เปิดถิ่นฐาน “ชาวขแมร์” ในรัตนโกสินทร์ อยู่ตรงไหน ทำอะไรกันบ้าง?

ภาพลายเส้นกรุงเทพ เมื่อทศวรรษ 1860 (ภาพจาก หนังสือ Travels in the central parts of Indo-China (Siam), Cambodia, and Laos โดย อ็องรี มูโอต์)

ชาวขแมร์ (ชาวเขมร) เข้ามาอยู่อาศัยในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทั้งการถูกกวาดต้อนเข้ามาเพื่อค้าขาย หรือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เช่น รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ที่เขมรมีศึกชิงอำนาจกันภายใน ทำให้ชาวขแมร์ต้องมาตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยากันไม่น้อย และแม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะล่มสลายลงใน พ.ศ. 2310 แต่ชาวขแมร์ก็ยังคงเข้ามาสร้างถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องในสมัยรัตนโกสินทร์ และทิ้งร่องรอยวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมายไว้ในสังคมไทย 

“บ้านกลางนา” พื้นที่ชั่วคราวของกลุ่มเชลยชาวขแมร์

หลังสิ้นกรุงศรีอยุธยา กลุ่มเชลยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวลาว ชาวมอญ รวมทั้ง ชาวขแมร์ ถูกเกณฑ์ให้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่เกษตรห่างไกลเมืองอย่าง “บ้านกลางนา” ที่ธนบุรี ชาวขแมร์ในบริเวณดังกล่าวเริ่มปลูกรากสร้างฐาน เปลี่ยนพื้นที่นอกเมืองให้เป็นชุมชนอาศัยของตนเอง

Advertisement

แต่เมื่อเข้าสู่ราชวงศ์จักรี กลุ่มเชลยศึกดังกล่าวก็ต้องโยกย้ายครอบครัว เพื่อเปิดทางให้ค่ายทหารของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) และต้องละทิ้งพื้นที่เกษตรกรรมที่ทำไว้ รวมถึงเข้าไปอาศัยในถิ่นฐานใหม่บนพื้นที่หนึ่งของวัดสระเกศ ทั้งยังต้องช่วยเชลยศึกขแมร์ที่เพิ่งถูกเกณฑ์มาขุดคูเมือง และก่อสร้างสถานที่สำคัญในพระนคร

“สนามกระบือ บ้านโรงไหม และบางลำพูบน” ถิ่นฐานเจ้านายและชาวขแมร์

ไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มเชลยที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในรัตนโกสินทร์ แต่กลุ่มชนชั้นนำยังพลัดถิ่นเข้ามาด้วยเช่นกัน เหตุเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สยามได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์จำนวน 5 พระองค์มาจากกัมพูชา เนื่องจากเกิดปัญหาระหว่างสยามกับกัมพูชา หนึ่งในนั้นคือ “นักองค์เอง” มาพำนัก ณ วังหน้า ภายใต้การอุปถัมภ์ของอุปราช 

ผ่านไปในปี 2326 นักองค์เองได้ย้ายไปอยู่ที่สนามกระบือ บริเวณบ้านโรงไหม ต่อมารัชกาลที่ 1 พระราชทานพระราชวังใหม่ (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อวังเจ้าเขมร) แถบนอกคลองคูเมืองแก่นักองค์เอง แม้ว่าท้ายสุดนักองค์เองจะกลับไปขึ้นครองราชบังลังก์ที่อุดง หรือเมืองหลวงของกัมพูชาขณะนั้นแล้วก็ตาม แต่พระมารดาของนักองค์เองจำต้องพำนักอยู่กรุงเทพฯ จวบจนสิ้นพระชนม์ 

เมื่อชนชั้นเจ้านายย้ายมาพำนักที่กรุงเทพฯ ก็ต้องมีเหล่าบริวารขุนนางและครอบครัว ไพร่พล ตลอดจนผู้ติดตามมากมายพลัดถิ่นมาด้วยเช่นกัน กลุ่มขแมร์เหล่านี้ได้รับพระราชทานที่ดินให้อยู่แถบบ้านโรงไหมและบางลำพูบน ซึ่งอยู่นอกเขตศูนย์กลางเมือง โดยขุนนางนั้นถูกจัดให้อาศัยบริเวณทิศเหนือของวังหน้า ส่วนไพร่พลอาศัยนอกป้อมปราการตรงข้ามฝั่งคูเมือง ซึ่งก็คือบางลำพูบน

“หมู่บ้านขแมร์” กับวัฒนธรรมที่ทิ้งร่องรอยไว้มากมาย

ชาวขแมร์พลัดถิ่นเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้งจากการกวาดต้อนเชลยศึกนับหมื่นคน หลังสยามเข้ารุกรานกัมพูชา จากเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระรามราชาธิราช (นักองค์โนน) ผู้คนมากมายถูกบังคับให้เดินเท้าเข้ามาในกรุงเทพฯ เหตุเพราะต้องการกำลังคนในการก่อสร้างคูเมือง รวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ 

พวกเขาถูกเกณฑ์ให้ไปอาศัยบริเวณฝั่งตะวันออกของคูเมือง จนกลายเป็น “หมู่บ้านขแมร์” ซึ่งผนวกเข้ากับวังเจ้าเขมร บ้านบาตร และบ้านดอกไม้ คนในหมู่บ้านดังกล่าวมีอาชีพมากมาย ไม่ว่าจะแสดงละคอน ระบำกายกรรม หรือเกี่ยวกับศาสนา เช่น ผลิตสังฆภัณฑ์ มนต์ดำ ยิ่งไปกว่านั้น “การทำบาตรพระ” ยังเป็นอีกเครื่องมือทำมาหากินหนึ่งของพวกเขา 

หมู่บ้านขแมร์เติบโตมากขึ้นจากการกวาดต้อนคนช่วงรัชกาลที่ 3 ผ่านฝีมือของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) การกวาดต้อนครั้งนี้ไม่เพียงแต่ได้ชาวขแมร์พลัดถิ่นจำนวนมาก แต่ยังมีเจ้าเขมรถึง 3 พระองค์มาด้วย ทำให้หมู่บ้านขแมร์นั้นขยับขยาย และกลายมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนขแมร์ 

อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านขแมร์ที่รุ่งเรืองก็ต้องจางหายไปตามกาลเวลา เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) กลับไปยังกัมพูชา แม้ว่าพระโอรสของพระองค์จะยังพำนักอยู่ในฐานะตัวประกันหลวงก็ตาม พอถึงปี 2401 การมีอยู่ของเจ้าเขมรก็ยิ่งลดลง และถูกแทนที่ด้วยชั้นเจ้านายระดับล่าง รวมถึงสยามที่ก้าวเข้าสู่ความเจริญ ทั้งยังมีการเวนคืนและก่อสร้างถนนขนาดใหญ่เพื่อสลายย่านเขมร ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ทำให้ย่านนั้นถูกกวาดล้าง และถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่พาณิชย์ของกลุ่มคนจีนแทน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มชาวขแมร์จึงเริ่มกลืนกลายตนเองให้มีความเป็นไทยมากกว่าที่จะยึดโยงชาติพันธุ์ของตนเองไว้เช่นเดิม

จะเห็นได้ว่าชุมชน “ชาวเขมร” ไม่ได้มีเพียงแต่สมัยอยุธยา ทว่าช่วงรัตนโกสินทร์ “ชาวขแมร์” ยังคงปรากฏอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะที่บ้านกลางนา บ้านโรงไหม บางลำพูบน และหมู่บ้านขแมร์

แม้ชาวขแมร์บางส่วนจะกลับบ้านเกิดเมืองนอน หรือบางพื้นที่ของชุมชนชาวขแมร์จะสูญสลายหายไปแล้ว แต่ชาวขแมร์ที่ยังหลงเหลือก็ได้นำวัฒนธรรมเดิมของตนเองมาผสมกลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งในการก่อร่างสร้างความเป็นไทยในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

แวน รอย, เอ็ดวาร์ด. Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก. แปลโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร. กรุงเทพมหานคร: มติชน, 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2566