“แฝด แบบว่า” หนังสร้างปรากฏการณ์รวมแฝด ที่สุดท้าย “ของเล่น” ทำรายได้แซง “หนัง”

ภาพโฆษณา หนัง เรื่อง
ภาพโฆษณาหนังเรื่อง "แฝด แบบว่า" จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ถ่ายภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

แฝด แบบว่า เป็นภาพยนตร์แนวคอเมดี้ที่ออกฉายในยุค 90s ฝีมือผู้กำกับชื่อดังอย่าง กำธร ทัพคัลไลย ที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ววงการภาพยนตร์ เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่รวม ฝาแฝด ไว้มากสุดในไทย แม้หนังอาจไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ “ของเล่น” จาก ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกลับทำรายได้ถล่มทลายแซงหน้าหนังไปเกือบ 2 เท่า!

ที่มา “แฝด แบบว่า”

แฝด แบบว่า มีที่มาจากชีวิตจริงของกำธร หลังจากเขาแต่งงานกับ ปิยะมาศ โมนยะกุล นักแสดงสาวชื่อดังมาแล้วกว่าสิบปี ทั้งคู่กลับไม่มีโซ่ทองคล้องใจด้วยกันเสียที แม้จะทำ “กิฟต์” หรือเด็กหลอดแก้วไปแล้วหลายรอบ เปลี่ยนหมอไปแล้วหลายหน แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ผล จนกระทั่งแพทย์คนที่ 3 ให้ข่าวดีกับเขาว่า หากสำเร็จ กำธรก็มีโอกาสที่จะได้ “ลูกแฝด”

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ลูกแฝด” จึงจุดประกายให้เขาริเริ่มทำอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งชมรมแฝด หรือสร้างภาพยนตร์เรื่อง “แฝด แบบว่า” ในปี 2532

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเด็กแฝดชื่อ “รัฐ-รุจน์” ซึ่งพ่อแม่ประสบปัญหาเรื่องเงิน ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกแฝดได้ ทั้งคู่จึงต้องแยกจากกัน โดยพ่อแม่ยกแฝดคนหนึ่งให้มหาเศรษฐี ทั้งสองเหมือนมีสายใยสื่อถึงกัน ยิ่งเมื่อรุจน์ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ยิ่งทำให้เขารับรู้ถึงสัมผัสบางอย่างที่สื่อถึงกันมากขึ้น วันหนึ่งทั้งสองคนถูกจับไปเรียกค่าไถ่ และมารู้เอาตอนท้ายว่าเป็นฝาแฝดกัน แต่แล้วความโกลาหลก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อทั้งคู่รักผู้หญิงคนเดียวกัน…

เมื่อเป็นหนังว่าด้วยเรื่องแฝด กำธรจึงจัดงาน “ชุมนุมฝาแฝด” ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2533 ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เพื่อกระตุ้นกระแสแฝดในประเทศไทย รวมถึงโปรโมทภาพยนตร์ที่จะฉายในเวลาอันใกล้ กิจกรรมนี้เป็นการชุมนุมแฝดมากเป็นประวัติการณ์ เพราะมี ฝาแฝด มาร่วมงานมากถึง 1,016 คู่ ตั้งแต่อายุ 5 วัน จนถึง 76 ปี โดยมี พลตรี จำลอง ศรีเมือง ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาร่วมเป็นประธาน

ผู้กำกับชื่อดัง ยังโปรโมทด้วยการให้ฝาแฝดมาร่วมชมในรอบปฐมทัศน์ เห็นได้จากภาพที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2533 ว่า “พรุ่งนี้…รอบคนแฝด ฝาแฝดล้วน ๆ 1,000 คู่”

ท้ายที่สุด ฤกษ์งามยามดีก็มาถึง วันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2533 “แฝด แบบว่า” เข้าฉายบนจอเงินทั้งหมด 16 แห่ง เช่น โรงภาพยนตร์ดาดา โรงภาพยนตร์พาราไดซ์ ฯลฯ ซึ่งในภาพโปรโมทหนังที่ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2533 ได้นำภาพวันชุมนุมฝาแฝดมาลงด้วย และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือ วันที่ 9-12 พฤษภาคม ปี 2533 สำนักข่าวต่างประโคมข่าวหนังเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแฝด เช่น หนังสือพิมพ์วันที่ 12 พฤษภาคม ปี 2533 ได้ใช้ภาพประกอบเป็นนักแสดงนำซึ่งเป็นแฝด ช่วยสร้างกระแสหนังแฝดให้คึกคักขึ้น

ภาพโฆษณาหนังเรื่องดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ถ่ายจากหอสมุดแห่งชาติ

ตุ๊กตาดุ๊กดิ๊ก ของเล่นแห่งยุค 90s

เมื่อหนัง “แฝด แบบว่า” ฉายแล้ว กำธรก็ออกสินค้าที่ระลึกมาจำหน่ายด้วย คือ “ตุ๊กตาดุ๊กดิ๊ก” หรือตุ๊กตาเด็กแฝด ราคา 40-50 บาท ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยภาพโปรโมทบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 2533 เป็นภาพเจ้าดุ๊กดิ๊ก พร้อมคำโปรย “ตุ๊กตาฝาแฝด ดุ๊กดิ๊ก กระดุกกระดิกได้” หรือในวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 2533 ได้ใช้คำโปรยว่า “ดูแฝด แบบว่า ซื้อตุ๊กตาดุ๊กดิ๊ก”

ตุ๊กตาดุ๊กดิ๊กได้รับความนิยมจากทั้งคนดูและคนทั่วไปอย่างมาก เกิดการแย่งกันซื้อหน้าโรงหนัง จนต้องเพิ่มจุดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ความดังของตุ๊กตาดุ๊กดิ๊กปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า

“…สำหรับของที่ระลึกตุ๊กตา “ดุ๊กดิ๊ก” กระดุกกระดิกได้ แฟนหนังแย่งกันซื้อ โดยเฉพาะแฟนหนังเด็ก ๆ ที่แย่งกันซื้อไปเป็นของที่ระลึก”

ตุ๊กตาดุ๊กดิ๊ก สามารถกวาดรายได้ถล่มทลายไปถึงเกือบ 10 ล้านบาท สวนทางกับรายได้ของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงหนังได้เพียง 2 สัปดาห์ก็ต้องลาโรง กวาดรายได้ไปเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้หนังมีรายได้ไม่เข้าเป้า อาจเพราะภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เนื่องจากการขยายสัญญาณแพร่ภาพทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ และวิดีโอเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมไทยมากขึ้น ทำให้ “แฝด แบบว่า” ไม่เปรี้ยงอย่างที่คาด ซึ่งหนังสืออนุสรณ์งานศพของ กำธร ทัพคัลไลย ระบุถึงเรื่องรายได้ว่า

“เข้าฉายในวันที่ 11 พ.ค. 2533 และฉายอยู่ได้เพียง 2 สัปดาห์ (14 วัน) ก็อำลาโรง ทำรายได้ 5 ล้านบาท เหนื่อยแบบหืดขึ้นคอต่อไป ‘หนังไทย’ คงทำยากแล้ว”

แม้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ก็เป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้งการรวม ฝาแฝด ไว้มากสุดในเรื่องเดียวกัน และการผลิตสินค้าที่ระลึกจากหนังออกวางจำหน่าย ทั้งยังเป็นหนังที่อยู่ในความทรงจำของวัยรุ่นยุค 90s อีกจำนวนไม่น้อย

ด้านชีวิตส่วนตัวของกำธร หลังจากนั้นเขาไม่ได้มีลูกแฝดแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“โฆษณาภาพยนตร์แฝด แบบว่า.” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2533.

“โฆษณาภาพยนตร์แฝด แบบว่า.” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2533

“โฆษณาภาพยนตร์แฝด แบบว่า.” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2533

“โฆษณาภาพยนตร์แฝด แบบว่า.” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2533

ไม่ปรากฏผู้แต่ง. หนังสืออนุสรณ์งานศพ (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ดารานักแสดง ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ กำธร ทัพคัลไลย). 2544.

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย. “100 ปี ภาพยนตร์ในประเทศไทย.” สารคดี, ฉ. 150 (สิงหาคม 2540): 89-96.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2566