ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ศุขปรีดา พนมยงค์ |
เผยแพร่ |
ชาวไทยมุสลิมที่ได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้แก่ นายบรรจง ศรีจรูญ นายแช่ม พรหมยงค์ นายประเสริฐ ศรีจรูญ และ นายการิม ศรีจรูญ ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยมุสลิมทั้งหลาย ในการที่พี่น้องร่วมศรัทธาในองค์อัลเลาะห์ได้มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดขึ้นซึ่งความก้าวหน้าของบ้านเกิดเมืองนอน พัฒนาให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับคำสั่งสอนของอิสลาม
พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีตำรวจก่อนเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้เริ่มระแคะระคายว่าจะมีเหตุการณ์ที่จะเป็นภัยต่อผู้ปกครองประเทศ จึงได้ส่งตำรวจสายสืบสายลับออกติดตามข่าวคราวการเคลื่อนไหวโดยเน้นความสงสัยไปที่ “กบฏ ร.ศ. 130” ที่ทำการไม่สำเร็จสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ติดตามข่าวลือ ข่าวปล่อย เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี และงานพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า ทั้งนี้โดยมิได้มุ่งประเด็นความสงสัยไปยังชาวมุสลิมหนุ่ม สมาชิกแห่ง “คณะราษฎร” เลย
ณ กรุงปารีส เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 คณะราษฎรจำนวน 7 คน ได้มีการประชุมเป็นทางการเป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นคือ
1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี
2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (ป. พิบูลสงคราม)
3. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี
4. นายตั้ว ลพานุกรม
5. หลวงสิริราชไมตรี
6. นายแนบ พหลโยธิน
7. นายปรีดี พนมยงค์
วัตถุประสงค์ของคณะราษฎรได้ตกลงกันว่า จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุหลัก 6 ประการ คือ
1. รักษาเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง
2. รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
3. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่ จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
5. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการข้างต้น
6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
เป็นเวลาพอดีที่นายบรรจง ศรีจรูญ นักศึกษาไทยมุสลิมจากมหาวิทยาลัยที่ไคโร อียิปต์ ได้เดินทางไปปารีส และก็ได้มีโอกาสพบปะกับแกนนำของคณะราษฎรดังกล่าว ซึ่งได้มีการก่อตั้งขึ้นมาไม่นานนัก และหลังจากการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นายบรรจงซึ่งก็มีความคิดในเรื่องความก้าวหน้าความเจริญของชาติบ้านเมืองอยู่แล้วก็ได้ตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกแห่ง “คณะราษฎร” ทันที
พร้อมกันก็เสนอให้นายแช่ม พรหมยงค์ (มุสตาฟา ซำซุดดิน ชื่อในขณะนั้น) เพื่อนสนิทที่มีความคิดเช่นเดียวกับตนและกำลังศึกษาอยู่ที่ไคโรเช่นกัน เข้าเป็นสมาชิก “คณะราษฎร” ด้วยทั้งสองท่านขณะที่ศึกษาในอียิปต์ ก็ได้เห็นความล้าหลังในระบบการปกครอง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาทำนุบำรุงประเทศชาติและประชาชนไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ อีกทั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก
นายบรรจงเมื่อกลับมากรุงเทพฯ ก็เข้าดำเนินกิจการร้านขายปืน “ศรีจรูญ” ของบิดา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สี่แยกอุณากรรณหลังวังบูรพา ส่วนนายแช่มมาเปิดร้านขายกาแฟและรับซื้อทองเก่า ที่บ้านของบิดาที่พระประแดง บิดาของนายแช่มคือนายมุสตาฟา ชาวบ้านเรียกว่า “ครูฟา” เป็นครูสอนศาสนาที่ได้รับการเคารพนับถือ และนายแช่มเองก็สืบทอดการสอนธรรมะแห่งอิสลามที่มุ่งไปสู่ความเป็นธรรมของสังคมและชีวิตที่ดีกว่าตามความเชื่อที่ถูกต้องของมุสลิม
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2475 นายแช่มได้รับจดหมายเป็นโค้ดภาษาอาหรับว่า “สินค้าที่สั่งมาถึงแล้วให้ไปรับภายในวันนี้” นายแช่มจึงลงเรือเมล์จากพระประแดงมาขึ้นที่ท่าถนนตกอันเป็นหนทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ในสมัยนั้น
จากนั้นก็ขึ้นรถรางมาลงที่สี่แยกอุณากรรณ เข้าไปพบนายบรรจงที่ร้านปืน “ศรีจรูญ” และก็ได้พบปะพี่น้องมุสลิมร่วมอุดมการณ์อีกสองคน คือ นายประเสริฐ ศรีจรูญ และ นายการิม ศรีจรูญ ผู้ก่อการสายไทยมุสลิมเหล่านี้ได้สนทนาเตรียมพร้อมเข้าปฏิบัติการซักซ้อมหน้าที่ความเข้าใจต่างๆ จวบจนกระทั่งเข้าสู่วันใหม่ คือวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันสำคัญของทางอิสลาม ทั้ง 4 ท่านได้เข้าร่วมสวดละหมาดขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า
โดยเฉพาะให้ประสบความสำเร็จในภารกิจเพื่อราษฎรไทยในครั้งนี้ จากนั้นก็ได้เบิกเอาปืนจากร้าน อันได้แก่ปืนลูกซอง ปืนพก และกระสุนเต็มอัตราศึกประจำกายทุกคน และมุ่งเดินทางไปยังจุดนัดพบที่ร้านกาแฟ “นรสิงห์” ริมลานพระบรมรูป ร.5
ร้านกาแฟ “นรสิงห์” ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามกับกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 6 บริเวณนี้มีชื่อว่า “สนามเสือป่า” เพราะได้ใช้เป็นที่ฝึกซ้อมเสือป่าของท่าน ให้หัดแถวยุทธวิธีส่วนบุคคลซ้ายหัน ขวาหัน หมอบคลานเคลื่อนที่ การฝึกคงจะไม่ได้ทำเคร่งครัดเข้มแข็งจริงจังแบบทหาร เจ้าพระยารามราฆพผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก จึงให้ลูกน้องของท่านเปิดร้านกาแฟนรสิงห์ขึ้นมาเพื่อความสำเร็จสำราญกินดื่มของเหล่าเสือป่าที่เสร็จสิ้นการฝึกซ้อม กาแฟนรสิงห์ได้เลิกกิจการไปภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 ไม่นาน
ผู้ก่อการสายพลเรือนจะชุมนุมกันที่กาแฟนรสิงห์ตั้งแต่ 04.00-05.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายนนั่นเอง ครั้นรุ่งสางทหารฝ่ายผู้ก่อการ อันได้แก่ทหารบก ทหารเรือ ก็ทยอยเข้ายังลานพระบรมรูป นอกจากนี้ยังมีหน่วยทหารที่มิได้เข้าร่วมกับคณะผู้ก่อการเข้ามาทำการฝึกที่ลานพระบรมรูปอีกจำนวนหนึ่งด้วย
นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรในฐานะจเรทหาร ได้ออกคำสั่งจัดแถวใหม่เพื่อรับฟังโอวาทจเรทหาร โดยให้มีการจัดแถวสลับกัน ทั้งทหารฝ่ายผู้ก่อการและทหารที่เข้ามาฝึกตามปกติ ที่ไม่รู้เรื่องมาก่อน ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ว่าแถลงการณ์ ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน รายละเอียดข้อความในแถลงการณ์นั้นได้มีการถ่ายทอดตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้งหลายหน จะหาอ่านได้ทางเอกสารประวัติศาสตร์โดยทั่วไป
การพิมพ์แถลงการณ์ฉบับนี้ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยความลับสุดยอด โดยพิมพ์ที่โรงพิมพ์ “นิติสาส์น” ตั้งอยู่ในซอยตันบนถนนสีลม ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่าสีลม ซอย 1 เมื่อพิมพ์เสร็จในวันที่ 23 มิถุนายน ก็มีคำสั่งให้รื้อตัวพิมพ์ทันที โรงพิมพ์นี้เป็นของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายก็ได้พิมพ์ตำรากฎหมายขายให้แก่ผู้ศึกษาวิชากฎหมาย เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2477 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ยกโรงพิมพ์นี้ให้ มธก. จนได้ชื่อว่าโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ท่าพระจันทร์
ปรากฏว่าคำแถลงการณ์คณะราษฎรได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางและหมดลงอย่างรวดเร็ว จนคณะผู้ก่อการได้ส่งทหารและพลเรือนมาที่โรงพิมพ์ เพื่อขอให้พิมพ์เพิ่มเติม ซึ่งก็ต้องเรียงตัวพิมพ์ใหม่อย่างเร่งรีบ
ผู้ก่อการไทยมุสลิมได้รับมอบหมายให้ถวายการอารักขาเจ้านายชั้นสูงที่คณะราษฎรอัญเชิญมาประทับ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ปรากฏว่าได้ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ตรวจตราพระกระยาหารที่ส่งมาจากห้องเครื่องของวังต่างๆ อย่างเคร่งครัด ประกอบกับรูปร่างใบหน้าของชาวมุสลิมมีความเข้มมีหนวดเคราที่ดูน่าเกรงขาม จนกระทั่งเจ้านายบางพระองค์ได้ขอร้องต่อหัวหน้าคณะราษฎร ขอให้ใช้ทหารมาทำหน้าที่อารักขาแทน
นายแช่ม นายบรรจง และคณะ จึงได้รับมอบหมายให้นำแถลงการณ์ออกแจกจ่ายไปทั่วพระนคร ข่าวได้แพรออกไปถึงครูฟาบิดานายแช่มว่า นายแช่มได้ไปทำการคิดกบฏต่อแผ่นดิน จนถึงกับว่าพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ไปชี้แจงกับครูฟาด้วยตนเอง จนเป็นที่เข้าใจดีว่า สิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้นย่อมสอดคล้องกับคติคำสอนทางอิสลามนั่นเอง
เกียรติประวัติอันสูงส่งของพี่น้องชาวไทยมุสลิมเหล่านี้ก็จะต้องจดจารจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจของไทยมุสลิม สำหรับนายบรรจงและพี่น้องก็กลับไปดำเนินธุรกิจของตนตามปกติโดยไม่ได้มุ่งหวังในลาภยศใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนนายแช่ม พรหมยงค์ ก็ได้เข้าร่วมสานต่อภารกิจอุดมการณ์ประชาธิปไตยของ 24 มิถุนายน 2475 และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2488 และก็ได้รับใช้ชาติบ้านเมืองด้วยการเข้าแก้ปัญหา 4 จังหวัดภาคใต้อย่างสันติวิธีที่ถูกต้องด้วยการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
หลังรัฐประหารปี 2490 ชีวิตต้องระหกระเหินเร่รอนถูกถอดจากจุฬาราชมนตรี ต้องลี้ภัยการเมืองหลายปี กลับมาก็ถูกสอบสวนจับกุมคุมขังหลายครั้งหลายหน แต่หะยี อุคคามา มุสตาฟา ซำซุดดิน แช่ม พรหมยงค์ มิได้ท้อแท้เสื่อมคลาย การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมตามพระประสงค์แห่งองค์อัลเลาะห์ตลอดมา
จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2532 นายแช่ม พรหมยงค์ ก็ได้ไปสู่ภูมิภพแห่งพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม สิริรวมอายุได้ 88 ปี
หมายเหตุ : บทความเดิมเผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2560