ผู้เขียน | จุมพฏ สายหยุด |
---|---|
เผยแพร่ |
สตรีในสายสกุล “บุนนาค” จะปรากฏมีบทบาท “นำสมัย” ในหน้าประวัติศาสตร์เสมอ นับตั้งแต่ เจ้าจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์) ผู้เป็น “รักแรก” ในรัชกาลที่ 5, สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี, เจ้าจอมก๊กออ หรือ เจ้าจอมพงศ์ออ ( เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน), คุณหญิงมณี สิริวรสาร ผู้เป็นที่มาของหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร”, หม่อมปริม ยุคล ณ อยุธยา หม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นต้น
ตระกูลใหญ่ “บุนนาค”
บุนนาคเป็นตระกูลใหญ่ และมีบทบาทสูงในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา จากต้นตระกูลบุนนาค คือ เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ชาวเปอร์เซียที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนถึงยุครัตนโกสินทร์ที่ก้าวสู่จุดสูงสุด คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ช่วงเวลาดังกล่าว สมาชิกสกุลบุนนาค มีบทบาทสูงทั้งฝ่ายชายในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่เรียกกันว่า “ฝ่ายหน้า” และฝ่ายหญิงในราชสำนัก หรือ “ฝ่ายใน” ดังในรายงาน “สตรี ‘บุนนาค’ ผู้เสริมสร้างอำนาจตระกูลในพระราชสำนักฝ่ายใน เป็นคนโปรดใช่แค่สวย?” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2543
บุคคลในสกุลบุนนาค ถือว่าการถวายบุตรธิดาเข้ารับราชการในพระราชสํานักเป็นการแสดงความจงรักภักดีอย่างหนึ่ง และได้ถือปฏิบัติกันสืบมา ในทุกรัชสมัยจึงปรากฏบุคคลในสกุลบุนนาคถวายตัวเข้ารับราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเป็นจํานวนมาก
การเข้ารับราชการของบุคคลสกุลบุนนาคเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าในทุกสายงาน ซึ่งน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น โอกาสในการถวายตัวใกล้ชิดมีมาก ทําให้ได้เรียนรู้งานและนโยบายบ้านเมือง จึงมีโอกาสแสดงความสามารถให้ตรงตามพระราชประสงค์ และเป็นที่พอพระราชหฤทัยได้ง่าย
ปัจจัยสําคัญอีกประการหนึ่งคือ คุณสมบัติส่วนตัวของบุคคลในตระกูล ที่มีความฉลาดเฉลียว อดทน ขยันขันแข็ง ชื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระบรมราชวงศ์ ประการสุดท้ายคือ จํานวนสมาชิกในสกุลซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระจายกันควบคุมหน่วยงานสําคัญของบ้านเมืองแทบจะทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นการสอดประสานเอื้ออํานาจและอิทธิพลให้กันและกัน
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีสตรีในสกุลบุนนาคที่ถวายตัวเป็นข้าราชสํานักฝ่ายใน รวมทั้งสิ้น 8 ท่าน ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มี 14 ท่าน
สตรีที่ถวายตัวใน 2 รัชสมัยนี้ ส่วนมากเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต) บุตรชายคนสําคัญของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา มี 14 ท่าน คือ คุณหญิงแพ, คุณหญิงพลอย, คุณแข (เจ้าคุณตําหนักใหม่), คุณปุก (เจ้าคุณกลาง), คุณหรุ่น (เจ้าคุณ น้อย), คุณหญิงปริก, คุณหญิงสายหยุด, คุณนุ่ม (เจ้าคุณตําหนักเดิม), เจ้าคุณหญิงเป้า, เจ้าคุณหญิงคลี่, คุณหญิงสวน, คุณหญิงปาน, คุณหญิงลิ้นจี่ และ คุณหญิงเลื่อน
“ข้าราชการฝ่ายใน” สายสกุลบุนนาค สมัยรัชกาลที่ 4-5
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสตรีสกุลบุนนาคถวายตัวเข้ารับราชการในพระราชสํานักฝ่ายในถึง 34 ท่าน ดังนี้
เจ้าจอมมารดาสําลี, เจ้าจอมหนูสุด, เจ้าจอมวัน, เจ้าคุณจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์), เจ้าจอมมารดาโหมด, เจ้าจอมเหรียญ, เจ้าจอมอ้น, เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ, เจ้าจอมเอื้อน, เจ้าจอมแส, เจ้าจอมแก้ว, เจ้าจอมโหมด, เจ้าจอมจีน, เจ้าจอมเยื้อน, เจ้าจอมวอน, เจ้าจอมอบ, เจ้าจอมพิศว์, เจ้าจอมเลียม, เจ้าจอมแถม, เจ้าจอมเชย, เจ้าจอมปุก, คุณแปลก, คุณพรรณสุริยา, คุณอ้น, คุณหงิม, คุณเชย, คุณปุย, คุณลําจวน, คุณสดับ, คุณสดม และ คุณวรันดับ
ใน 4 รัชสมัย ปรากฏสตรีนาม “แพ” 2 ท่าน คือ คุณหญิงแพ และ เจ้าจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์) ซึ่งบุคคลท่านหลังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
มูลเหตุชื่อ “แพ” ได้รับคำอธิบายกรณีเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า เพราะท่านเกิดที่แพริมแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งเขตธนบุรี ท่านเป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และเป็นหลานสาวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นเสนาบดีที่มีอํานาจมากในแผ่นดิน
เจ้าจอมมารดาแพ เป็นหม่อมในรัชกาลที่ 5 ก่อนพระองค์จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และเป็นสตรีที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีความรักให้เป็นคนแรกก็ว่าได้ เพราะมีหลักฐานปรากฏถึงเรื่องราวความรักที่ทรงมีต่อคุณแพเยี่ยงหนุ่มสาวทั่วไป
เจ้าจอมมารดาแพได้ผูกพระทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ด้วยคุณสมบัติพิเศษ ที่ทําให้ทรงต้องรําลึกถึงท่านในฐานะสตรีคนแรกที่ทรงมีพระราชหฤทัยปฏิพัทธ์ โปรดพระราชทานเกียรติยศเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ และโปรดยกย่องเหนือเจ้าจอมคนอื่น ๆ ตลอดรัชสมัย
กรณียกิจที่สำคัญของท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 (เป็นผู้ที่ถวายน้ำนมจากหน้าอกของท่านแก่บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา เพื่อเป็นปฐมมงคล) รวมทั้งทรงเป็น ผู้นำแฟชั่น สนองพระราโชบายรัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชประสงค์ให้สตรีเลิกไว้ผมปีกอย่างโบราณ เปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวแทน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงไว้ผมยาวประบ่า และขมวดปลายผมเบื้องต้น จนมีหญิงชาววังจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาไว้ผมยาวในภายหลัง
แม้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ล่วงถึง พ.ศ. 2484 เจ้าคุณพระประยูรวงศ์อยู่ในวัยชราใกล้จะถึง 90 ปี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศชักชวนสตรีไทยให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เช่นเปลี่ยนตัดผมสั้นเป็นไว้ยาว เปลี่ยนนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งถุง ให้ใส่เกือก ใส่หมวก เป็นต้น
รัฐบาลไทยได้ชวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้เป็นผู้นำสตรีที่มีบรรดาศักดิ์ให้เปลี่ยนแปลง ท่านก็ยินดีรับช่วย และเอาตัวของท่านออกหน้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามอย่างที่ต้องการ ก็มีผลให้ผู้อื่นปฏิบัติตามท่านอย่างคึกคัก ท่านจึงได้รับความเคารพนับถือจากรัฐบาลในสมัยนั้น ได้รับเชิญไปเข้าสมาคม และไปเป็นประธานในการให้รางวัลต่าง ๆ ต่อมาเนือง ๆ
ทุกวันนี้บทบาททั้งในฝ่ายหน้าและฝ่ายในของตระกูลบุนนาค ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ก็ได้แทรกตัวมีบทบาททั้งในวงการราชการ ตำรวจ ทหาร นักวิชาการ นักออกแบบ แพทย์ ภาคเอกชน นักแสดง รวมทั้งในแวดวงนักกฎหมาย เช่น ศาสตราจารย์พิเศษไชยวัฒน์ บุนนาค และบุตรสาวคือ ปาลาวี เป็นต้น
เรื่อง : จุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บมจ. มติชน
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระภรรยาที่รัชกาลที่ 5 ทรง “จีบ” แต่ถูกผู้ใหญ่ขัดขวาง
- ทำไมเจ้าจอมพระสนมในรัชกาลที่ 5 มีสกุล “บุนนาค” มากกว่าสกุลอื่น
- เจ้าจอมคนโปรดแห่งพระราชสำนักฝ่ายใน กับการชิงดีชิงเด่นผ่าน “เจ้าจอมก๊กออ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“สตรี ‘บุนนาค’ ผู้เสริมสร้างอำนาจตระกูลในพระราชสำนักฝ่ายใน เป็นคนโปรดใช่แค่สวย?” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2543
“เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ผู้นำแฟชันสตรีไทย”. ศิลปวัฒนธรรม. 13 สิงหาคม 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2566