ไปรษณีย์บาตร? วิธีส่งข่าวระหว่างสงฆ์-สงฆ์ เพื่อการชุมนุมงานใต้ดิน

ภาพประกอบบทความนี้ บุคคลในภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

“ไปรษณีย์บาตร” คือวิธีส่งข่าวสารระหว่าง พระสงฆ์ กับ พระสงฆ์ เพื่อให้คณะสงฆ์มาชุมนุมกันตามนัดหมาย เพื่อประชุม จัดตั้ง “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” เมื่อปี 2477

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สังคมไทยเกิดความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในหมู่ประชาชนเท่านั้น ในคณะสงฆ์เองก็มีการเรียกร้องความเสมอภาคในการปกครองจากเจ้าอาวาสอยู่เป็นระยะๆ

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์มหานิกายที่เรียกร้องขอแก้ไข “พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 112” ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมหานิกายกับธรรมยุต จนมีการถอดสมณศักดิ์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ดังกรณีของ พระญาณนายก (ปลื้ม) จังหวัดนครนายก ที่ทำให้พระสงฆ์รุ่นหนุ่มเห็นว่าควรแก้ไขโครงสร้างคณะสงฆ์ (ในที่นี้ไม่ขอลงรายละเอียดเรื่องปัญหาในคณะสงฆ์)

พระธรรมวรนายก (สมบูรณ์ จนฺทโก) และพระมหาประหยัด (ต่อมาลาสิกขา เป็นนายประหยัด ไพทีกุล) จากจังหวัดนครนายกที่เดินทางมาพำนักที่วัดสุทัศน์ฯ กับพระจันทร์ สุขมา ที่เป็นเพื่อนกับพระมหาประหยัด โดยอาศัยความร่วมมือจากสงฆ์มหานิกายด้วยกัน ก็เริ่มดำเนินแผนการเป็นระยะๆ

ขั้นที่ 1 เป็นการตกลงในหลักการ ของพระสงฆ์ 9 รูป เช่น พระธรรมวรนายก (สมบูรณ์ จนฺทโก), พระมหาประหยัด, พระจันทร์ สุขมา, พระมหากลีบ วัดมหาธาตุฯ ฯลฯ และเพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกต ได้หารือกันในงานทำบุญบ้าน (ของครอบครัวพระจันทร์ สุขมา) โดยมีการสวดมนต์, เลี้ยงพระ ตามพิธีกรรมจนจบ พระทุกรูปจึงปรึกษาหารือกัน

ขั้นที่ 2 เป็นการหาสมาชิกใหม่เพิ่ม โดยต้องเป็นพระสงฆ์ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน กล้าหาญ และพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญ กำหนดให้แต่ละรูปแยกย้ายไปหาสมาชิกเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 10 รูป โดยนัดหมายให้มาพร้อมกันในการประชุมครั้งต่อไปที่เป็นการประชุมใหญ่ในวันที่ 11 มกราคม 2477

ขณะนั้นการติดต่อสื่อสารยังไม่สะดวกรวดเร็วเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้เรื่องที่กำลังกระทำยังเป็นลักษณะ “ใต้ดิน” และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกลงโทษจากระเบียบของคณะสงฆ์ และกฎหมายบ้านเมืองได้ ทว่าการติดต่อสื่อสารระหว่างพระสงฆ์ในแต่ละวัดก็ดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว

โดยใช้ช่วงเวลาตอนเช้า ที่พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวันและไม่ผิดสังเกต เมื่อต้องการส่งข่าวสาร, ข้อมูล, การนัดหมาย ฯลฯ ก็จะเขียนใส่กระดาษเตรียมไว้ เมื่อต้องออกบิณฑบาต ก็เอากระดาษนั้นไปให้ในบาตรมอบให้พระสงฆ์รูปอื่น เพื่อแจ้งข่าว, นัดหมาย ฯลฯ พระธรรมวรนายก (สมบูรณ์ จนฺทโก) จึงเรียกวิธีนี้ว่า “ไปรษณีย์บาตร”

แล้ว “ไปรษณีย์บาตร” ได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

ปรากฏว่าวันที่ 11 มกราคม 2477 ที่นัดประชุมใหญ่นั้น มีพระสงฆ์จากมหานิกายเกือบ 400 รูป จากวัดชื่อดังในกรุงเทพฯ เช่น วัดมหาธาตุฯ, วัดพระเชตุพนฯ, วัดเบญจมบพิตรฯ, วัดสุทัศน์ฯ ฯลฯ มาร่วมประชุมที่ “บ้านภัทรวิธม” (เป็นบ้านของคหบดีท่านหนึ่งที่เป็นเพื่อนกับบิดาของพระจันทร์ สุขมา อยู่ที่บางรัก ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง และมิดชิดดี) สามารถเลือกประธาน รองประธาน และกรรมการ

“ไปรษณีย์บาตร” ที่พระสงฆ์ไทยใช้นั้น จึงนับเป็นช่องทางการสื่อสารง่ายๆ ที่เนียน เนี้ยบ และได้ผลดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

คนึงนิตย์ จันทบุตร. การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ. 2477-2488, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566