ฉาก Y ชาย-ชาย ใน “ลักษณวงศ์” มเหสีถึงกับหึงหวง สู่จุดจบสุดดาร์กในวรรณคดีของสุนทรภู่ 

ภาพวาด พระลักษณวงศ์ และ พราหมณ์เกสร หรือ นางทิพเกรส จาก วรรณคดี ลักษณวงศ์
พระลักษณวงศ์ และพราหมณ์เกสร หรือนางทิพเกรส ขณะปรนนิบัติรับใช้ ภาพวาดโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ภาพจาก หนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ)

“ลักษณวงศ์” เป็นนิทานคำกลอน ผลงานกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ สันนิษฐานว่า ประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3

ลักษณวงศ์ เป็นเรื่องราวของ “พระลักษณวงศ์” สามารถแบ่งได้เป็นสองช่วงใหญ่ ๆ ช่วงแรกจะเป็นช่วงที่พระลักษณวงศ์ยังเป็นเด็ก ต้องเผชิญความยากลำบากในการตามหาพระมารดา สุดท้ายลงเอยด้วยดี ส่วนช่วงที่สองเป็นช่วงที่พระลักษณวงศ์โตเป็นผู้ใหญ่ ดำเนินเรื่องเกี่ยวข้องกับนางอันเป็นที่รัก คือ “นางทิพเกสร” แต่สุดท้ายลงเอยโศกนาฏกรรม

Advertisement

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงช่วงที่สอง ระหว่างที่พระลักษณวงศ์กับนางทิพเกสรกำลังเดินทางกลับบ้านเมืองก็มีเหตุให้ต้องพรากจากกัน นางทิพเกสรพลัดหลงอยู่ในป่าก็โศการ้องห่มร้องไห้หาพระสวามี เป็นเหตุให้เทวดาแปลงกายเป็นพราหมณ์มาไถ่ถามและให้ความช่วยเหลือ ที่สุดเทวดาก็มอบแหวนวงหนึ่งให้นางทิพเกสร เมื่อสวมแหวน นางจะแปลงกายเป็นพราหมณ์รูปงาม มีนามว่า “พราหมณ์เกสร” เหตุที่ต้องจำแลงกายเพราะเห็นว่า นางนั้นมีรูปโฉมเป็นสมบัติ หากเดินอยู่กลางดงก็จะตกอยู่ในอันตราย

ฟากพระลักษณวงศ์ออกตามหาพระน้องนางแต่ไม่พบ ระหว่างนั้นไปถึงเมืองอลังกรณ์ก็ได้ “นางยี่สุ่น” พระธิดาของเจ้าเมืองเป็นพระมเหสี ฝ่ายพราหมณ์เกสรก็ร่อนเร่จนไปพบนายพรานผู้หนึ่ง กระทั่งนายพรานได้พาพราหมณ์เกสรมาเข้าเฝ้าพระลักษณวงศ์เพื่อถวายงานรับใช้

รูปลักษณ์ภายนอกของพราหมณ์เกสรนั้น เป็นที่ประจักษ์ว่า มีรูปงามมากจนเหมือนผู้หญิง นายพรานเมื่อแรกพบพราหมณ์เกสรก็นึกสงสัยอยู่เช่นกัน ดังว่า

“เห็นพราหมณ์ด้นมาคนเดียว   คิดเฉลียวหว่าหวาดประหลาดใจ
แฝงพฤกษาเพ่งพิศพินิจนิ่ง   ดูเพริศพริ้งนวลละอองงามผ่องใส
เอี่ยมสะอาดอ้อนแอ้นอ่อนละไม   แลวิไลกิริยาเหมือนนารี
รูปจริตเป็นหญิงทุกสิ่งสม   เว้นแต่นมมิได้เหมือนนารีศรี”

และเมื่อพระลักษณวงศ์ได้พบพราหมณ์เกสรเป็นครั้งแรก ก็ตกตะลึงในความงาม นึกสงสัยและประหลาดใจในตัวพราหมณ์ผู้นี้เช่นกันว่า รูปร่างลักษณะเหมือนนางทิพเกสร ดังว่า

“พระทรงเดชทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์น้อย   ช่างแช่มช้อยชูจิตพิศวง
ตะลึงแลเพ่งพิศพินิจทรง   เหมือนอนงค์งามพริ้งทุกสิ่งอัน
ละม้ายเหมือนเกสรสมรมาศ   คิดประหลาดแต่ที่ไม่มีถัน
เหตุไฉนเข้ามาแล้วจาบัลย์   อัศจรรย์อั้นอึ้งตะลึงไป ฯ”

เมื่อพระลักษณวงศ์เรียกพราหมณ์เกสรมาดูใกล้ ๆ ได้สบตากับก็ยิ่งสงสัย พอทราบว่า พราหมณ์มีชื่อเดียวกับนางอันเป็นที่รัก ก็ยิ่งคิดหนัก ครั้นต่อมา พราหมณ์เกสรได้ถวายงานรับใช้ จนทำให้พระลักษณวงศ์โปรดปรานมาก ทั้งสองสนิทสนมตัวติดกันอยู่แทบตลอดเวลา เมื่อพระลักษณวงศ์เสวยแล้วก็สั่งให้นางกำนัลนำของเสวยไปประทานให้พราหมณ์เกสร เวลาพระลักษณวงศ์สรง (อาบน้ำ) พราหมณ์เกสรก็คอยอยู่รับใช้ เวลาบรรทม ก็คอยพัดอยู่งานให้เสมอ

ถือเป็นฉาก Y ชาย-ชาย อีกฉากหนึ่งในวรรณคดีไทย ดังว่า

“ปางพระองค์ไสยาสน์บนอาสน์แก้ว   ให้ผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
เจ้าพราหมณ์น้อยเคียงแท่นแสนสำราญ   คอยรับรสพจมานโองการเธอ
ปางเสวยพระกระยาวรารส   พราหมณ์ประณตน้อมนอบหมอบเสนอ
ถวายพัชนีวีบำเรอ   ภูธรเธอทัศนาเป็นอาจิณ

ปางเสด็จจรลีเข้าที่สรง   พราหมณ์สีบาทบงสุ์พระทรงศิลป์
บิดภูษาผ้าทรงองค์นรินทร์   พราหมณ์ยุพินเสน่หาพระสามี
ปางพระองค์ทรงแต่งเรื่องอิเหนา   พราหมณ์ก็เข้าเคียงเขียนอักษรศรี
เมื่อท้าวติดพราหมณ์ก็ต่อได้พอดี   ท้าวเธอมีพิศวาสประภาษชม”

พระลักษณวงศ์โปรดปรานพราหมณ์เกสรมาก มากเสียจนหลงลืมนางสนมนางกำนัล หรือแม้แต่นางยี่สุ่น เพียงหนึ่งบุรุษกลับสร้างความระทมอมทุกข์ให้กับนางทั้งหลายเหล่านั้น

“เจ้าพราหมณ์น้อยปราโมทย์ยิ่งโปรดนัก   ยิ่งกว่าองค์นงลักษณ์นักสนม
จนห้ามแหนแสนเคืองทุกคนตรม   อกระทมไปทุกคนด้วยจนใจ ฯ”

……..

“พระปิ่นปักจักรพงศ์ดำรงโลก   กระสันโศกพิศวงให้สงสัย
ดูเจ้าพราหมณ์เหมือนนางค่อยสร่างใจ   ลืมอาลัยห้ามแหนแสนอนงค์
ลืมภิรมย์สมสนิทพิศวาส   พระนุชนาฏยี่สุ่นดรุณหง
ไม่วายพิศวาสพราหมณ์อันงามทรง   ละเลิงหลงมิได้ลืมอาลัยลาน”

พระลักษณวงศ์หลงพราหมณ์เกสรมากถึงกับตรัสว่า

“จึงตรัสว่าเจ้าพราหมณ์นี่งามนัก   เราก็รักเหมือนหนึ่งมิตรพิสมัย
ถ้าแม้นเป็นสตรีจะดีใจ   เราจะให้เป็นจอมกระหม่อมนาง ฯ”

และแล้วความอดทนอดกลั้นของนางยี่สุ่นก็ถึงจุดสิ้นสุด ทนไม่ได้ที่พระสวามีรักใคร่สนิทสนมกับพราหมณ์จนเกิดความหึงหวง ตั้งแต่ได้พราหมณ์มาก็ราโรย นุชนาฏน้อยจิตเจ้าคิดแค้น ในทรวงแสนปั่นป่วนให้หวนโหย ยามบรรทมเพิ่มพูนอาดูรโดย พระพักตร์ผ่องหมองโรยระทมทรวง” เรียกได้ว่า นางยี่สุ่นคับแค้นอยู่ในอก แม้แต่ยามนอนก็โศกเศร้า จนสีหน้าหม่นหมอง

นางยี่สุ่นจึงวางแผนใส่ร้ายพราหมณ์เกสรถึงสองครั้ง แต่ก็ไร้ผลสำเร็จ จนครั้งที่สาม นางแสร้งอุบายว่า มีอะไรติดอยู่ที่ผ้าทรงของนาง แล้วเรียกให้พราหมณ์เกสรหยิบออก พราหมณ์เกสรที่ไม่ทันระวังตัวก็เอื้อมไปหยิบผ้าทรงหมายจะหยิบของที่ติดออกให้ ปรากฏว่า นางยี่สุ่นกลับร้องกรีดกราดขึ้นทันที แล้วปลุกพระลักษณวงศ์ที่บรรทมอยู่จนตื่น จากนั้นก็ฟ้องว่า พราหมณ์เกสรลวนลามนาง

พระลักษณวงศ์ก็หลงเชื่อนางยี่สุ่น สุดท้ายก็สั่งประหารพราหมณ์เกสร

“เพชฌฆาตเห็นนิ่งไม่ติงตน   ละลานลนเดินเรียงเข้าเคียงพราหมณ์
แล้วเงื้อดาบง่าง้างย่างขยับ   ฟันฉาดฉับเศียรกลิ้งกลางสนาม
ชีวิตดับกลับร่างเป็นนางงาม   พระนงรามก็ประสูติกุมารา
พวกคนดูเบียดเสียดกันเยียดยัด   ออกแออัดอลม่านขนานหน้า
เสียงเอะอะอึงโอ้อนิจจา   เจ้าแม่นาลูกพราหมณ์นี่งามจริง
ประหลาดโลกแล้วเห็นจะเป็นเหตุ   ผู้ชายตายกลายเพศเป็นผู้หญิง”

เมื่อประหารพราหมณ์เกสรแล้ว ปรากฏว่า นางกลับคืนร่างผู้หญิงกลายเป็นนางทิพเกสรเช่นเดิม พร้อมกับคลอดบุตรออกมาอีกคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ นางทิพเกสรท้องมาโดยตลอด แต่ด้วยอำนาจของแหวนที่จำแลงกายเป็นชายจึงทำให้ไม่มีใครล่วงรู้

จากนั้นก็เกิดความสับสนวุ่นวาย ทหารรีบไปแจ้งพระลักษณวงศ์

“แต่พอฟันเศียรขาดลงกลาดกลิ้ง   กลับเป็นหญิงพริ้งเพริศดูเฉิดฉาย
แล้วคลอดบุตรงามสุดประเสริฐชาย   วรกายเห็นผิดสกูลพล ฯ”

พระลักษณวงศ์ได้ทราบความจริงก็โศกาอาดูรมาก ในเรื่องก็พรรณาถึงพระลักษณวงศ์ที่ทำใจไม่ได้ ถึงกับต้องเปิดพระโกศดูศพนางอันเป็นที่รัก ฯลฯ จากนั้นก็จัดพิธีศพนางทิพเกสรอย่างยิ่งใหญ่ และเรื่องก็จบลงแต่เพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า เรื่องลักษณวงศ์น่าจะไม่จบลงเพียงเท่านี้ สุนทรภู่อาจจะยังแต่งไม่จบ เรื่องราวยังสามารถเล่าต่อได้ เพราะนางทิพเกสรไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา นางประสูติมาจากดอกบัว น่าจะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอีก และบุตรที่ประสูติมาก็น่าจะดำเนินเรื่องราวต่อไปได้อีกเป็นประมาณ

จบเรื่องราวสสุดดาร์กในวรรณคดีของสุนทรภู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บทนิทานคำกลอนเรื่องลักษณวงศ์ จาก https://vajirayana.org/%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C

นายตำรา ณ เมืองใต้. (2545). อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิชย์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2565