พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ส่งถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อยู่ที่ไหน?

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Anselm van Hulle, via Wikimedia Commons)

ประวัติศาสตร์ไทยก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นที่มืดมนมาจนทุกวันนี้ เนื่องจากเอกสารไทยได้ถูกเผาทำลายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่ปัจจุบันปรากฏว่ายังมีร่องรอยของเอกสารบางส่วนที่อาจจะไปตกค้างในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นพงศาวดารทั้งฉบับ

คู่มือทูต

ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาไทยแต่สูญหายไปแล้ว คงอยู่แต่ฉบับที่ได้ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งต้นฉบับก็สูญหายไปเช่นกันคงอยู่แต่ฉบับคัดลอก มีเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของคณะบาทหลวง Missions Estrangere de Paris (AME 854, ff.721-727) Michael Smithies ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์ในวารสารสยามสมาคม (JSS vol.90 part 1&2, 2002) มีข้อความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาว่า

“พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันสืบสันตติวงศ์มาจากสมเด็จพระปฐมสุริยนเรศวรบพิตร์ Seangae ซึ่งครองเมืองชัย Ppaha มหานคร เมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๐

โดยมีกษัตริย์ ๑๐ พระองค์สืบทอดกันในเมืองนั้น ต่อมาสมเด็จพระยาสุนทรธรเทพราชา (Sommedethia Prayasouttora Ttarrena Ttepperaacchaatti) ก่อตั้งกรุงยโศธร (ปุระ) นครหลวง

และมีกษัตริย์อีก ๑๒ พระองค์สืบทอดกันมา ต่อจากนั้นไปสมเด็จพระพนมทะเลศรีมเหศวรวารินทร์ราชบพิตร์ ไปอยู่สุโขทัย ใน พ.ศ. ๑๗๓๑ ท่านก่อตั้งเมืองเพชรบุรี

ที่มีกษัตริย์ ๔ องค์ครองเป็นระยะเวลา ๑๖๓ ปี ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีบพิตร์ ได้สืบสันตติวงศ์และสร้างกรุงสยามในปี ๑๘๙๔, ซึ่งเป็นราชธานีตลอดจนทุกวันนี้ โดยชื่อว่ากรุงเทพมหานครศรีอยุธยา

พระองค์ทรงครองอยู่ ๒๗ ปี ต่อไป สิริรวมมีกษัตริย์ ๕๐ พระองค์ ในระยะเวลา ๙๒๖ ปี”

ไมเคิล ไรท สันนิษฐานว่าต้นฉบับเป็นฝีมือราชบัณทิตกรุงศรีอยุธยาทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๔ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ทูตสยามคณะแรก (ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี ออกหลวงศรีวิศาลสุนทร และออกขุนนครวิชัย) เดินทางไปฝรั่งเศส ซึ่งน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะทูตคณะนี้ไปเรือแตกกลางทางเสียชีวิต เอกสารต่างๆ คงจะสูญหายไปด้วย

คู่มือทูต น่าจะเป็นการทำขึ้นภายหลังจากที่มีการส่งผู้แทนพระองค์ (ออกขุนพิชัยวาลิต และออกขุนพิชิตไมตรี) ไปสืบข่าวทูตคณะแรก โดยได้เดินทางไปถึงฝรั่งเศสและคงจะถูกซักถามเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับกรุงสยาม ทั้งนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้แทนพระองค์ทั้งสองคนอึดอัดไม่กล้าตอบคำถามโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับราชวงศ์จึงไม่ค่อยยอมไปพบปะกับใคร เมื่อกลับมาถวายรายงาน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชคงจะโปรดให้มีการจัดทำคู่มือฉบับนี้ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ สำหรับทูตคณะต่อไป (ออกพระวิสูตรสุนทร ออกหลวงกัลยาณราชไมตรี และออกขุนศรีวิสารวาจา) ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปกับคณะทูตฝรั่งเศสคณะแรกที่เดินทางกลับต้นปี พ.ศ. ๒๒๒๙ และเดินทางกลับมาพร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศสคณะที่สองเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๒๓๐ การแปลเอกสารนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสควรจะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปฝรั่งเศส ทำให้มีข้อความไปปรากฏในหนังสือของตาชาร์ดที่พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๒๒๙

ในคู่มือทูต เมื่อถูกซักถามถึงยศบรรดาศักดิ์ของทูต ให้ตอบว่า ท่านหนึ่งเป็นออกพระ, ท่านหนึ่งเป็นออกหลวง, ท่านหนึ่งเป็นออกขุน ซึ่งตรงกับบรรดาศักดิ์ของคณะทูตทั้งคณะแรกและคณะที่สอง ทำให้แน่ใจว่าไม่ใช่คู่มือที่จัดทำให้กับคณะของผู้แทนพระองค์

ในหนังสือ “พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวถึงหลักฐานหลายฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้นมีเอกสารฝรั่งเศส ๒ ฉบับ คือ

จดหมายเหตุของลาลูแบร์ (Simon de la Loubere)

ลาลูแบร์เป็นราชทูตนำคณะทูตฝรั่งเศสคณะที่สองมากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ หลังการเดินทางมาได้เขียนหนังสือชื่อ “A New Historical Relation of the Kingdom of Siam” เป็นภาษาฝรั่งเศสออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๔ ข้อความต่อไปนี้ สุจิตต์อ้างว่าคัดมาจากฉบับแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสโดยสันต์ ท. โกมลบุตร พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐

แผนที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ระบุชื่อที่ตั้งเมืองสำคัญ ชื่อเมืองพิบพลีเขียนว่า Pipeli

“พระปฐมบรมกษัตริย์ของชาวสยามนั้นทรงพระนามว่าพระปฐมสุริยเทพนรไทยสุวรรณบพิตร (Pra Poat honne Sourittep pennaratui sonanne bopitra) พระมหานครแห่งแรกที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นชื่อว่าไชยบุรีมหานคร (Tchai pappe Mahanacon) ซึ่งข้าพเจ้าไม่แจ้งว่าตั้งอยู่ที่ไหน เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงราชย์นั้นพระพุทธศาสนยุกาลล่วงแล้ว ๑๓๐๐ พรรษา นับตามศักราชสยาม

และมีพระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์ต่อมาอีก ๑๐ ชั่วกษัตริย์ องค์สุดท้ายทรงพระนามว่าพญาสุนทรเทศมหาเทพราช (Ipoia Sanne Thora Thesma Teperat) ย้ายพระนครหลวงมาตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองธาตุนครหลวง (Tasoo Nacora Louang) จะอยู่ยังแห่งหนตำบลใด ข้าพเจ้าก็ไม่แจ้งอีกเหมือนกัน ในปี พ.ศ. ๑๗๓๑

พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๒ สืบต่อจากพระองค์นี้ ซึ่งทรงพระนามว่าพระพนมไชยศิริ (Pra Poa Noome Thele Seri) ทรงให้อาณาประชาราษฎรของพระองค์อพยพตามไปยังเมืองนครไทย ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอันไหลมาจากภูเขาแดนลาว ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ ตอนเหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปเล็กน้อย แต่นั้นไปยังเมืองนครไทยไกลกัน ๔๐ ถึง ๕๐ ลี้ แต่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มิได้ประทับอยู่ ณ เมืองนครไทยตลอดมา หากได้เสด็จไปสร้างและประทับอยู่ ณ เมืองพิบพลี (Pipeli) บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งซึ่งปากน้ำนั้นอยู่ห่างราว ๒ ลี้ ข้างทิศตะวันตกของปากน้ำ

มีพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อมาอีก ๔ ชั่วกษัตริย์ องค์สุดท้ายทรงพระนามว่ารามาธิบดี (Rhamatilondi) ได้ทรงสร้างเมืองสยามนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๔ และเสด็จขึ้นดำรงสิริราชมไหสวรรย์สมบัติ ณ ที่นั้น ตามเนื้อความนี้ย่อมประจักษ์ว่าเมืองสยามมีความเก่าแก่มาถึง ๓๓๘ ปีแล้ว

พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันนับเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๕ เรียงแต่พระรามาธิบดีเป็นต้นมา แต่ในปี ค.ศ. ๑๖๘๙ นี้ทรงมีพระชนมายุได้ ๕๖ หรือ ๕๗ พรรษาแล้ว เมื่อเช่นนี้ก็รวมมีพระมหากษัตริย์สยาม ๕๒ พระองค์ในชั่วระยะ ๙๓๔ ปี โดยมิใช่พระราชวงศ์เดียวกันมาโดยตลอดสาย”

จดหมายเหตุของบาทหลวงตาชาร์ด (Guy Tachard)

บาทหลวงตาชาร์ดเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ๓ ครั้ง ครั้งแรกร่วมมาในคณะทูตฝรั่งเศสคณะแรกที่มีโชมองต์เป็นราชทูตในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ ครั้งที่สองร่วมมาในคณะทูตฝรั่งเศสคณะที่สองที่มีลาลูแบร์เป็นราชทูตในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ซึ่งทั้งสองครั้งอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๒๔๑ ในรัชกาลของสมเด็จพระเพทราชา หลังการเดินทางมาครั้งแรกได้เขียนหนังสือชื่อ “Voyage de Siam” เป็นภาษาฝรั่งเศสออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๙ ข้อความต่อไปนี้ สุจิตต์อ้างว่าคัดมาจากพงศาวดารโยนก

พระปฐมสุริยเทพ หรือไทยบรมบพิตร์ เสวยราชสมบัติ ณ ไชยบูรีมหานคร เมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๑๓๐๐ ปี จุลศักราชได้ ๑๑๘ ปี

.สืบพระวงศ์มาได้ ๑๐ ชั่วกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๐ ทรงพระนามอิโปยา หรือทิพย์สุนทรเทพมหาเทวราช ย้ายพระนครตั้งใหม่ที่ใกล้ธาตุนครหลวง

สืบพระวงศ์ต่อๆ มาอีก ๑๒ ราชวงศ์จนถึงพระพนมศิริไชย ยกลงมาตั้งเมืองนครไทย เมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๑๗๓๐ พรรษา จุลศักราชได้ ๕๔๙ ปี

สืบพระวงศ์มาได้อีก ๔ ชั่วกษัตริย์ จึงถึงพระเจ้ารามาธิบดีอู่ทอง ได้ลงไปครองเมืองเพชรบุรีก่อน แล้วจึงมาสร้างกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ที่ตำบลหนองโสน เมื่อพุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๑๘๙๓ จุลศักราช ๗๑๒

สืบกษัตริย์ขัตติยวงศ์ต่อๆ มาถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า เป็นลำดับที่ ๒๕ นับตั้งแต่พระเจ้ารามาธิบดีอู่ทองมา และเป็นลำดับที่ ๕๒ นับตั้งแต่พระปฐมสุริยเทพ หรือไทยสุวรรณบพิตรเป็นต้นมา”

บาทหลวงตาชาร์ด

ได้ตรวจสอบหนังสือของลาลูแบร์ และพงศาวดารโยนก ปรากฏว่ามีข้อความนี้จริง แต่เมื่อตรวจสอบย้อนไปถึงหนังสือของตาชาร์ด เล่มที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ และฉบับแปลเป็นภาษาไทย๑๐ ไม่พบว่ามีข้อความนี้ จึงไม่แน่ใจว่าพระยาประชากิจกรจักร์นำข้อความที่ได้มาจากหนังสือของตาชาร์ดเล่มใด หรือเป็นการอ้างชื่อผิด จากลาลูแบร์ เป็นตาชาร์ด

สรุปสาระสำคัญจากเอกสารทั้ง ๓ ฉบับได้ว่า

พระเจ้าอู่ทอง องค์ที่ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาสืบเชื้อสายมาจากพระปฐมสุริยวงศ์ฯ ซึ่งขึ้นครองราชย์ที่ไชยบุรีมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๐

สืบราชวงศ์มา ๑๐ พระองค์ องค์ที่ ๑๐ พญาสุนทรเทพฯ ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่ธาตุนครหลวง (คู่มือทูต มีความต่างไปเป็น กรุงยโศธร (ปุระ) นครหลวง)

สืบราชวงศ์มา ๑๒ พระองค์ องค์ที่ ๑๒ พระพนมไชยศิริ/พระพนมศิริไชย ย้ายราชธานีไปอยู่ที่นครไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๐/๓๑ (คู่มือทูต มีความต่างไปเป็นสุโขทัย แต่จดหมายเหตุของลาลูแบร์กำหนดที่ตั้งของนครไทยไว้อย่างชัดเจน) และยังได้ไปสร้างหรือครองเพชรบุรีด้วย

สืบราชวงศ์มา ๔ พระองค์ องค์ที่ ๔ คือพระเจ้าอู่ทอง ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓/๙๔

เนื้อความโดยรวมในจดหมายเหตุทั้งสองฉบับนี้สอดคล้องต้องกัน ผู้เขียนทั้งสองน่าจะได้ข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกัน แต่มีส่วนสำคัญไม่สอดคล้องกับข้อความในคู่มือทูต คือ

๑. ชื่อกรุงยโศธร และสุโขทัย ในคู่มือทูตต่างจากธาตุนครหลวง และนครไทย ในจดหมายเหตุ ๒ ฉบับ
๒. ระยะเวลาสืบราชวงศ์รวมในคู่มือทูต ๙๒๖ ปี ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ๙๓๔ ปี
๓. จำนวนรวมของกษัตริย์ในคู่มือทูต ๕๐ องค์ ในจดหมายเหตุ ๒ ฉบับ ๕๒ องค์
๔. จดหมายเหตุลาลูแบร์มีรายละเอียดมากกว่าเอกสารอีก ๒ ฉบับ

ข้อมูลที่ต่างจากคู่มือทูตเหล่านี้ได้มาจากไหน?

จดหมายเหตุของชัวสี (Abby de Choisy)

ชัวสีเป็นบาทหลวงอีกผู้หนึ่งที่ร่วมมาในคณะทูตฝรั่งเศสคณะแรกที่มีโชมองต์เป็นราชทูตในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ หลังการเดินทางมาได้เขียนหนังสือชื่อ “Journal of a Voyage to Siam 1685-1686” เป็นภาษาฝรั่งเศสออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๐

“เมื่อวานนี้ท่านทูตได้รับของสิ่งหนึ่งซึ่งจะเป็นที่พอพระทัยของพระมหากษัตริย์ของเรา คือพงศาวดารของราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นของต้องห้ามไม่ให้เก็บไว้ตามบ้านโดยมีโทษถึงประหารชีวิต แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงยอมพระราชทานให้เมื่อทราบว่าจะเป็นที่พอพระทัยแก่กษัตริย์เรา”๑๑

นี่คือหลักฐานว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานพงศาวดารของราชอาณาจักรสยามฉบับหนึ่งแก่ราชทูตโชมองต์เพื่อนำไปถวายต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ตาชาร์ดซึ่งร่วมอยู่ในคณะทูตชุดนี้น่าจะได้เห็น และลาลูแบร์ซึ่งเป็นราชทูตคนถัดมาคงจะได้มีโอกาสศึกษาพงศาวดารฉบับนี้ก่อนเดินทางมา พงศาวดารฉบับนี้ควรจะเป็นฉบับคัดลอกจากฉบับหลวงที่ได้มีการรวบรวมขึ้นโดยพระโหราธิบดี ซึ่งต้นฉบับถูกเผาทำลายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ และควรจะมีรายละเอียดมากกว่าพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ และคู่มือทูต ทำให้จดหมายเหตุลาลูแบร์มีรายละเอียดมากกว่าเอกสารอีก ๒ ฉบับ หากมีการสืบค้นพบเอกสารฉบับนี้ได้ในฝรั่งเศสเช่นที่ค้นพบบันทึกของโกษาปานและคู่มือทูต ประวัติศาสตร์ไทยคงจะได้มีหลักฐานชิ้นสำคัญมาศึกษา

ฉะนั้นประวัติศาสตร์ไทยสมัยก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นร่วมสมัยคือ คู่มือทูต จดหมายเหตุของตาชาร์ด และจดหมายเหตุของลาลูแบร์ที่ข้อความสอดคล้องจนเกือบเป็นข้อความเดียวกันจึงควรจะมีที่มาจากพงศาวดารไทยฉบับส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ อีกแหล่งหนึ่ง เพราะในจดหมายเหตุโดยเฉพาะของลาลูแบร์มีเนื้อความมากกว่าและต่างไปจากที่มีในคู่มือทูต

เมื่อค้นพบคู่มือทูตแล้ว คงจะต้องขอแรง Professor Smithies ที่ท่านได้กรุณาค้นคว้าเอกสารภาษาต่างๆ จำนวนมากมาแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เราได้ศึกษากันช่วยสืบร่องรอยของพงศาวดารฉบับนี้ด้วย

พบเมื่อไหร่เราจะได้มีพระราชพงศาวดารฉบับ Smithies เหมือนกับที่มีฉบับ Vickery มาแล้ว

 


เชิงอรรถ

๑. ดู ไมเคิล ไรท. “ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม : เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘), หน้า ๙๐-๙๔. ซึ่งตั้งชื่อเอกสารฉบับนี้ว่า “คู่มือทูตตอบ”

๒. เพิ่งอ้าง, ปริวรรตต่อจาก สมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร์ ของไมเคิล ไรท โดยผู้เขียน

๓. เพิ่งอ้าง, ปริวรรตต่อจาก สมเด็จพระยโศธรวรรมเทพราชาธิราช ของไมเคิล ไรท โดยผู้เขียน

๔. ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ. พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง. มติชน, ๒๕๔๕, หน้า ๑๐๓-๑๑๐.

๕. ในหนังสือของสุจิตต์ เข้าใจว่าพิสูจน์อักษรพลาด เป็น “๗๒๑” ในพงศาวดารโยนก “๗๑๒”

๖. ได้ตัดข้อความในวงเล็บ ซึ่งเป็นคำอธิบายของพระยาประชากิจกรจักร์ และข้อความที่เข้าใจว่าควรจะเป็นของท่านแต่ไม่ได้ใส่วงเล็บออก เพื่อเปรียบเทียบกับเอกสารอีก ๒ ฉบับ

๗. Simon de la Loubere. A New Historical Relation of the Kingdom of Siam. ฉบับถ่ายเอกสารจากฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ. เฉลิมนิจ, หน้า ๘.

๘. พระยาประชากิจกรจักร์. พงศาวดารโยนก. คลังพิทยา, ๒๕๑๖, หน้า ๗๕-๗๗.

๙. Guy Tachard. Voyage de Siam. Bangkok : White Orchid Press, 1981.

๑๐. สันต์ ท. โกมลบุตร. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชาร์ด. บรรณกิจ, ๒๕๓๙.

๑๑. Abby de Choisy. Journal of a Voyage to Siam 1685-1686. Translated and Introduced by Michael Smithies. Oxford University Press, 1993, pp.194-5.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2559