมวงเครื่องสายไทย แต่วงดนตรีหลวงเริ่มบรรเลงเครื่องสายผสมขิมครั้งแรกปลายรัชกาลประมาณปี 2467 ครั้งนั้นรัชกาลที่ 6 ประชวรอยู่ ณ พระราชวังพญาไท กรมมหรสพจัดให้ พระยาอารักษ์นัฏกาภรณ์ (ผล ผลวัฒนะ) เข้าไปเล่านิทานถวายข้างพระที่ นอกห้องพระบรรทมจัดให้มีวงเครื่องสายผสมขิม โดยพยายามทำให้เสียงเบาแต่ฟังนุ่มนวล ขิมจึงใช้สักหลาดรองไว้ ส่วนซอด้วงก็ใช้ผ้าอุดพอหลวมๆ เป็นต้น

ผู้บรรเลงมีล้วนแต่ฝีมือชั้นครูทั้งสิ้น ได้แก่ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) สีซอด้วง, พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) สีซออู้, พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) เป่าขลุ่ย, นายจ่าง แสงดาวเด่น ดีดจระเข้, พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) ตีโทน, พระประดับดุรยกิจ (แหยม วิณิน) ตีรำมะนา, นายมนตรี ตราโมท ตีขิม ขับร้องและตีฉิ่งโดย หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย)

ผลปรากฏว่ารัชกาลที่ 6 ทรงชมว่า เพราะดี และช่างคิด จากนั้นก็เริ่มออกบรรเลงทางวิทยุกระจายเสียงจึงมีผู้เล่นตามจนทุกวันนี้

เพลงขิมที่ใช้เดี่ยวกันบ่อยๆ มีมากมายหลายเพลง เช่น ลาวแพน,สารถี, พญาโศก, นกขมิ้น จนถึง แขกมอญ ส่วนผู้ที่เดี่ยวขิมอัดแผ่นเสียงคนแรกคือ ครูพุฒ นันทพล อัดแผ่นเสียงตราพาโลโฟน ที่ห้างสุธาดิลก ในสมัยรัชกาลที่ 7 ต่อมาก็มีครูดนตรีท่านอื่นทยอยตามมา เช่น ครูย้อย เกิดผล อัดแผ่นตราโอเดี้ยน, อาจารย์มนตรี ตราโมท อัดแผ่นเสียงพาโลโฟน บันทึกที่บ้านนรสิงห์ ฯลฯ

ส่วนนักตีขิมคนสำคัญ นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็มีครูพร้อม (ศิษย์เจ้าคุณประสานดุริยศัพท์) รุ่นร่วมสมัยก็มี สุวิทย์ บวรวัฒนา-อดีตเอกอัครราชทูต, นายแพทย์วราห์ วรเวช, ครูรำพึง โปร่งแก้วงาม, ชยุดี วสวานาท์ ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์, อาจารย์อรวรรณ บรรจงศิลป


ข้อมูลจาก

นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล. “ขิมกับเพลงไทย” ใน,  สยามสังคีต พิมพ์ครั้งแรก 2524, สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, สยามสังคีต


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2563