นัยของพระสุทธเสลเจดีย์ ที่วัดพระแก้วน้อย วัดประจำวังพระนครคีรี วังฤดูร้อนสมัยร.4

พระนครคีรี เพชรบุรี พระสุทธเสลเจดีย์ เมืองเพชรบุรี
ภาพประกอบเนื้อหา - บริเวณวัดพระแก้วน้อย พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

พระสุทธเสลเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระแก้วน้อยซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เทียบเคียงได้กับวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวัง บริเวณวัดพระแก้วน้อยและพระสุทธเสลเจดีย์ตั้งอยู่บนยอดเขาด้านทิศตะวันออกของพระนครคีรีซึ่งมีทั้งหมด 3 ยอด

รูปแบบของพระสุทธเสลเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นฐานแปดเหลี่ยม มีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นฐานกลมที่มีซุ้มจระนำ 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งไม่มีซุ้มจระนำเนื่องจากติดกับท้ายพระวิหารน้อย องค์เจดีย์อยู่ในผังกลมตั้งอยู่บนชุดฐานเขียง รองรับองค์ระฆังด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นชุดมาลัยเถาซึ่งเป็นที่นิยมในศิลปะอยุธยา และฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งเป็นที่นิยมในศิลปะล้านนา ต่อด้วยองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม ก้านฉัตรที่มีเสาหานล้อมรอบซึ่งปรากฏมาแล้วในศิลปะอยุธยา ตามด้วยบัวฝาละมี ปล้องไฉนทรงกรวย และปลียอดตามระเบียบของเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะไทย และถือเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4

พระสุทธเสลเจดีย์ กับความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนาระหว่างสยาม-ลังกา

พระสุทธเสลเจดีย์ วัดพระแก้วน้อย พระนครคีรี จังหวัด เพชรบุรี
พระสุทธเสลเจดีย์ ณ วัดพระแก้วน้อย พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

ในเอกสารจดหมายเหตุระบุว่าแต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกพระสุทธเสลเจดีย์ว่า “พระเจดีย์เพชรภูมิไพโรจน์”[1] คงเพื่อให้สอดคล้องกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ที่ประทับบนพระนครคีรี ขณะเดียวกันยังทรงเรียกเจดีย์องค์นี้อีกชื่อหนึ่งว่า “พระเสลเจดีย์สถูป” [2]

คำว่า เสล (เส-ละ) หมายถึง ศิลา ดังนั้น พระสุทธเสลเจดีย์ จึงมีความหมายถึงพระเจดีย์ที่สร้างด้วยศิลาหรือหินอันบริสุทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับประวัติการก่อสร้างในรัชกาลที่ 4 ที่โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม นายช่างหลวงคนสำคัญทรงออกแบบส่วนประกอบต่างๆ ของเจดีย์องค์นี้แล้วให้ช่างชาวจีนสกัดศิลาจากเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ส่งเข้ามาประกอบเป็นองค์เจดีย์ที่พระนครคีรี

แนวทางในการออกแบบของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เป็นไปตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 4 ที่ทรงต้องการให้ “ร่างรูปพระเจดีย์สิลาตามอย่างพระเจดีย์โบราณที่มีในสิหทวีป” [3] แม้ว่ารูปแบบของพระสุทธเสลเจดีย์จะเป็นเจดีย์ทรงระฆังไทย ซึ่งไม่อาจเทียบได้กับสถูปทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ ที่นิยมในศิลปะลังกา แต่ก็แสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ที่ทรงถือว่าเจดีย์ทรงระฆังเป็นรูปแบบที่ถูกต้องและมีความเก่าแก่มาแต่ครั้งพุทธศาสนาได้เผยแผ่จากอินเดียและตั้งมั่นในลังกาทวีป และเป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากเจดีย์ทรงโอคว่ำอย่างโบราณ

รวมทั้งมีพระราชดำริเพิ่มเติมต่อมาว่าเจดีย์ทรงระฆังนั้นเป็นแบบอย่างที่เคยสร้างมาแล้วเมื่อครั้งอดีตราชธานีของสยาม ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงออกแบบโดยผสมผสานชุดมาลัยเถาและบัวลูกแก้วอกไก่ที่เป็นความนิยมในอดีตราชธานีมาเป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ลักษณะเช่นนี้ยังพบที่เจดีย์ทรงระฆังในพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 อีกหลายแห่ง เช่น เจดีย์ประธานวัดโสมนัสวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาในสยามที่มีมาอย่างยาวนาน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม นายช่างหลวงผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้ออกแบบพระสุทธเสลเจดีย์

ไม่เพียงแต่พระราชประสงค์ข้างต้นเท่านั้น แต่การขนานนามพระเจดีย์องค์นี้ว่า “พระเสลเจดีย์สถูป” ยังเป็นนามเดียวกันกับ “พระเสลเจดีย์” หรือ “เสลาเจติยะ” ที่อยู่ในศรีลังกาด้วย โดยปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ว่าเสลาเจติยะเป็นสังเวชนียสถานสำคัญหนึ่งในหลายๆ แห่ง ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาลังกาของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล [4] เสลเจดีย์จึงมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติและประวัติศาสตร์ของศรีลังกาเป็นอย่างยิ่ง สังเวชนียสถานเหล่านี้ในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามโสฬสมหาสถาน หรือสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาของศรีลังกา 16 แห่ง

ในปัจจุบันยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเสลเจดีย์คือสถานที่แห่งใดเพราะยังมีข้อถกเถียงบางประการ แต่ข้อเสนอที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางเชื่อว่าเสลเจดีย์คือสถูปองค์หนึ่งที่เขามหินตาเล [5] ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้ากนิฏฐติสสะ และได้รับการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระเจ้าโคฐาภยะ ปัจจุบันรู้จักกันในนาม อัมพสถลเจดีย์ [6] และที่เขามหินตาเลแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในศรีลังกา เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่พระมหินเถระได้แสดงธรรมแก่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจนทรงเลื่อมใสและหันมายอมรับนับถือพุทธศาสนา ซึ่งหากเชื่อว่าเสลเจดีย์คือเจดีย์ศิลาที่ตั้งอยู่บนยอดเขามหินตาเลก็อาจเชื่อมโยงได้กับการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะสร้างพระสุทธเสลเจดีย์ให้ตั้งอยู่บนยอดเขามไหสวรรย์หรือเขาวังด้วยเช่นเดียวกัน

อัมพสถลเจดีย์ ที่เขามหินตาเล ประเทศ
ศรีลังกา บางท่านเชื่อว่าคือเสลาเจติยะ หรือเสลเจดีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปในศรีลังกา

ถึงแม้จะไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเสลเจดีย์เป็นสถานที่ใดในศรีลังกาก็ตาม แต่เสลเจดีย์ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในลังกา เพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้มีการส่งพระสมณทูตไทยจำนวน 7 รูปเดินทางไปยังลังกาทวีปเพื่อสืบข่าวพระพุทธศาสนาและนมัสการโสฬสมหาสถานซึ่งอยู่ใน 16 ตำบลของศรีลังกา หนึ่งในนั้นมีรายชื่อพระเสลเจดีย์รวมอยู่ด้วย [7]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ย่อมทรงประจักษ์ถึงความสำคัญของพระเสลเจดีย์ในลังกาเป็นอย่างดี ดังปรากฏหลักฐานว่าเมื่อครั้งยังทรงผนวชและทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวด้านพุทธศาสนาจากพระธรรมทูตลังกาที่มาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งยังทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายส่งคณะสงฆ์ไทยจำนวน 6 รูป เดินทางไปยังศรีลังกาเพื่อถวายสมณศาสนและไทยธรรมบรรณาการแก่คณะสงฆ์ศรีลังกา พร้อมทั้งไปสักการบูชาศาสนสถานที่สำคัญ 9 แห่ง  หนึ่งในนั้นปรากฏหลักฐานว่าคณะสงฆ์ธรรมยุตทั้ง 6 รูป ได้เดินทางไปสักการะพระเสลเจดีย์ด้วยเช่นกัน [8]

การขนานนามพระเจดีย์ประธานที่วัดพระแก้วน้อยบนพระนครคีรีว่า พระเสลเจดีย์สถูป จึงน่าจะเป็นไปดังพระราชประสงค์เพื่อที่จะทรงระลึกถึง “พระเจดีย์โบราณที่มีในสิหทวีป” และเป็นสิ่งแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีด้านการพระพุทธศาสนาระหว่างสยามกับลังกาที่มีมาอย่างยาวนาน

พระบรมรูปสลักพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจากหิน ประทับยืนพนมมือนมัสการอยู่ที่ด้านหน้าอัมพสถลเจดีย์

พระสุทธเสลเจดีย์ พระเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

แนวคิดในการออกแบบพระสุทธเสลเจดีย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระนครคีรีนั้น มีผู้เสนอว่าสามารถเชื่อมโยงกับแนวความคิดปรัมปราคติในพุทธศาสนา ที่มีความเชื่อว่าเจดีย์จุฬามณีที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นที่ซึ่งองค์อมรินทร์ได้เสด็จไปทรงนมัสการอยู่เป็นนิตย์ สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการสร้างพระสุทธเสลเจดีย์ที่มีการบรรจุพระบรมธาตุสำหรับเป็นที่ทรงสักการบูชาเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมยังพระนครคีรี [9]

ตำแหน่งที่ตั้งของพระสุทธเสลเจดีย์ยังถูกออกแบบให้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกับพระที่นั่งเวชไชยันต์วิเชียรปราสาทอันเป็นพระที่นั่งสำคัญของพระนครคีรีซึ่งมีนามสอดคล้องกับวิมานไพชยนต์ของพระอินทร์ ดังนั้นองค์พระสุทธเสลเจดีย์จึงเปรียบเสมือนพระเจดีย์จุฬามณีที่ปรากฏโดยสมมติขึ้นบนโลกอย่างเป็นรูปธรรม พระนครคีรีที่ตั้งอยู่บนเขามไหสวรรย์อันเป็นนามที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานจึงเปรียบเสมือนวิมานของพระอินทร์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เปรียบเสมือนองค์สมมติเทพแห่งพระอินทร์ที่เสด็จมาทรงนมัสการพระบรมธาตุ ณ พระสุทธเสลเจดีย์ด้วย [10]

พระสุทธเสลเจดีย์ กับการทำน้ำพระพุทธมนต์บนพระนครคีรี

ตามโบราณราชประเพณีนั้นในเขตพระราชฐานอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์จะต้องมีการเจริญพระพุทธมนต์และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่เป็นนิตย์ สถานที่สำคัญในอดีตสำหรับการประกอบพิธีนี้ในพระบรมมหาราชวัง คือ หอเสถียรธรรมปริตร หรือหอศาสตราคม ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์รามัญนิกายเจริญพระพุทธมนต์เพื่อประพรมเขตพระราชฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

ครั้นมีการสร้างพระนครคีรีหรือเขาวังที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราช
ฐานไปประทับแรมนอกพระนคร พิธีการทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่อประพรมเขตพระราชฐานก็ยังคงปฏิบัติสืบมาเช่นเดียวกับขณะที่ประทับในพระบรมมหาราชวัง สถานที่สำคัญ ณ พระนครคีรีที่เกี่ยวข้องกับพิธีนี้ก็คือ พระสุทธเสลเจดีย์

ข้อมูลจากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงเล็งเห็นคุณูปการของพระสุทธเสลเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปูชนียสถานสำหรับสักการบูชาเท่านั้น หากแต่ยังทรงต้องการให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ประจำพระนครคีรีด้วย

ดังปรากฏหลักฐานว่าเมื่อครั้งออกแบบก่อสร้างพระสุทธเสลเจดีย์นั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับฝังตุ่มเคลือบขนาดใหญ่โดยรอบเพื่อรองรับน้ำฝนที่ไหลอาบพระเจดีย์ ภายในตุ่มเหล่านั้นมีผ้ายันต์ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเขียนขึ้นสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ฝุ่นผงเจือปนลงไปในน้ำ จึงมีรับสั่งให้มีที่สำหรับกรองน้ำก่อนที่จะไหลลงตุ่ม พร้อมทั้งทำก๊อกสำหรับไขน้ำมนต์ในตุ่มด้วย ดังกระแสพระราชดำริว่า

“เจดีย์สิลาเพชรภูมิไพโรจน์นั้น ข้างล่าง ข้างใต้ ถ้าจะมีตุ่มเคลือบใหญ่ๆ ฝังไว้รับน้ำที่อาบไหลลงแต่องค์พระเจดีย์ หลั่งลงในท่อมีม่อตรอง[หม้อกรอง? – ผู้เขียน] หรือใบบัวรับกันลอองฝุ่นฝอยกันไว้เปนแต่ให้น้ำใสไหลหลั่งลงในตุ่ม แล้วให้มีกอก [ก๊อก – ผู้เขียน] เปนที่ไขน้ำมนต์ออกได้จะดี จะได้เปนประหลาดๆ ในตุ่มนั้นฉันจะคิดทำยันตรมงคลใส่ไว้ให้เปนน้ำมนต์ ตุ่มนั้นจะหนึ่งฤาสองสามสี่ตามแต่จะคิดมาเถิดจะได้หาตุ่มส่งออกไป” [11]

นับว่าเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการทำน้ำพระพุทธมนต์ที่น่าสนใจไม่น้อย และน่าจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสมัยนั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่พบร่องรอยหลักฐานดังกล่าวที่องค์พระสุทธเสลเจดีย์ภายหลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว

ความสำคัญหลายประการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพระสุทธเสลเจดีย์ ไม่เพียงแต่เป็นเจดีย์ประธาน
ของวัดในเขตพระราชฐานนอกพระนครเท่านั้น หากแต่ยังคงความสำคัญและทำหน้าที่อีกหลายประการ รวมทั้งยังคงตระหง่านงามบนพระนครคีรีเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวเพชรบุรีในปัจจุบันด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หอสมุดแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 “จดหมายถึงกรมหมื่นราชสีหและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เรื่องการก่อสร้าง” หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นดินสอ  จ.ศ. 1222 เลขที่ 113.

[2] หอสมุดแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 “ประกาศเรื่องประกาศเทวดาพระเสละต่อกับพระเจดีย์เขาพนมขวด” หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นดินสอ จ.ศ. 1223 เลขที่ 205.

[3] หอสมุดแห่งชาติ. “ร่างประกาศเทวดาวันสวดมนต์ในการบรรจุพระบรมธาตุ” หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นดินสอ จ.ศ. 1223 เลขที่ 130.

[4] Mudaliya L.C. Wijesinha (translated). THE MAHAVANSA. (New Delhi : Asian Educational Services, 2000), p. 7.

[5] Von Schroeder, Ulrich. Buddhist Sculptures of Sri Lanka. (Hong Kong : Visual Dharma Publications, 1990), p. 629.

[6] J.B. Disanayaka. MAHINTALE Cradle of Sinhala Buddhist Civilization. (Colombo : Lake House Investment Ltd., 1987), p. 42.

[7] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), น. 359.

[8] พระสมณศาสนฉบับที่ 7 ว่าด้วยส่งพระสงฆ์ไทยไปนมัสการเจดียฐานในลังกา ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. สมณศาสนพระเถระธรรมยุติกามีไปยังลังกาทวีป. (พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2468), น. 224. 

[9] หอสมุดแห่งชาติ. “ประกาศคำประกาศเทวดาครั้งบัญจุพระบรมธาตุที่เพชรบุรี” หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นหรดาล จ.ศ. 1223 เลขที่ 132.

[10] เบญจวรรณ ทัศนลีลพร. “การออกแบบพระนครคีรี”. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.), น. 576.

[11] หอสมุดแห่งชาติ. “จดหมายถึงกรมหมื่นราชสีหและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เรื่องการก่อสร้าง” หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นดินสอ จ.ศ. 1222 เลขที่ 113.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 16 มิถุนายน 2560