“ธงทอง-ชานันท์” ชี้ “พงศาวดารกระซิบ”เรื่องเล่ากอสสิป สร้างสีสันให้อดีต

พงศาวดารกระซิบ เป็นเรื่องที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน หากประวัติศาสตร์มี “พงศาวดาร” เป็นตัวระบุเหตุการณ์สำคัญของกลุ่มชนชั้นนำ “พงศาวดารกระซิบ” ก็เป็นเหมือนสีสันที่ทำให้เห็นภาพอดีต เห็นความเป็นมนุษย์ปุถุชนยิ่งขึ้น

ในงาน “Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” ที่มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 มีเวทีเสวนา “Book Club : พงศาวดารกระซิบ” ซึ่งมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และ ชานันท์ ยอดหงษ์ เจ้าของผลงาน “นายใน สมัยรัชกาลที่ 6” และ “หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง” ซึ่งทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวพงศาวดารกระซิบ เรื่องเล่าเสริมเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่มีส่วนช่วยให้ประวัติศาสตร์น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ และมีความเป็นมนุษย์ปุถุชนจับต้องได้

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง เริ่มด้วยการอธิบายว่า พงศาวดารเป็นเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ ชนชั้นสูง ลักษณะของงานเขียนมุ่งเน้นเรื่องเล่าขององค์พระมหากษัตริย์ เพื่อธำรงความศักดิ์สิทธิ์แบบสมมติเทพเอาไว้ เนื้อหาจึงมักไม่เล่ารายละเอียดต่าง ๆ ของเหตุการณ์ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลในเรื่องราว

“พงศาวดารเป็นเรื่องราวของเผ่าพงศ์พระผู้เป็นเจ้าที่อวตารลงมา เพราะฉะนั้นจึงมีวงขอบที่จำกัด เราไม่สามารถไปกะเกณฑ์ให้พงศาวดารเล่าเรื่องชาวบ้าน ค้าขายอะไรต่าง ๆ ได้ พงศาวดารจึงเป็นเรื่องของเจ้านาย พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ใช้อำนาจรัฐ ใครสร้างวัดอะไร ไปรบกับใคร เรื่องราวก็จะอยู่ในวงแกนนี้”

ข้อจำกัดของพงศาวดาร จึงเป็นเรื่องที่บันทึกอย่างเป็นทางการ ทำให้รายละเอียดบางอย่างถูกลดทอนลงไป พงศาวดารไม่ลงลึกวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าพงศ์ ไม่ให้มีเรื่องรัก โลภ โกรธ หลง ถ้าบางเรื่องพูดแล้วเป็นประโยชน์ก็บันทึก บางเรื่องไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ขยายความต่อ

ส่วน พงศาวดารกระซิบ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง เห็นว่า มีส่วนทำให้ประวัติศาสตร์ เรื่องราวต่าง ๆ มีสีสันและความสมบูรณ์ เห็นมุมมอง ทัศนคติหลากหลายมากขึ้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีความสนใจใคร่รู้ ก็จะมีการกระซิบกระซาบ ลักษณะอาจเป็นมุขปาฐะ เรื่องเล่า โดยคนที่เห็นเหตุการณ์จริง หรือได้ยินคำบอกเล่ามา บอกเล่าต่อ ๆ กันมาเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปมีการพิมพ์เกิดขึ้น เลยกลายเป็นการเสริมค่า ช่วยให้เรื่องเล่ามีสีสันมากขึ้น

นักวิชาการคนเดิมยกตัวอย่างพงศาวดารกระซิบที่เป็นเรื่องเล่าของคุณอัญชันย์ บุนนาค พนักงานทำหน้าที่ดูแลฉลองพระองค์ของในหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ในบรรยากาศคืนวันที่รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ว่าเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ฉายภาพให้เห็นถึงบรรยากาศช่วงนั้นจากคนร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี

“ในคืนวันสวรรคตในหลวง รัชกาลที่ 5 เธอได้รับมอบหมายให้เอาผ้าไปปลงพระศพ ตอนจวนจะสวรรคตแล้ว เธอนั่งรถยนต์หลวงมาพระราชวังหลวง พระบรมมหาราชวัง เมื่อขามายังไม่สวรรคต แต่ขากลับไป เธอบอกว่ารถยนต์ที่เธอนั่งไปถึงลานพระราชวังดุสิตแล้วได้ยินเสียงคนร้องไห้ เพราะมันดึกแล้ว มีเสียงคนร้องไห้ดังมาจากพระที่นั่ง ดังมาก แล้วเธอก็ตามเสด็จพระนางสุขุมาลเข้าไป…”

อย่างไรก็ตาม พงศาวดารหรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับกลุ่มคนชั้นสูงในสังคม ไม่สามารถพูดได้อย่างเปิดเผย เพราะมีอำนาจความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมคอยกดทับไว้ไม่ให้สามารถพูดได้อย่างเต็มที่ ซึ่ง ชานันท์ พูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า พอพงศาวดารมีคำว่ากระซิบ ทำให้เราไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ต้องกระซิบกระซาบกัน สะท้อนว่าเราเป็นคนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างที่เหนือกว่า อยู่ภายใต้เจ้าชีวิตที่เหนือกว่า

จุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของพงศาวดารกระซิบ คือการที่เรื่องเล่าเหล่านี้มีลักษณะเป็นคำบอกเล่า เมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลายาวนาน เรื่องเหล่านั้นอาจเกิดการคลาดเคลื่อนจากเหตุการณ์จริงได้ หรือในกรณีบันทึกความทรงจำ ผู้บันทึกก็อาจจำรายละเอียดคลาดเคลื่อนได้ เพราะเหตุนี้พงศาวดารกระซิบที่ถึงแม้จะดูน่าฟัง มีสีสัน แต่ก็ต้องตรวจทานกับหลักฐานร่วมสมัยหรือหลักฐานอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการนำไปใช้อ้างอิงต่าง ๆ

เช่นที่ชานันท์บอกว่า การบันทึกเป็นการทำให้ความรู้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อ้างอิงได้ แต่เวลาดูบันทึกจะมีข้อพิจารณาบางอย่าง เช่น บันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ที่ต้องพิจารณาในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง เพราะว่าหลักฐานชิ้นหนึ่งไม่ได้แปลว่าคือข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ต้องมีการตรวจเช็ค เพราะบันทึกชิ้นหนึ่งอาจมีอคติเลือกจะเขียนในเรื่องใด หรือไม่เขียนในเรื่องใด รวมถึงช่วงเวลาในการเขียนที่ต่างกันก็มีผลต่อเนื้อหาที่ต่างกันด้วย

นอกจากนี้ พงศาวดารกระซิบในหลาย ๆ เรื่องมักจะถูกเติมแต่งเรื่องราวเพื่อละเลยประเด็นในเรื่องเล่าที่แพร่หลายอยู่นั้นให้เบาบางลงไป โดยมีนัยยะทางการเมืองอย่างชัดเจน

“…มีอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะเป็นพงศาวดารกระซิบก็คือความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 5 กับเจ้าดารารัศมี กลายเป็นว่าพงศาวดารกระซิบโรแมนติไซส์หนักมาก จนเลอะเลือนความเป็นการเมืองในบริบทการล่าอาณานิคมโดยรัฐสยามกับล้านนาไปเลย การเขียนพงศาวดารกระซิบมันมีนัยยะทางการเมืองอย่างชัดเจน…” ชานันท์ ยกตัวอย่าง

พงศาวดารกระซิบ จึงเป็นมากกว่าแค่เรื่องซุบซิบชายขอบในประวัติศาสตร์ แต่เป็นส่วนเสริมที่สำคัญที่ทำให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์น่าติดตามค้นหามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566