สื่อนอกกระตุ้นให้คนเรียน “ประวัติศาสตร์” ชี้ ช่วยสอนการ “คิดวิเคราะห์”

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2015 ของนักศึกษาชาวสเปนที่ทำการเรียบเรียงชื้นส่วนโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นเมืองโบราณแห่งปอมเปอี ของอิตาลี ในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของสถาบันด้านการศึกษาและโบราณคดีของอังกฤษ สเปนและอิตาลี (AFP PHOTO / ROBERTA BASILE / AFP PHOTO / ROBERTA BASILE)

Los Angeles Times โดย เจมส์ กรอสส์แมน (James Grossman) ได้เผยแพร่บทความเรียกร้องให้คนหันมาเห็นความสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ หลังนักศึกษารุ่นใหม่หันหลังให้ภาควิชานี้ ไปเรียนสาขาอื่นที่ทำเงินมากกว่า

บทความของกรอสแมนเรื่อง “History isn’t a ‘useless’ major. It teaches critical thinking, something America needs plenty more of” (วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช้ภาควิชาที่ไม่มีประโยชน์ มันช่วยสอนการคิดวิเคราะห์ อันเป็นสิ่งที่สหรัฐฯยังต้องการอีกมาก) กล่าวว่า นับแต่เหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยในปี 2007 ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้ลดส่วนแบ่งในตลาดการศึกษาลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่มีผู้เรียนจบระดับปริญญาตรีราว 2.2 เปอร์เซนต์ เหลือเพียง 1.7 เปอร์เซนต์ จากผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมด (ลดลงราว 23 เปอร์เซนต์)

ไม่เพียงภาควิชาประวัติศาสตร์เท่านั้นที่มีจำนวนนักศึกษาลดลง สถิติประจำปี 2014 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการเผยแพร่สถิติระดับชาติ พบว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาด้านมนุษยศาสตร์ทั้งหมดเพียง 6.1 เปอร์เซนต์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดนับแต่มีการสำรวจระดับชาติในสถิติด้านการศึกษาตั้งแต่ปี 1948

กรอสแมนกล่าวว่า เหตุผลตื้นๆประการหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาเป็นประจำเพื่ออธิบายกระแสที่เป็นอยู่คือ นักศึกษาเลือกวิชาเรียนที่จะช่วยให้หางานที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งนักศึกษาอาจถูกกดดันมาจากผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าเล่าเรียนด้วย

เช่นเดียวกับนักการเมืองใหญ่อย่าง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มองข้ามความสำคัญของภาควิชาศิลปศาสตร์ โดยอ้างว่า ไม่ได้ช่วยวางรากฐานในการเตรียมพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพ หรือ มาร์โก รูบิโอ วุฒิสภาชิกพรรครีพับลิกันที่กล่าวว่า ช่างเชื่อมได้เงินมากยิ่งกว่านักปรัชญา และต่อต้านการอุดหนุนการศึกษาในภาควิชาที่ “ไร้ประโยชน์” เช่นนี้

แต่กรอสแมนแย้งรูบิโอว่า ในระยะหลังผ่านการทำงานตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป ผู้ที่จบการศึกษาด้านปรัชญากลับมีความก้าวหน้าในวิชาชีพยิ่งเสียกว่าผู้ที่จบด้านธุรกิจ และผู้ที่จบด้านประวัติศาสตร์เมื่อถึงระยะกลางของวิชาชีพแล้วก็มีรายได้ในระดับเดียวกับผู้ที่จบด้านธุรกิจ ซึ่งสถิติดังกล่าวยังไม่รวมถึงผู้ที่จบด้านกฎหมาย หรือระดับสูงกว่าปริญญาตรีด้วย

กรอสแมนกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ศึกษาในด้านศิลปศาสตร์ประสบความสำเร็จ คือความสามารถในการปรับตัวเข้ากับโอกาสและสถานการณ์เนื่องจากสภาวะตลาดแรงงานที่ยากจะคาดเดาทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสดีกว่ากลุ่มที่จบมาในสาขาที่มีความเฉพาะทาง

ประกอบกับความสามารถในด้านการคิดวิเคราะห์ และการสื่อสาร ซึ่งนักศึกษาด้านประวัติศาสตร์จะมีความสามารถในด้านนี้อย่างโดดเด่น เนื่องจากต้องควานหาข้อมูลอันเป็นหัวใจจากแหล่งข้อมูลจำนวนมาก นำมาปะติดปะต่อเพื่อให้สนับสนุนข้ออ้างตน ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้เรียนรู้การโน้มน้าวด้วยบรรดาสิ่งที่ช่วยขับดันหรือกระตุ้นพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะในการเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวทางสังคม หรือกระทั่งในห้องประชุมของคณะกรรมการบริหาร

“ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีประวัติศาสตร์ กระบวนการคิดเชิงประวัติศาสตร์คือการตระหนักและทำความเข้าใจถึงทุกปัญหา ทุกเหตุการณ์ และทุกองคาพยพในบริบทนั้นๆ ก่อนการตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ได้รับ ไม่ว่าองค์กร บริษัท รัฐบาล หน่วยงานไม่แสวงหากำไร ต่างก็ไม่อาจขาดนักประวัติศาสตร์ไว้ในองค์กรได้ เราต้องการนักประวัติศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง” กรอสแมนกล่าวสรุป

ที่มา: http://www.latimes.com/opinion/op-ed/la-oe-grossman-history-major-in-decline-20160525-snap-story.html?utm_medium=email&utm_source=flipboard